- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คำเบิกความ ‘เกษม’ ปมซื้อหุ้นจาก‘วัฒน์ชัย’ ก่อนคดี 21 ล.- ศาลฎีกาฯ นัด 4 ก.ย.
คำเบิกความ ‘เกษม’ ปมซื้อหุ้นจาก‘วัฒน์ชัย’ ก่อนคดี 21 ล.- ศาลฎีกาฯ นัด 4 ก.ย.
พลิกคำเบิกความ ‘เกษม’ปมซื้อหุ้น บ.แอสคอน จาก‘วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์’เจ้าของกลุ่มสามารถฯ ในคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 168 ล. ล่าสุด ป.ป.ช.ฟันเพิ่มรวยผิดปกติอีก 21 ล. รวม 2 ลอต 83.3 ล้านหุ้น ก่อนคดีใหม่ศาลฎีกาฯนัดพร้อม 4 ก.ย.60
‘เกษม นิมมลรัตน์’ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อ 27 ก.ค.2560 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่ำรวยผิดปกติกว่า 21 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุน ในการซื้อหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ASCON) ที่อยู่ในชื่อของ นางดวงสุดา นิมมลรัตน์ (คู่สมรส) จำนวน 61,838,310 หุ้น มูลค่าขณะได้มาหุ้นละ 0.15 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 9,275,746 บาท
ก่อนหน้านี้นายเกษมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเป็นเท็จและร่ำรวยผิดปกติ (คดีแรก) และต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ให้มีความผิดใน 2 ข้อกล่าวหา ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ พิพากษายึดทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่า 168,453,245.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ร้อง (คดีหมายเลขแดงที่ อม.44/2560) และสั่งจำคุก 12 เดือนไม่รอการลงโทษ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2560
เท่ากับนายเกษมถูก ป.ป.ช.ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ 2 ครั้ง รวมเป็นมูลค่าประมาณ 190 ล้านบาท ในจำนวนทรัพย์สินที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลเป็นหุ้นหรือเงินที่ได้จากการขายหุ้น จำนวน 2 ครั้ง 83,374,080 หุ้น จำนวน 81,420,441 บาท
กรณีหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาฯคดีแรก นายเกษมชี้แจงที่มาดังนี้
เมื่อประมาณปี 2552 ผู้คัดค้านที่ 1 (นางดวงสุดา ภรรยา) มีความสนใจที่จะซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เนื่องจากประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างเช่นเดียวกับครอบครัวของผู้คัดค้านที่ 1 จึงอาจเอื้อประโยชน์กิจการรับเหมาก่อสร้างของครอบครัวได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงตกลงซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นอกตลาดหลักทรัพย์จากนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ซึ่งเคยเป็นนายหน้าค้าที่ดิน จำนวน 21,535,770 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.50 บาท มูลค่ารวม 72,144,694 บาท เพราะเป็นราคาที่ถูกกว่าการซื้อการซื้อในตลาดหลักทรัพย์และทยอยผ่อนชำระค่าหุ้นได้ เมื่อชำระค่าหุ้นครบ 20 ล้านบาท นายวัฒน์ชัย จะโอนหุ้นให้ทั้งหมดเพื่อนำไปขายเมื่อขายได้แล้วจึงนำเงินมาชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือ
ขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงได้กู้ยืมเงินจำนวน 72 ล้านบาท จากผู้คัดค้านที่ 2 (นางบุญทอง สุภารังษี มารดานายเกษม) เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นดังกล่าวตามสัญญากู้ยืมเงินลง วันที่ 25 มิ.ย. 2552 โดยมีนางนิภาพร มั่นศักดิ์ ซึ่งเป็นน้องผู้ถูกกล่าวหา และนางจันทร์จิรา สุวรรณเสน เป็นพยานในสัญญา ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 จะทยอยขอรับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงินสดเป็นคราวๆ ไปและได้ทำบันทึกการรับเงินไว้ แต่ภายหลังโอนหุ้นชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วไม่ได้เก็บหลักฐานไว้
ศาลฎีกาฯเห็นว่า (สรุป)
1.ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 30 ล้าน บาท และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินให้แก่นายวัฒน์ชัย จำนวนประมาณ 20 ล้านบาท ก็ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นเอกสารไว้เช่นกันดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 ของผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งในส่วนของนายวัฒน์ชัยที่รับเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 หรือการจ่ายเงินค่าหุ้นแก่นายวัฒน์ชัยของผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารแต่อย่างใด ถึงปัจจุบันแม้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ แต่การที่นายวัฒน์ชัยไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ได้รับชำระค่าหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) นับสิบล้านบาทก็กลับเป็นพิรุธ คำเบิกความตามทางไต่สวนของพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักน้อย
2.การที่ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการติดต่อจัดซื้อหุ้นจากนายวัฒน์ชัย โดยผู้คัดค้านที่ 2 เพิ่งเปิดบัญชีเพื่อรับโอนหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จากผู้คัดค้านที่ 1 ในภายหลัง ซึ่งในที่สุดหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุน การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ลงทุนในการซื้อขายหุ้นกลับทำการตกลงซื้อขายคราวเดียวกันเป็นจำนวนเงินมาก ก็มิใช่ลักษณะของผู้ลงทุนทั่วไป ที่มักจะทยอยลงทุนเพื่อดูทิศทางของตลาดและการทำกำไรของบริษัทมหาชนที่ตนจะลงทุนซื้อขายหุ้น การเร่งรีบซื้อหุ้นในบริษัทมหาชนที่ปรากฎว่าหลังจากซื้อไม่นานประสบปัญหาขาดทุนถึงขนาดถูกห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และต่อมาถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลับยิ่งทำให้ธุรกรรมการซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) มีพิรุธมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
3. หลังจากผู้คัดค้านที่ 1 ได้หุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) มาแล้ว พฤติการณ์ปรากฎต่อไปว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นที่ตนมีเหลือทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงเกือบเท่าตัวนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดปกติเป็นอย่างมากที่ลูกหนี้จะโอนทรัพย์สินชำระหนี้มากกว่าจำนวนเงินที่อ้างว่าได้รับไปจริงถึงเพียงนั้น
4.กับทั้งการรับโอนหุ้นชำระหนี้แทนเงินสดของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการรับโอนหุ้นภายหลังจากหุ้นของบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุน การรับโอนหุ้นจึงมีความเสี่ยงยิ่งไปกว่าการชำระหนี้ด้วยเงินสดเป็นอย่างมาก
พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ในคดีทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงขาดหลักฐานการเชื่อมโยงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีเงินได้มาโดยสุจริตจำนวน 72 ล้าน บาท อยู่จริง จึงไม่น่าเชื่อว่า มีการกู้ยืมเงิน และ มีการโอนหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เพื่อชำระหนี้ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 มารดาของผู้ถูกกล่าวหา กับผู้คัดค้านที่ 1 คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อในที่สุดจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือครอง และหุ้นบริษัทดังกล่าวบางส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ขายไปแล้ว อันเป็นพฤติการณ์ปกปิดทรัพย์สิน จึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถือครองหุ้นของบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,612,770 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,205,972 บาท แทนผู้คัดค้านที่ 1 และหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือครองซึ่งขายไปแล้วจำนวน 923,000 หุ้น เป็นเงิน 3,014,214.34 บาท เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรารายงานว่า คดีใหม่ 21 ล้าน ศาลฎีกาฯนำสำนวนสู่สารบบเป็นคดีดำที่ อม.123/2560 นัดพร้อมครั้งแรกวันที่ 4 ก.ย. 2560 นี้
ต้องดูแนวทางการต่อสู้ของนายเกษมและผลคดีกันต่อไป
กล่าวสำหรับ บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2549-2554 เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างภาครัฐ อย่างน้อย 5 รายการ รวมวงเงิน 1,590.8 ล้านบาท อาทิ โครงการบ้านธนารักษ์ จังหวัดนนทบุรี โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) วงเงิน 494.9 ล้านบาท เมื่อ 18 พ.ค. 49 โครงการบ้านธนารักษ์ จังหวัดภูเก็ต โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) วงเงิน 135.8 ล้านบาท เมื่อ 7 ก.ค. 49 โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจังหวัดอุทัยธานี วงเงิน 488,535,000 บาท เมื่อ 11 มิ.ย.50 อาคารพักผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภา กรมช่างโยธาทหารเรือ วงเงิน 468 ล้านบาท เมื่อ 11 มี.ค. 54
ข้อมูลการจดทะเบียนพบว่า จดทะเบียนวันที่ 11 ส.ค. 2547 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท (ปัจจุบัน 1,382,178,471 บาท) ที่ตั้งปัจจุบันเลขที่ 17 ซอยรามคำแหง 60/2 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 67 ราย จำแนกผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 กลุ่ม กลุ่มตนุมัธยา ได้แก่ นายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา จำนวน 11,157,600 หุ้น นายสุรพันธ์ ตนุมัธยา 6,107,900 หุ้น (มูลค่าหุ้นละ 1 บาท-ตามหน้าบัญชี) กลุ่มวิไลลักษณ์ เจ้าของกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น ได้แก่ นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ 3,400,000 หุ้น และนายธวัชชัย (นายวัฒน์ชัย) วิไลลักษณ์ 3,400,000 หุ้น กลุ่มวงศ์สวัสดิ์ ได้แก่ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ (บุตรสาวนายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) จำนวน 6,800,000 หุ้น น.ส.ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ (บุตรสาวนายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) จำนวน 3,000,000 หุ้น และคนใกล้ชิดครอบครัววงศ์สวัสดิ์ซึ่งเป็นลูกจ้าง พนักงานในบริษัท เอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แก่ นายนพพร ใจจุมปา 950,000 หุ้น น.ส.อัญชลี ทรัพย์นุ่ม 187,500 หุ้น น.ส.สุวรรณา มณีสวัสดิ์ 173,800 หุ้น น.ส.ขวัญดาว เข็มแดง 172,300 หุ้น น.ส.วิรัญ เขื่อนเพชร 174,500 หุ้น เป็นต้น
ไม่ปรากฏชื่อ นายเกษม นางดวงสุดา ภรรยา และ นางบุญทอง สุภารังษี (มารดาของนายเกษม) ถือหุ้นในช่วงแรก
ต่อมาช่วงปี 2549 เพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 303 ราย กลุ่มนายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ และไม่ปรากฏชื่อคนวงศ์สวัสดิ์ แต่มีคนใกล้ชิด อาทิ นายนพพร ใจจุมปา 2,850,000 หุ้น น.ส.อัญชลี ทรัพย์นุ่ม 562,500 หุ้น น.ส.สุวรรณา มณีสวัสดิ์ 521,400 หุ้น น.ส.ขวัญดาว เข็มแดง 172,300 หุ้น น.ส.วิรัญ เขื่อนเพชร 523,500 หุ้น เป็นต้น ไม่มีชื่อนายเกษมอีกเช่นกัน
กระทั่งเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงปี 2552 ตามคำกล่าวอ้างข้างต้น
ทั้งหมด คือความร่ำรวยของนายเกษม กรณี หุ้น บริษัท แอสคอน ฯ นับเป็นนักการเมืองรายเดียวในขณะนี้ที่ถูกชี้มูลรวยผิดปกติ 2 รอบ ฟัน 2 ดาบ
อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ฟันซ้ำ!‘เกษม’รวยผิดปกติ 21 ล.ที่ดิน 2 แปลง-หุ้น ส่งศาลฎีกาฯยึดทรัพย์
ศาลฎีกาฯเปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดียึดทรัพย์‘เกษม’168 ล. -ชื่อ 3 บิ๊กธุรกิจโผล่
อุปโลกน์หนี้ 72 ล.! คำพิพากษาชำแหละ ‘เกษม’แจ้งบัญชีเท็จ-รวยผิดปกติ 168 ล.
คุกจริง 1 ปี! 'เกษม' จงใจแจ้งบัญชีเท็จ-ยึดทรัพย์รวยผิดปกติ 168 ล.
ชี้ชะตากรรม นักการเมืองรายที่ 5 ถูกยึดทรัพย์ รวยผิดปกติ 186 ล.?
เปิดชัด ๆ บ.แอสคอนฯ ก่อน‘เกษม’รวยผิดปกติ 186.6 ล. กลุ่ม‘วงศ์สวัสดิ์’ หุ้นใหญ่
คดียึดทรัพย์ 168 ล.'เกษม' หุ้นเอ็มลิงค์’หญิงชื่อ‘วิรัญ’โผล่-อธิบายไม่ได้
คดียึดทรัพย์ ‘เกษม’ 168 ล. : น้องสาว‘ภูมิธรรม’ แนะนำซื้อหุ้น วินโคสต์
เปิดฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล.‘เกษม’- หุ้น‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. ไม่เคลียร์