- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดปมใหม่! ปริศนา 32 นร.ภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ-ส่อขัดประกาศนโยบาย สพฐ. ปี61?
เปิดปมใหม่! ปริศนา 32 นร.ภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ-ส่อขัดประกาศนโยบาย สพฐ. ปี61?
"...บทบาทในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของ สพฐ. คือ ข้อ 9.8 ระบุว่า ต้องควบคุม ดูแล ไม่ให้โรงเรียนรับนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด และให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนรอบเดียว และข้อ 9.9 ระบุว่า ต้องควบคุมดูแล และประสานไม่ให้โรงเรียน รับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน ในช่วงการรับนักเรียนไม่ว่ารูปแบบใดๆ และบทบาทหน้าหน้าที่ของ คณะกรรรมการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ข้อ 8.3 ระบุว่า ต้องกำหนดมาตรการป้องกัน ป้องปราม ที่จะไม่ให้เกิดเด็กฝากและการรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับนักเรียนเข้าเรียน รวมทั้ง การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษจะต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสาธารณชนได้..."
"ได้ติดตามความคืบหน้าการสอบสวนกรณีนี้มาเป็นระยะๆ ประเด็นสำคัญอยู่ที่จำนวนนักเรียนห้องพิเศษภาษาอังกฤษที่เข้าเรียนจริงมีมากกว่าจำนวนที่ประกาศผลการสอบคัดเลือก โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยวาจาในวันที่ 18 มิ.ย. 2561 นี้ ก่อนจะนำเสนอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบเป็นทางการอีกครั้ง"
คือคำยืนยันล่าสุดของ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อกรณี โรงเรียนโยธินบูรณะ เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ (English Program หรือ EP) ปีการศึกษา 2561 โดยรับสมัครเมื่อวันที่ 24-28 ก.พ. 2561 และได้ประกาศผลการสอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา กำหนดจำนวนนักเรียนไว้ที่ 120 คน เบื้องต้น มีผู้สละสิทธิ์ 6 คน ทำให้เหลือผู้มีสิทธิ์เข้าเรียน 114 คน และเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ได้เริ่มเปิดเรียนเตรียมความพร้อมนักเรียนใหม่ พบว่า มีนักเรียนที่เข้าเรียนตามโครงการดังกล่าวจำนวนมากถึง 146 คน เนื่องจากมีรายชื่อใหม่เพิ่มมาขึ้น 32 คน ทั้งที่ ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อประกาศผลการสอบคัดเลือก 120 คน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารายชื่อนักเรียนจำนวน 32 คน ดังกล่าว เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของสพฐ. ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : ชี้ประเด็นเด็กเข้าเรียนจริงมากกว่าประกาศผล! สพฐ.ชงผลสอบ รมว.ศธ.กรณีโยธินบูรณะฯ18 มิ.ย.นี้)
ไม่ว่าผลสรุปกรณีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร?
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากนายวัลลพ สงวนนาม ผู้อำนวยการ กพร. ที่ได้รับมอบหมายจากสพฐ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก สพฐ. ได้ลงพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะเพื่อบันทึกปากคำผู้เกี่ยวข้องและรับฟังคำชี้แจงจากผู้บริหาร พร้อมกำหนดให้ส่งเอกสารประกอบคำชี้แจงถึง สพฐ. ภายในวันที่ 20-25 มิ.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ แล้ว
"คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการรับนักเรียนของโรงเรียนโยธินบูรณะว่า จำนวนนักเรียนที่มากกว่าประกาศรับสมัครเพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร วิธีการรับเข้ามาทำอย่างไร จึงได้กำหนดให้ทางโรงเรียนฯ ต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำชี้ในประเด็นนี้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปเทียบเคียงกับ ประกาศ สพฐ. ว่าด้วยเรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2561 เพื่อสรุปผลอีกครั้ง"
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูล ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2561 (ดูรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ https://admission.bopp-obec.info/policy-stu2561.pdf )
พบประเด็นสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
ประเด็น ข้อกำหนดการรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ
ข้อ 3.6.3 เรื่อง การรับนักเรียนในโรงเรียนที่จัดการศึกษาด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ
ข้อย่อย 2.4) ระบุว่า หากโรงเรียนที่เปิดห้องเรียนพิเศษอยู่แล้วมีความประสงค์ที่จะเพิ่มห้องเรียนพิเศษ สามารถเปิดรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ ต่อ ห้องปกติ ได้ไม่เกินสัดส่วน 40 : 60 ตามแนวทางการเปิดห้องเรียนพิเศษในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2559
และข้อ 5 ว่าด้วยเรื่อง จำนวนการรับนักเรียนต่อห้อง
ข้อ 5.3.2 ระบุว่า ให้โรงเรียนที่รับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ EP/MEP รับนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาห้องละไม่เกิน 25 คน ระดับประถมศึกษาไม่เกินห้องละ 30 คน และระดับมัธยมศึกษาห้องละไม่เกิน 30 คน
และ5.3.6 ระบุว่า ให้ห้องเรียนพิเศษอื่นๆ รับนักเรียน ห้องละ 36 คน
หากพิจารณาข้อกำหนดข้างต้น ประกอบกับจำนวนนักเรียน ม.1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนโยธินบูรณะ พบข้อสังเกตดังนี้
ห้องเรียนโครงการภาษาอังกฤษ (EP) จำนวน 4 ห้อง รวม 146 คน
ห้องเรียนโครงการพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (SMP) จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 79 คน
ห้องเรียนโครงการภาคปกติ จำนวน 8 ห้องเรียน รวม 310 คน
รวมทั้งหมด 14 ห้อง นักเรียนรวม 535 คน
จำนวนห้องเรียนพิเศษและห้องเรียนปกติ คือ 225 คน และ 310 คน คิดเป็นสัดส่วน 42 : 58 จึงไม่ตรงตามข้อกำหนด ที่ต้องไม่เกิน สัดส่วน 40 : 60
และจะเห็นว่า ห้องเรียน EP นั้น มีนักเรียน 146 จากห้องเรียน 4 ห้อง คิดเฉลี่ยห้องละ 36-37 คน (ไม่มีข้อมูลจำนวนนักเรียนแต่ละห้อง) หมายความว่า ไม่ตรงตามข้อกำหนด ข้อ 5.3.2 ให้โรงเรียนที่รับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ EP/MEP รับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาห้องละไม่เกิน 30 คน
อีกทั้งห้อง SMP ที่มีนักเรียน 79 คน จาก 2 ห้องเรียน คิดเฉลี่ยห้องละ 39-40 คน ทำให้ไม่ตรงตามข้อกำหนด ข้อ 5.3.6 ที่กำหนดให้ห้องเรียนพิเศษอื่นๆ รับนักเรียน ห้องละไม่เกิน 36 คน เช่นกัน
ประเด็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานราชการต้นสังกัด
ส่วนสำคัญในบทบาทในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของ สพฐ. คือ ข้อ 9.8 ระบุว่า ต้องควบคุม ดูแล ไม่ให้โรงเรียนรับนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด และให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนรอบเดียว และข้อ 9.9 ระบุว่า ต้องควบคุมดูแล และประสานไม่ให้โรงเรียน รับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน ในช่วงการรับนักเรียนไม่ว่ารูปแบบใดๆ
และบทบาทหน้าหน้าที่ของ คณะกรรรมการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ข้อ 8.3 ระบุว่า ต้องกำหนดมาตรการป้องกัน ป้องปราม ที่จะไม่ให้เกิดเด็กฝากและการรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับนักเรียนเข้าเรียน รวมทั้ง การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษจะต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสาธารณชนได้
ประเด็น การรับนักเรียนด้วยเงื่อนไขพิเศษ
ข้อ 3.3.5 ข้อย่อย 4) ระบุว่า การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ ในกรณีที่คณะกรรมการการรับนักเรียนของโรงเรียน เห็นว่าโรงเรียนมีความจำเป็นจะต้องรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษเข้าเรียนให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้
(1) นักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย
(2) นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน
(3) นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
(4) นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ
(5) นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย
(6) นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน
(7) นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
จุดสังเกต คือ ข้อกำหนดการรับนักเรียนด้วยเงื่อนไขพิเศษดังกล่าว จะถูกใช้เป็นเหตุผลในการรับนักเรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายชื่อประกาศผลสอบคัดเลือก จาก 120 คน เป็น 146 คน หรือไม่ ผู้บริหารโรงเรียนโยธินบูรณะจะแสดงเอกสารหลักฐานประกอบคำชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ สพฐ. ว่าอย่างไร คงต้องรอ สพฐ. แถลงสรุปผลการตรวจสอบ อีกครั้ง
แต่กระนั้น ทางโรงเรียนโยธินบูรณะได้เปิดการเรียนการสอน ภาคการศึกษา 2561 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เวลาที่ผ่านมากว่า 1 เดือน ทำให้เกิดคำถามถึงการเข้าตรวจสอบของ สพฐ. ว่าช้าไปหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะกำหนดให้ทางโรงเรียนได้มีเวลารวบรวมเอกสารชี้แจงจนถึงวันที่ 25 มิ.ย. 2561 แต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ยังต้องใช้เวลาตรวจสอบและประมวลผลอีก กว่าจะเสนอต่อเลขาธิการ สพฐ. และสรุปผลหาข้อยุติ
คำถามสำคัญคือ อนาคตของนักเรียนปริศนาทั้ง 32 คน จะเป็นอย่างไรหลังจากผลสรุปออกมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องควรต้องหาทางเยียวยาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไว้ด้วย
อ่านประกอบ :
สาวปม 32 นร.ปริศนาโครงการพิเศษภาษาอังกฤษ'โยธินบูรณะ'-พบชื่อใหม่โผล่วิทย์คณิตด้วย 6 คน?
เผย เลขาฯ สพฐ. ทราบเรื่องร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษแล้ว - มอบฝ่ายนโยบายลุยตรวจ
แจ้งผ่าน รปภ.พร้อมจะติดต่อกลับเอง! ผอ.ร.ร.โยธินฯ ยังไม่แจงปม32 ชื่อ นร. ปริศนาโผล่
แกะรอยที่มา 32 รายชื่อ นร.ปริศนาภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ -เด็กอ้างผู้ปกครองควักจ่าย 6 แสน?
ปริศนา! ร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษ 120 คน ถึงเวลารายงานตัวชื่อโผล่พรวด146 คน