แกะรอยที่มา 32 รายชื่อ นร.ปริศนาภาษาอังกฤษโยธินบูรณะ -เด็กอ้างผู้ปกครองควักจ่าย 6 แสน?
"..จากการพูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่งในรายชื่อ 32 คน ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ได้รับแจ้งข้อมูลจากนักเรียนรายหนึ่งว่า ผู้ปกครองต้องเสียเงิน 600,000 บาท เพื่อให้ได้เข้าเรียนโครงการนี้ ส่วนจะเป็นเงินค่าอะไรนั้น ไม่มีใครรู้..."
รายชื่อนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมาจำนวน 32 คน มาจากไหน?
คือ ปมปริศนาสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนออย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก แหล่งข่าวในโรงเรียนโยธินบูรณะ ว่า โรงเรียนโยธินบูรณะ มีการรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2561 โดยรับสมัครเมื่อวันที่ 24-28 ก.พ. 2561 และได้ประกาศผลการสอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา กำหนดจำนวนนักเรียนไว้ที่ 120 คน เบื้องต้น มีผู้สละสิทธิ์ 6 คน ทำให้เหลือผู้มีสิทธิ์เข้าเรียน 114 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนโยธินบูรณะ ได้เริ่มเปิดเรียนเตรียมความพร้อมนักเรียนใหม่ พบว่า มีนักเรียนที่เข้าเรียนตามโครงการดังกล่าวจำนวนมากถึง 146 คน เนื่องจากมีรายชื่อใหม่เพิ่มมาขึ้น 32 คน จากผู้มีสิทธิ์เรียนจำนวนเดิม 114 คน ขณะที่รายชื่อนักเรียนใหม่ทั้ง 32 คนนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อประกาศผลการสอบคัดเลือก 120 คน ด้วย จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารายชื่อนักเรียนจำนวน 32 คน ดังกล่าว เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร (อ่านประกอบ : ปริศนา! ร.ร.โยธินฯ รับนร.พิเศษภาษาอังกฤษ 120 คน ถึงเวลารายงานตัวชื่อโผล่พรวด146 คน)
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นอกเหนือจากการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อนักเรียนบางรายในจำนวน 32 คน จากฐานข้อมูลในโลกออนไลน์ และเฟซบุ๊ก พบว่า นักเรียนมีตัวตนอยู่จริง และอยู่ช่วงเกณฑ์อายุเข้าศึกษาต่อชั้นม.1 ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อนักเรียนที่เข้าเรียน ในห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ หรือ English Program ตามโครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ใช้ชื่อว่า “SUMMER PREPARATORY COURSE 2018 Mathayomsuksa 1" ซึ่งเริ่มเรียนไปเมื่อ 23 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา
พบว่า มีการแบ่งห้องเรียนออกเป็น 6 ห้อง รวมจำนวนนักเรียน 146 คน ดังนี้
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 21 คน
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 25 คน
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 25 คน
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 25 คน
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 25 คน
- Room (ขอปกปิดเลขห้อง) จำนวน 25 คน
สำนักข่าวอิศรา ได้นำรายชื่อนักเรียนจำนวน 114 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน มาเปรียบเทียบกับรายชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนจากการแบ่งห้องเรียนดังกล่าว จำนวน 146 คน พบว่า รายชื่อนักเรียนจำนวน 114 คน ที่ผ่านมาคัดเลือก ตรงกับรายชื่อนักเรียนในจำนวน 146 คน ส่วนที่เหลืออีก 32 คน เป็นรายชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ จากรายชื่อเดิมที่มีการประกาศไว้จำนวน 114 คน
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบรายชื่อการแบ่งย่อยทั้ง 6 ห้องดังกล่าว พบจุดที่น่าสนใจ คือ รายชื่อห้องเรียนห้องหนึ่ง เป็นรายชื่อนักเรียนที่เพิ่มเข้ามา 32 รายชื่อทั้งหมด ซึ่งรายชื่อทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้สอบผ่านการคัดเลือก ตามประกาศผลสอบคัดเลือกห้องเรียน EP ของโรงเรียนโยธินบูรณะ แต่อย่างใด
ส่วนอีก 11 รายชื่อที่เหลือ ไปปรากฏอยู่ที่ห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง รวมกับผู้มีรายชื่อผ่านการสอบคัดเลือก
ขณะที่ แหล่งข่าวในโรงเรียนโยธินบูรณะ รายหนึ่ง ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า “โครงการห้องเรียน EP (ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ หรือ English Program) นี้ เป็นโครงการที่มีชื่อเสียงของโรงเรียน ค่าใช้สูงกว่าห้องเรียนปกติ จ่ายแรกเข้าประมาณ 100,000 บาท แต่ละปีรับ 120 คน มีผู้เข้าสอบแข่งขันประมาณ 400 คน เป็นที่ต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานได้เข้าเรียนโครงการนี้ ส่วนรายชื่อนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ จากช่วงที่มีการประกาศชื่อเป็นทางการจำนวน 32 คน เข้ามาได้อย่างไร ยังไม่มีใครในโรงเรียนยืนยันข้อมูลเรื่องนี้ได้"
แหล่งข่าวในโรงเรียนโยธินบูรณะ รายนี้ ยังยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากการพูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่งในรายชื่อ 32 คน ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ได้รับแจ้งข้อมูลจากนักเรียนรายหนึ่งว่า ผู้ปกครองต้องเสียเงิน 600,000 บาท เพื่อให้ได้เข้าเรียนโครงการนี้ ส่วนจะเป็นเงินค่าอะไรนั้น ไม่มีใครรู้
ล่าสุด ในช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ค. 2561 สำนักข่าวอิศรา พยายามติดต่อ นายอดิศักดิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง ปรากฏว่า เบอร์สำนักงานผู้อำนวยการ 02-118-9570 ไม่สามารถติดต่อได้ และเบอร์ส่วนกลาง 02-020-5791 ไม่มีผู้รับสาย
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แถลงข่าวว่า ป.ป.ช.ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา (แป๊ะเจี๊ยะ) โดยเฉพาะในช่วงรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 สำนักงาน ป.ป.ช.จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนให้ทราบถึงความผิดของ การเรียกรับ ยอมที่จะรับและให้แป๊ะเจี๊ยะ (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ลุยตรวจ'แป๊ะเจี๊ยะ'ปี61 บริจาคเงินให้เด็กเข้าเรียนถือว่าติดสินบนผิดทั้งผู้ให้ผู้รับ)