- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
ความรุนแรงเกิดขึ้นมาตลอดภายใต้รัฐสมัยใหม่ในเมียนมา มีการกล่าวหาว่าโรฮิงญา คือ ‘เบงกาลี’ ข้อกล่าวหาดังกล่าวดูเหมือนจะกลายความเป็นความชอบธรรมมในการก่อความรุนแรง มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ทำให้ดินแดนอาระกันนิ่งสนิทกับอันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมที่อยู่ในกระแสการเคลื่อนย้ายมาโดยตลอด
[ขอบคุณภาพ: Mohammad Ponir Hossain/Reuters]
นับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 2 สัปดาห์เเล้วที่ความรุนแรงระลอกใหม่ต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา ส่งผลให้ตัวเลขผู้อพยพพุ่งสูงกว่า 3 แสนคน ขณะเดียวกันนานาชาติต่างกดดัน นางอองซาน ซูจีในฐานะผู้นำประเทศและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่จนแล้วจนรอดถึงวันนี้ สิ่งที่โลกได้เห็นจากรัฐบาลซูจีมีเพียงความเงียบเฉย (อ่านประกอบ :โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคน รมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้ นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ )
จนถึงขั้นที่ถูกตราหน้าว่า วิกฤติในรอบนี้เป็น ตัวอย่างตำราการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (อ่านประกอบ :ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ )
โรฮิงญาถูกขนานนามว่าเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ที่โดนข่มเหงมากที่สุดในโลก พวกเขาเป็นใครในสังคมเมียนมา
โรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเมียนมา ประเทศซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1.1 ล้านคน แต่หากนับตั้งแต่เหตุความรุนแรงครั้งแรกในปี 1970 จนปัจจุบันชาวโรฮิงญาอพยพหนีตายไปแล้วล้านกว่าคน
[แผนที่แสดงจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาในแต่ประเทศนับตั้งแต่ความรุนแรงในปี 1970/ ขอบคุณภาพ: Al-Jazeera]
ชาวโรฮิงญามีภาษาเป็นของตัวเอง แต่กลับไม่ได้ถูกนับเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา นับตั้งแต่มีการออกกฎหมายเรื่องสัญชาติในปี 1982 ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐโดยทันที
ชาวโรฮิงญาที่อาศัยในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของเมียนมา ยังขาดปัจจัยพื้นฐานอีกมาก ชาวโรฮิงญาไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการ
[ชาวโรฮิงญาอพยพ ด้านหลังคือหมู่บ้านที่กำลังถูกเพลิงไหม้ ภาพจาก:Reuters/Danish Siddiqui]
โรฮิงญามาจากไหน?
มุสลิมอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งต่อมาถูกเรียกรวมว่าเป็น รัฐเมียนมา(ในปัจจุบัน) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12ก่อนจะเป็นรัฐยะไข่ในปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นรู้จักกันในนาม อาระกัน
องค์กรชาติพันธุ์อาระกันโรฮิงญา กล่าวว่า โรฮิงญาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่โบราณ โดยในช่วงระหว่าง 100 กว่าปี ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ 1824-1948 มีการอพยพแรงงานจากอินเดียและบังคลาเทศ เข้ามาในพื้นที่เมียนมาในปัจจุบัน เพราะว่าตอนนั้นอังกฤษยังมองว่า เมียนมาเป็นแค่เพียงหนึ่งในรัฐของอินเดียเท่านั้น (รวมถึงบังคลาเทศที่เพิ่งมาแยกตัวเป็นประเทศทีหลัง)
ดังนั้น แรงงานเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นแรงงานข้ามชาติ อย่างที่รัฐสมัยใหม่เข้าใจกัน
ในรายงานของ ฮิวแมนไรซ์วอชช์ เมื่อปี 2000 ระบุว่า หลังจากการประกาศอิสรภาพในปี 1948 รัฐบาลเมียนมาในตอนนั้นกลับชี้ว่า แรงงานที่ย้ายเข้าในช่วงอาณานิคมอังกฤษถือว่า เป็นพวกผิดกฎหมาย มีความพยายามสร้างทัศนคติด้านลบต่อแรงงานเหล่านี้ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และนั่นก็นำมาสู่การปฏิเสธความมีตัวตนของโรฮิงญาในที่สุด
ในรายงาน ของสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ วิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยเยล ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายสัญชาติออกมา โรฮิงญาไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย แต่ในขณะนั้นกฎหมายเองก็ยังระบุว่า หากครอบครัวไหนที่อยู่ในเมียนมามากกว่า 2 ชั่วอายุคน ก็ให้สามารถมายื่นเพื่อของบัตรประชาชนได้ ในตอนนั้นมีชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่ได้รับการพิจาณาตามมาตราดังกล่าว และหลายคนก็ทำงานให้รัฐสภากลางของเมียนมา
ภายหลังจากปี 1962 เมื่อมีการปฏิวัติขึ้นในเมียนมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยเฉพาะกับชาวโรฮิงญา ประชาชนทุกคนถูกบังคับว่า ต้องมีบัตรแสดงตัวตน อย่างไรก็ตามสำหรับชาวโรฮิงญาพวกเขาได้รับพิจารณาให้ถือแค่บัตรที่ระบุว่า เป็นคนต่างชาติ ทำให้การเข้าถึงการศึกษา อาชีพเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย
[ภาพจาก : Reuters/Danish Siddiqui]
ในปี 1982 เมื่อกฎหมายด้านสัญชาติฉบับใหม่ออกมา ชาวโรฮิงญาก็กลายเป็นคนไร้รัฐในทันที เพราะนอกจากกฎหมายจะไม่รับว่าเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศเเล้ว การพิสูจน์สัญชาติก็มีความยากลำบาก โดยหนึ่งในมาตราที่ระบุว่า หากจะสามารถถือสัญชาติเมียนมาในระดับต้น อย่างน้อยต้องพิสูจน์หลักฐานการมีอยู่ในของครอบครับในช่วงก่อนปี 1948 หรือสามารถพูดภาษาทางการได้
โรฮิงญาจำนวนมากที่ไม่มีเอกสารรับรองในเรื่องนี้ จึงถูกเตะตกขอบความเป็นคนในประเทศเมียนมา
การเป็นคนไร้รัฐของชาวโรฮิงญา ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถที่เข้าถึงการศึกษา อาชีพ หรือแม้กระทั่งการเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมไปถึงการแต่งงาน การปฏิบัติศาสนกิจ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน
ความรุนแรงจึงเริ่มปะทุขึ้น ในปี 1970 มีปฏิบัติการจากกองทัพกับชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ มีผู้อพยพในตอนนั้นราว 100,000 คน ไปยังบังคลาเทศ มาเลเซีย ไทย และประเทศอื่นในอาเซียน ตลอดการปฏิบัติการในพื้นที่มีรายงานผู้หญิงโดนข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมาน และจำนวนมากถูกฆ่าทิ้งโดยกองทัพ และหลังจากนั้นชาวโรฮิงญาก็ไม่เคยพบกับความสงบอีกเลย
[ ขอบคุณภาพ:http://www.ias.chula.ac.th/]
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ระบุว่า ไม่เคยมีประวัติความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธมาก่อน จนกระทั่งความขัดแย้งที่ถูกบ่มเพาะขึ้นจากนโยบายแบ่งแยกและปกครอง (Divide and Rule) ของอังกฤษที่ได้แบ่งพม่าออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพม่าแท้ (People Burma) ให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง(Direct Rule) กับส่วนบริเวณภูเขา(Hill Areas) หรือส่วนชายแดน (Frontier Areas) ใช้การปกครองทางอ้อม (Indirect Rule) อนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกครองตัวเองได้ตามประเพณีภายใต้การให้คำปรึกษาของข้าหลวงอังกฤษ
นโยบายของอังกฤษอย่างนี้ได้ปิดโอกาสการเรียนรู้และการมีวิวัฒนาการทางสังคมร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตพม่าแท้กับเขตชายแดน การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ของอังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางการทหารได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีพัฒนาการทางอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรม และเกิดสำนึกความเป็นชาติที่เข้มข้น ในทำนองเดียวกัน ชาวพม่าก็ได้พัฒนาแนวคิดชาตินิยมที่แยกขาดจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่บ่มเพาะความขัดแย้ง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนพม่าแท้กับกลุ่มชาติพันธ์ตามแนวชายแดนตลอดมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ การเรียกร้องอิสรภาพเพื่อปกครองตัวเองและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่พม่าต้องเผชิญตลอดมา
ดร.ศราวุฒิ อธิบายว่าโรฮิงญาเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ในท้องที่นั้นๆ เคยมีประวัติศาสตร์อยู่ตรงนั้นในพื้นที่ตรงนั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า ชาวโรฮิงญาอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมายาวนาน มีเหรียญที่ใช้ภาษาอาหรับ มีคนจากหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นอาหรับ อินเดีย หรือเปอร์เซียเข้ามาร่วมในพื้นที่อาระกันในขณะนั้น และต่อมาเมื่อมีการตั้งรกราก ความเป็น ‘โรฮิงญา’ จึงพัฒนาขึ้นมาจากการพยายามสร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกอ้างถึงในรายงานต่าง ๆ มีความคลุมเครืออยู่มากว่าชาวมุสลิม-โรฮิงญาเป็นกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชนชาติใด เข้ามาตั้งรกรากในรัฐยะไข่ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนในงานวิชาการหลายชิ้นที่เห็นตรงกันว่า คนกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อาณาจักรยะไข่ในระหว่างศตวรรษที่ 7-16 อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงหลักเกี่ยวกับรากเหง้าของชาวมุสลิม-โรฮิงญาในปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อย 3 แนวทาง คือ
แนวทางแรก เป็นข้อถกเถียงที่ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลพม่าว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชนชาติที่มีรากเหง้าในประวัติศาสตร์โบราณของยะไข่ แต่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากประเทศบังคลาเทศหรือประเทศอินเดียในยุคอาณานิคม ข้อถกเถียงนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ.1974 ที่ได้อธิบายถึงชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนท้องถิ่น (Indigenous Race) ว่ามี 135 กลุ่มที่ตั้งรกรากอยู่ในพม่าก่อน ค.ศ.1823 โดยในจำนวน 135 กลุ่มนี้ ไม่มีชาวโรฮิงญารวมอยู่ด้วย
แนวทางที่สอง ถูกนำเสนอโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโต้ตอบกับชุดการอธิบายตามแนวทางแรกของของรัฐบาลพม่าว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของดินแดนยะไข่ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาอิสลาม ทั้งจากประเทศอินเดีย ทั้งจากนักเดินเรือชาวมุสลิม-อาหรับในช่วงศตวรรษที่ 7 และทั้งจากความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามในยุคราชวงศ์มรัคอู (Mrauk -U) ระหว่างช่วงศตวรรษที่ 14 – 16
แนวทางที่สาม เป็นข้อเขียนเชิงประวัติศาสตร์ของนักวิชาการทั่วไป ที่ไม่มีเป้าหมายโต้ตอบกับข้อถกเถียงของรัฐบาล รวมถึงนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยข้อถกเถียงชุดหลังนี้ไม่ได้มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า ชาวมุสลิม-โรฮิงญามีรากเหง้ามาจากไหนและตั้งรกรากในยะไข่เมื่อใด งานเขียนชุดนี้ได้อภิปรายถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ในภาพกว้างเอาไว้ว่า คนกลุ่มนี้มีรากเหง้าที่เกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่นของยะไข่และได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามในระหว่างศตวรรษที่ 7 – 16
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือชาติพันธุ์โรฮิงญา
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังหารือกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ของเมียนมา ถึงกรณีความรุนแรงระหว่างชาวโรฮีนญากับทางการเมียนมา ที่รัฐยะไข่ว่า ขอให้เรียกชาวโรฮีนญาว่า "เบงกาลี"
ความจงใจเรียกชาวโรฮิงญาว่าเป็น เบงกาลี ของรัฐบาลเมียนมา คือสิ่งที่สะท้อนถึงความพยายามในการลบล้างประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ขณะเดียวกันกลับสะท้อนความไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่ ของรัฐไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ดร.ศราวุฒิ กล่าวไว้น่าสนใจว่า หากรัฐบาลเมียนมาต้องการให้เรียกกลุ่มชาวโรฮิงญาว่า เบงกาลี รัฐบาลก็ต้องยอมรับพวกเขาในฐานะบริบทของรับสมัยใหม่ด้วย เพราะคนเหล่านี้อยู่มาก่อนที่เกิดคำว่ารัฐ เหมือนในปัจจุบัน (อ่านประกอบ :นักวิชาการ ชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญา เป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่ )
ด้าน ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ CRSP มองว่า ปฏิบัติการในเมียนมาที่เกิดขึ้นในวันนี้ สามารถนิยามได้ว่านี่คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ ความรุนแรงเกิดขึ้นมาตลอดภายใต้รัฐสมัยใหม่ในพพม่า มีการกล่าวหาว่าพวกเขาคือ ‘เบงกาลี’ ข้อกล่าวหาดังกล่าวดูเหมือนจะกลายความเป็นความชอบธรรมมในการก่อความรุนแรง มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทำให้ดินแดนตรงนั้นนิ่งสนิทกับอันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมที่อยู่ในกระแสการเคลื่อนย้ายมาโดยตลอด
จินตนาการในรัฐสมัยใหม่ไม่ทำความเข้าใจอดีต ว่าพื้นที่นี้คือชุมทางการเดินทาง ที่เชื่อมการเดินทางเครือข่ายการค้าสำคัญของโลก ดินแดนอาระกันที่เคยเปิดกว้างให้กับวัฒนธรรม สังคม และผู้คน การสร้างภาพให้อาระกันเป็นวัฒนธรรมเดี่ยว ปิดกั้นตัวเองอย่างสิ้นเชิง คือ ต้นเหตุปัญหาในวันนี้
[ ขอบคุณภาพ: Brent Armangue/ AP Photo]
อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ และความแตกต่างจากเชื้อชาติ
ศิววงศ์ อธิบายว่า เชื้อชาติคือกายภาพไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นปัญหาในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง คนไทยจำนวนมาไม่ได้เกิดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่วันนี้คือคนไทย หรือ เราเคยเจอนางงามตะวันตกที่มีเชื้อชาติเอเชีย เป็นต้น
เช่นเดียวกับโรฮิงญาที่อาจมีเชื้อชาติสืบมาจากที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บังคลาเทศ อาหรับ แอฟริกา หรือแม้แต่พม่า แต่คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ เกิดขึ้นจากวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และอื่นๆ ชาติพันธุ์จึงดำรงในจิตสำนึกของคนพร้อมที่จะแสดงออกมา
ชาวโรฮิงญา จึงไม่มีทางเป็นผู้อพยพชาวเบงกาลีได้ เพราะสำนึกเขาไม่ใช่ผู้อพยพคล้ายคนไทยไม่ว่าเราจะไปที่ไหนในโลก ไม่ใช่เพราะว่าคนอื่นบอกว่าเราคือไทย แต่สำนึกของเราต่างหากที่บอกว่าเป็นคนไทย
ฉะนั้นโรฮิงญาก็คือโรฮิงญา ตราบใดที่ยังมีคนยืนยันว่าเขาคือคนโรฮิงญา
วันนี้เราไม่อยากมาพูดว่าใครมาก่อนใคร ใครเป็นคนดั้งเดิม เพราะเป็นคำถามที่ถึงแม้จะมีคำตอบ แต่ก็มีข้อถกเกียงตลอดเวลาที่ผ่านมา
เราจะมองอาระกันที่ทุกคนเป็นคนนอก ที่เดินทางเข้ามาในดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเปิดกว้าง และพยายามปรับตัวให้เข้ากับดินแดนใหม่แห่งนี้ แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะมีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง ทั้งทางวัฒนธรรม และการเมือง แต่หลักฐานหนึ่งคือชาวโรฮิงญามีสถานะทางพลเมืองพร้อมมาก่อนรัฐสมัยใหม่ในเมียนมา พวกเขาต่อสู้เพื่อปกครองตนเอง เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ไทใหญ่
ภายหลังจากทำรัฐประหารของ นายพลเนวิน ที่ตามมาด้วยการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นยะไข่ นำไปสู่กฎหมายสัญชาติ ที่ทำให้มีการสูญเสียทิศทางการเมือง สังคมในพม่า ถ้าพม่าอยากเปลี่ยนกลุ่มชาติพันธ์ุตัวเองได้ขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรฮิงญาก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
ข้อกล่าวหาที่เราเพิ่งได้ยินล่าสุด คือกล่าวหาเรื่อง กลุ่มก่อการร้าย เราคงไม่ปฏิเสธการใช้อาวุธ ที่ผ่านมามีการปะทะกลับกลุ่มสองกลุ่ม นับตั้งแต่เกิดรัฐชาติ มีการปะทะกับมาโดยตลอดในพม่าทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน เป็นต้น
[แผนที่แสดงที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ ในเมียนมา/ขอบคุณภาพ : Al-Jazeera]
ศิววงศ์ กล่าวว่า การจับอาวุธมาสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็เพื่อความจำเป็น เพื่อมีที่ยืนในสังคมการเมืองพม่า กลุ่มลี้ภัยตามชายแดนไทยหลายแสนคนคือหลักฐานสำคัญของการใช้ความรุนแรงในภายในเมียนมา
การกล่าวหาการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็ตามเป็นการทำลายความชอบธรรม และการปฏิเสธการมีตัวตนในทางการเมือง
หากพิจารณาข้อเรียกร้องของขบวนการ สะท้อนให้เห็นการโต้ตอบ การถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไข สังคมการเมือง เขาต้องการอยู่ที่พม่าใน ฐานะบ้านเกิด
"แม้ว่าการใช้อาวุธความรุนแรงเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้อย่างลำบาก แต่อย่างนั้นก็ตามรัฐมีหน้าที่คุมครองพลเมืองในรัฐของตน ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือไม่ก็ตาม การใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองไม่ใช่การปราบปรามก่อการร้าย การกล่าวหาว่าคนที่หนีออกจากประเทศ เป็นผุ้ก่อการร้าย เป็นการเหมารวมที่ไร้ศีลธรรมเกินไป"
ปัญหาการเมืองของสังคมเมียนมาที่ยังอยู่ นอกจากจะหาทางออกได้ยากเเล้ว จะทำให้สถานการณ์ยิ่งน่ากลัว คนหลายแสนคนต้องอพยพออกจากประเทศ ขณะเดียวกันเมื่ออยู่บังคลาเทศก็ไม่มีอนาคต กลับบ้านไม่ได้
ความรุนแรงจะไปจบที่จุดไหน เราในฐานะคนที่เฝ้ามองเหตุการณ์คงไม่อาจจินตนาการไปถึงได้ แต่อย่างน้อยการเข้าใจถึงความเป็นมา ความเป็นตัวตนที่ทุกคนมี น่าจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น อย่างน้อยในฐานะที่พวกเขา(โรฮิงญา) คือเพื่อนมนุษย์ร่วมกันกับเรา และเราคงไม่สามารถเมินเฉยต่อความรุนแรงและการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมแบบนี้ได้ ข้อถกเถียงว่าใครเป็นใคร อาจเถียงกันไม่จบ แต่วิกฤติทางมนุษยธรรมต่างหากที่เราตกยกขึ้นมา เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นใครในสายตาของคุณ ไม่ว่าเขาจะเป็นพลเมืองของรัฐหรือไม่ เราก็ไม่มีสิทธิที่จะเอาปืนไปยิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง
WFP รายงานโรฮิงยากว่าแสนคนเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"
ที่มาข้อมูล
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/08/rohingya-muslims-170831065142812.html