โฆษก กห.ยัน4ปีได้งบ8.9แสนล.โปร่งใส พัฒนา ปท.มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ
โฆษก กห. แจงยิบปมได้งบ 4 ปี รบ.ประยุทธ์ 8.9 แสนล้าน ยันได้งบสอดรับกับภาพใหญ่ เทียบเท่ากระทรวงอื่น คิดเป็น 1.3-1.4% GDP รั้งอันดับ 7 ในอาเซียน เผยเหตุสำคัญต้องทำเพื่อให้เสถียรภาพนิ่ง เศรษฐกิจก้าวกระโดด ประเทศเดินหน้าต่อได้ ป้องกันภัยคุกคามใหม่-อาชญากรรมไซเบอร์-ก่อการร้าย ที่ผ่านมาอาวุธยุทโธปกรณ์เสียหาย-ล้าหลัง ต้องซ่อมบำรุง-จัดซื้อเท่าที่จำเป็น ทุกอย่างโปร่งใส-ตรวจสอบได้
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมในช่วง 4 ปีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 5 ฉบับ (2557-2561) และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 1 ฉบับ (2560) พบว่า ได้รับงบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ 8.9 แสนล้านบาทนั้น (อ่านประกอบ : เช็คงบ กห. 5 ปี รบ.บิ๊กตู่ 8.9 แสนล้าน! ทบ.มากสุด4.5แสนล.-ว่าจ้างเอกชนแล้ว 1.7 แสนสัญญา)
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในแต่ละปีว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจในภาพรวมใหญ่ของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีก่อนว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2561 งบประมาณภาพรวมเพิ่มมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น งบประมาณภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 0.8% แต่เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามา เพิ่มขึ้นประมาณ 5-7% โดยในงบประมาณปี 2562 ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ดังนั้นงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจึงได้รับเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อสอดรับกับงบประมาณประเทศข้างต้น โดยงบที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มขึ้นพอ ๆ กับทุกกระทรวง
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ปัจจุบันงบกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือคิดเป็น 7% ของงบประมาณภาพรวมทั้งหมด ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน งบกระทรวงกลาโหมไทยอยู่อันดับที่ 7 เท่ากับมาเลเซีย หรือใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ โดยมีสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ที่ได้งบไปประมาณ 3.3% ของ GDP
“คำถามสำคัญคือทำไมกระทรวงกลาโหมถึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปี คำตอบคือ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงปี 2547 ที่ผ่านมา งบของกระทรวงกลาโหมได้รับค่อนข้างน้อยมาก เช่น ปี 2547 งบเราติดลบ ปี 2548 เพิ่ม 3% ปี 2549 เป็น 5.7% ปี 2551-2552 ฟื้นขึ้นมาหน่อย ปี 2553 ลดลง 9% ปี 2555 เพิ่มขึ้นแค่ 0.1% พอมาปี 2557 เพิ่มขึ้น 1.8% หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 2-3% สวนทางกับอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพที่เสียหายมาก เพราะไม่มีงบซ่อมบำรุง รวมถึงอาวุธบางอย่างก็ล้าหลัง หรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหา ‘สมองไหล’ โดยเฉพาะในกองทัพอากาศที่พบว่า มีทหารอากาศหลายรายลาออกไปทำงานกับสายการบินต่าง ๆ เป็นต้น” พล.ท.คงชีพ กล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า งบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติม กระทรวงกลาโหม ได้นำไปปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เสียหาย เก่าแก่ หรือล้าหลัง หรือบางอย่างหมดยุคการใช้งานไปแล้ว จึงดำเนินการจัดซื้อใหม่ตามแผนพัฒนากองทัพที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมทุก 10 ปี เพื่อทดแทนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ขาดหายไป สรรหาการซ่อมบำรุง คืนสภาพ และจัดหาใหม่เท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการเพื่อเป็นภารกิจรองรับแผนการปฏิรูปกองทัพ รองรับภัยการคุกคามแบบใหม่ เผชิญหน้ากับเกณฑ์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน อนาคตข้างหน้าหากมีปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจทำให้ต้องใช้กำลังเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนก็เป็นไปได้ ยกตัวอย่าง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้วกับกัมพูชา
“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติ ประเทศเป็นบ้าน เมื่อบ้านเรามีสมบัติมากขึ้น หมายถึงมีงบประมาณภาพรวมมากขึ้น เราต้องทำรั้วก็คือกองทัพให้แข็งแกร่งมากขึ้น เป็นเหตุผลที่สอดรับกับกระทรวงกลาโหมของทุกประเทศ เช่น จากเดิมบ้านเป็นรั้วกระถิน ไม่มีสมบัติอะไร ต่อมามีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น ก็สร้างเป็นรั้วลวดหนาม พอยิ่งมากขึ้น ก็พัฒนาเป็นรั้วคอนกรีต ติดกล้องวงจรปิด จ้างหน่วยรักษาความปลอดภัยมาดูแล เป็นต้น ตรงนี้เป็นธรรมชาติของงบประมาณในเรื่องการดูแลความมั่นคง และความปลอดภัยของผู้อาศัยภายในบ้าน นั่นคือประชาชนในประเทศ จะมาเอาตัวเลขงบประมาณแต่ละปีมาบวกกันแล้วบอกได้งบประมาณเยอะ มันไม่ได้ และที่ผ่านมางบก็ไม่ได้เวอร์ ยังอยู่อันดับ 7 เท่ากับมาเลเซีย” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กองทัพอยู่ระหว่างการปฏิรูป เตรียมลดขนาดกำลังพลลงไป ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น แต่เปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแทน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อป้องกันภัยคุกคามใหม่ รวมถึงภัยคุกคามที่อาจเป็นความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ที่สำคัญกองทัพจัดหามาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
“ทุกวันนี้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมคิดเป็น 1.4% ของ GDP โดยงบก้อนนี้ 48% นำจ่ายเงินเดือน สวัสดิการ หรือระบบสาธารณูปโภคให้กับกำลังพล อีก 22% เป็นภารกิจประจำพื้นฐาน เช่น การป้องกันประเทศ อีก 15% เป็นภาระผูกพันเดิม เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ต้องใช้งบต่อเนื่องกัน และอีก 15% เป็นการเสริมสร้างกำลังพลกองทัพใหม่ เพื่อไว้ทำสิ่งใหม่” พล.ท.คงชีพ กล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า การใช้งบประมาณทั้งหมดในการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเกือบทั้งหมดเป็นวิธีการจัดซื้อแบบ Government to Government (G2G) ดังนั้นจึงเกิดการทุจริตขึ้นได้ยากมาก ส่วนอะไรที่ไม่ใช้ G2G ก็ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมดเหมือนกระทรวงอื่น ๆ ดังนั้นเป็นงบที่โปร่งใส เปิดเผยให้ตรวจสอบได้
“ขอให้ประชาชนให้ความมั่นใจว่า ทุกอย่างที่กองทัพจัดหามา นำมาเพื่อหน้าที่เป็นหลักประกันด้านความมั่นคง เป็นการสร้างรั้วของประเทศให้แข็งแรงพอ ทั้งหมดคือสมบัติของชาติ กำลังพลกองทัพคือประชาชนที่หมุนเวียนกันมาป้องกันประเทศ ยกตัวอย่างผมเอง วันหนึ่งก็ต้องเกษียณออกไป แล้วมีคนหนุ่มเข้ามาทำหน้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่กองทัพจัดหามามันคือสมบัติของชาติ สมบัติของประชาชนทุกคน นอกจากนี้ภารกิจของกองทัพยังสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน ทั้งเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ยุคนี้ต้องเข้าไปดูแล หรือการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอะไรแน่นอน นี่คือภัยคุกคามรูปแบบใหม่” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ถ้าถามว่าผลลัพธ์ในการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพตรงนี้คืออะไร ต้องตอบว่า หากได้งบมาเพื่อนำมาสร้างความมั่นคงให้กับประเทศแล้ว เสถียรภาพของประเทศจะนิ่ง เมื่อนิ่งทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้ ดูเศรษฐกิจทุกวันนี้ที่ก้าวกระโดดเติบโตถึง 4% แต่ที่ผ่านมามันไม่นิ่ง ทำให้ประเทศไปต่อไม่ได้ อยากให้ประชาชนมองผลลัพธ์ตรงนี้มากกว่า หากทุกคนมั่นใจในเสถียรภาพของประเทศ ก็จะเริ่มเห็นอนาคต เห็นความหวังที่จะทำให้ประเทศเดินต่อไปได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ท.คงชีพ จาก ไทยรัฐออนไลน์