- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล.‘เกษม’- หุ้น‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. ไม่เคลียร์
เปิดฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล.‘เกษม’- หุ้น‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. ไม่เคลียร์
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล. ‘เกษม นิมมลรัตน์’ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ รวยผิดปกติ ไม่เคลียร์ ปมที่มาของเงินซื้อ หุ้น บมจ.แอสคอนฯ –วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ บิ๊กกลุ่มสามารถฯ 72 ล้าน ทยอยจ่ายงวดแรก 27 ล. (ตอน 1)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 สำนักงานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มคดีนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ พิพากษายึดทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่า 168,453,245.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ร้อง (คดีหมายเลขแดงที่ อม.44/2560)
คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เป็นผู้ชี้มูลว่านายเกษม มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 7 รายการ มูลค่า 186,620,637.76 บาท ส่งสำนวนให้ อัยการสูงสุด เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาฯ นายเกษม ผู้ถูกกล่าวหา นางดวงสุดา ภรรยานายเกษม ผู้คัดค้านที่ 1 และ นางบุญทอง สุภารังษี มารดานายเกษม ผู้คัดค้านที่ 2
หุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในชื่อนางบุญทอง ผู้คัคค้านที่ 2 จำนวน 20,612,770 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,205,972 บาท และหุ้นบริษัทดังกล่าวที่อยู่ในชื่อของนางดวงสุดา ที่ขายไปแล้ว จำนวน 923,000 หุ้น มูลค่า 3,015,214.34 หุ้น เป็นทรัพย์สิน 1 ใน 7 รายการที่ศาลฎีกาฯพิพากษายึดตกเป็นของแผ่นดิน
อ่านประกอบ: (ศาลฎีกาฯเปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดียึดทรัพย์‘เกษม’168 ล. -ชื่อ 3 บิ๊กธุรกิจโผล่)
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงมาเสนอ
@ อ้างเก็บเงินสด 100 ล้าน
หุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 20,612,770 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,204,972 บาท และหุ้นบริษัทดังกล่าวที่อยู่ในชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ขายไปแล้วจำนวน 923,000 หุ้น เป็นเงิน 3,014,214.34 บาท ที่ผู้ร้อง (อัยการสูงสุด) ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่
ผู้ถูกกล่าวหานำสืบว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 กู้ยืมเงินมาจากผู้คัดค้านคนที่ 2 จำนวน 72,000,000 บาท เงินที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำมาให้ผู้คัดค้านคนที่ 1 กู้ยืมนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ชี้แจงในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับเบิกความในชั้นศาลว่า ได้จากการประกอบกิจการโรงน้ำแข็งและโรงสีข้าวซึ่งเก็บไว้เป็นเงินสดที่บ้านรวมประมาณ 100 ล้านบาท แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบว่ารายได้จากกิจการโรงสีข้าวและกิจการโรงน้ำแข็งมีจำนวนแน่นอนเท่าใดเพราะนายโจฮง แซ่นิ้ม สามีของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำเนินการ และผู้คัดค้านที่ 2 มีรายได้จากกิจการดังกล่าวเดือนละประมาณ 70,000 บาท ถึง 80,000 บาท ปี 2512 เลิกกิจการโรงสีข้าว ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเงินส่วนแบ่งมาประมาณ 10 ล้าน บาท ต่อมาปี 2532 ขายกิจการโรงน้ำแข็งไป ได้เงินส่วนแบ่งประมาณ 60- 80 ล้าน บาท หลังจากนั้นนายโจฮงจึงนำเงินไปลงทุนการค้าทองคำและจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่ปิง ดีเวลลอปเมนท์ เพื่อดำเนินกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ร่วมบริหารด้วย หลังจากนายโจฮงถึงแก่ความตาย เพื่อนของนายโจฮงได้นำเงินสดจำนวน 20 ล้านบาท มาให้ผู้คัดค้านที่ 2 แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบชื่อและไม่มีหลักฐานการรับเงินส่วนแบ่งจากการค้าทองคำ
@ทำสัญญากู้ยืมเท็จ 72 ล้าน
เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 (นางบุญทอง) มีรายได้จากกิจการโรงสีข้าวและกิจการโรงน้ำแข็งเดือนประมาณ 70,000 บาท ถึง 80,000 บาท มีการประกอบกิจการโรงน้ำแข็งมาประมาณ 25 ปี เมื่อคำนึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการส่งเสียเลี้ยงดูบุตร ดังนั้นเงินจำนวนนี้ย่อมจะลดลงอย่างมากและไม่น่าเชื่อว่าเงินจากการประกอบกิจการโรงสีข้าวและกิจการโรงน้ำแข็งตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความจะมีอยู่ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2552 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านที่ 1 (นางดวงสุดา) ทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 และภายหลังจากที่มีการขายกิจการโรงน้ำแข็ง แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเบิกความว่าได้เงินส่วนแบ่งมาประมาณ 60- 80 ล้าน บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบรายได้ต่อเดือนที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าได้มาจากการประกอบกิจการโรงน้ำแข็ง ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการให้ส่วนแบ่งเป็นเงินจำนวนมากถึง 60- 80 ล้าน บาท
และนอกคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 แล้วก็ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าจะมีการได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวนนี้จริง เมื่อมีการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งเมื่อปี 2534 ราคารวมประมาณ 46 ล้าน บาท โดยผู้ซื้อกิจการโรงน้ำแข็งนำที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งไปใช้เป็นหลักทรัพย์จำนองต่อสถาบันการเงินจำนวน 815 ล้าน บาท ก็ไม่ปรากฏ ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ 2 หรือนายโจฮง มีส่วนได้รับเงินจากการขายที่ดินด้วย
@ ค้าทองคำ-ไม่มีหลักฐาน
สำหรับการลงทุนค้าทองคำของนายโจฮงก็ ไม่ปรากฎแหล่งเงินได้ที่น่าเชื่อถือในการลงทุนค้าทองคำ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเบิกความว่ามีรายได้จากการค้าทองคำปีละ 1- 2 ล้านบาท ก็ตาม แต่ไม่มีหลักฐานเป็นเอกสารที่แสดงถึงรายได้จำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งภายหลังจากที่นายโจฮงถึงแก่ความตายแล้ว มีบุคคลที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่านำเงินลงทุนการค้าทองคำมาคืน 20 ล้านบาท แต่ผู้คัดค้านที่ 2 กลับไม่ทราบชื่อบุคคลที่นำเงินมาให้ ไม่มีหลักฐานการรับจ่ายเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผลของวิญญูชนที่จะรับเงินจากบุคคลที่ไม่รู้จักถึงขนาดไม่ทราบชื่อและนามสกุลเป็นจำนวนเงินมากถึง 20 ล้านบาท
@สเตทเมนท์ ไม่เคลื่อนไหว-ไม่มีข้อมูลเสียภาษี
นอกจากนี้มีการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ 2 รวม 4 บัญชี ก็พบว่า ช่วงปี 2552 ถึงปี 2553 บัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ 2 รวม 3 บัญชี ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี ส่วนบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวมีเพียง 1 บัญชี ซึ่งมีเงินฝากในบัญชีเพียงจำนวน 21,533.87 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินไม่มาก และในชั้นพิจารณาผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบว่ารายได้จากกิจการโรงสีข้าวและกิจการโรงน้ำแข็ง จะนำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของนายโจฮง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบจากการค้นข้อมูลทางภาษีอากร ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ของผู้คัดค้านที่ 2 อันเนื่องมาจากการมีรายรับถึงจำนวนที่จะมีเงินมาให้กู้ยืมได้ 72 ล้านบาท
ประกอบกับพิจารณางบการเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่ปิง ดีเวลลอปเมนท์ ที่ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ปรากฏว่า ผลประกอบกิจการปี 2551 ถึงปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่ปิง ดีเวลลอปเมนท์ มีผลขาดทุนสะสมมาโดยตลอด การที่ผู้คัดค้านที่ 2 แสดงออกว่ามีการประกอบธุรกิจ แต่พฤติการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจเก็บเงินสดจำนวนประมาณ 100 ล้าน บาท ไว้ที่บ้านเป็นการผิดวิสัยและเป็นพิรุธ เพราะนอกจากไม่มีความปลอดภัยจากการเก็บเงินในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังขาดประโยชน์จากการได้ดอกเบี้ยอีกด้วย
@รายได้จากโรงสีข้าว-โรงน้ำแข็ง แค่ข้ออ้างลอยๆ
ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่า ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการเลิกประกอบกิจการโรงสีข้าว การขายกิจการโรงน้ำแข็ง และได้รับเงินส่วนแบ่งจากการเลิกการค้าทองคำ จึงล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆโดยไม่มีร่องรอยเอกสารทางการเงินหรือหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือมาแสดงให้ปรากฎ จึงเป็นที่น่าสงสัยและไม่น่าเชื่อถือว่าผู้คัดค้านที่ 2 จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากการเลิกกิจการโรงน้ำแข็งและเลิกการค้าทองคำรวมเป็นเงินมากถึงประมาณ 100 ล้านบาท จริง
นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ยังยอมรับว่าได้รับเงินจากการกู้ยืมเงินตามสัญญาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน กล่าวคือได้รับเงินไปประมาณ 30 ล้าน บาทเศษ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นพิรุธอีกเช่นกันเพราะการทำสัญญากู้ยืมมากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของลูกหนี้ที่จะต้องรับภาระผูกพันเกินไปกว่าประโยชน์ที่ตนได้รับตามความเป็นจริง ทั้งการที่อ้างว่ากู้ยืมเงินมาเพื่อจะดำเนินการซื้อหุ้นก็ปรากฎว่ามีการซื้อขายหุ้นกันหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำสัญญากู้ยืมเงินล่วงหน้าเป็นเวลานานถึงเพียงนั้น
ส่วนนางสาวจันทร์จิรา สุวรรณเสน พยานผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินปรากฏว่า ได้ให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียงว่า เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานให้สัญญากู้ยืมเงิน และผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินใส่ซองขนาด เอ 4 มาส่งมอบให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ให้การว่ามีการพบเห็นเงินสดที่เก็บไว้ที่บ้านจำนวน 72 ล้าน บาท ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 กล่าวอ้างแต่อย่างใด
@เอกสารมัด ไม่มีรายได้จากขายที่ดิน
นอกจากนี้จากการตรวจสอบของนางสาวเสาวลักษณ์ ฉัตรดวงเด่น เจ้าพนักงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น แม้จะปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีที่ดินแปลงอื่นอีกจำนวน 5 แปลง โดยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 73437 ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีราคาประเมินประมาณ 65 ล้าน บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์สินที่ดิน แต่ไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือไม่ได้มีการนำออกให้เช่าจึงไม่อาจคิดไปได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 จะมีรายได้ไม่ว่าจะเป็นจากการขายที่ดินหรือจากการให้เช่าที่ดินแปลงนี้แล้วนำรายได้ดังกล่าวนี้มารวมเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของเงินที่ให้กู้ยืมจำนวน 72 ล้าน บาท
@ ปมซื้อหุ้น‘แอสคอน’จาก‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. จ่ายงวดแรก 27 ล.‘ไม่เคลียร์’
สำหรับการครอบครองหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 (นางบุญทอง) นั้น
เห็นว่าทางไต่สวนได้ความว่าเมื่อประมาณปี 2552 ผู้คัดค้านที่ 1 (นางดวงสุดา) มีความสนใจที่จะซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เนื่องจากประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างเช่นเดียวกับครอบครัวของผู้คัดค้านที่ 1 จึงอาจเอื้อประโยชน์กิจการรับเหมาก่อสร้างของครอบครัวได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จึงตกลงซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นอกตลาดหลักทรัพย์จากนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ซึ่งเคยเป็นนายหน้าค้าที่ดิน จำนวน 21,535,770 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.50 บาท มูลค่ารวม 72,144,694 บาท เพราะเป็นราคาที่ถูกกว่าการซื้อการซื้อในตลาดหลักทรัพย์และทยอยผ่อนชำระค่าหุ้นได้ เมื่อชำระค่าหุ้นครบ 20 ล้านบาท นายวัฒน์ชัย จะโอนหุ้นให้ทั้งหมดเพื่อนำไปขายเมื่อขายได้แล้วจึงนำเงินมาชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือ
ขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงได้กู้ยืมเงินจำนวน 72 ล้านบาท จากผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นดังกล่าวตามสัญญากู้ยืมเงินลง วันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีนางนิภาพร มั่นศักดิ์ ซึ่งเป็นน้องผู้ถูกกล่าวหา และนางจันทร์จิรา สุวรรณเสน เป็นพยานในสัญญา ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 จะทยอยขอรับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงินสดเป็นคราวๆ ไปและได้ทำบันทึกการรับเงินไว้ แต่ภายหลังโอนหุ้นชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 30 ล้าน บาท และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินให้แก่นายวัฒน์ชัย จำนวนประมาณ 20 ล้านบาท ก็ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นเอกสารไว้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินจากผู้คัดค้านที่ 2 ของผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งในส่วนของนายวัฒน์ชัยที่รับเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 หรือการจ่ายเงินค่าหุ้นแก่นายวัฒน์ชัยของผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารแต่อย่างใด ถึงปัจจุบันแม้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ แต่การที่นายวัฒน์ชัยไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ได้รับชำระค่าหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) นับสิบล้านบาทก็กลับเป็นพิรุธ คำเบิกความตามทางไต่สวนของพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักน้อย
@เมียจัดการแทนแม่ – ผิดวิสัยซื้อบิ๊กลอต
ประกอบกับการที่ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการติดต่อจัดซื้อหุ้นจากนายวัฒน์ชัย โดยผู้คัดค้านที่ 2 เพิ่งเปิดบัญชีเพื่อรับโอนหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จากผู้คัดค้านที่ 1 ในภายหลัง ซึ่งในที่สุดหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุน
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ลงทุนในการซื้อขายหุ้นกลับทำการตกลงซื้อขายคราวเดียวกันเป็นจำนวนเงินมาก ก็มิใช่ลักษณะของผู้ลงทุนทั่วไป ที่มักจะทยอยลงทุนเพื่อดูทิศทางของตลาดและการทำกำไรของบริษัทมหาชนที่ตนจะลงทุนซื้อขายหุ้น การเร่งรีบซื้อหุ้นในบริษัทมหาชนที่ปรากฎว่าหลังจากซื้อไม่นานประสบปัญหาขาดทุนถึงขนาดถูกห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และต่อมาถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลับยิ่งทำให้ธุรกรรมการซื้อหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) มีพิรุธมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
หลังจากผู้คัดค้านที่ 1 ได้หุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) มาแล้ว พฤติการณ์ปรากฎต่อไปว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นที่ตนมีเหลือทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงเกือบเท่าตัวนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดปกติเป็นอย่างมากที่ลูกหนี้จะโอนทรัพย์สินชำระหนี้มากกว่าจำนวนเงินที่อ้างว่าได้รับไปจริงถึงเพียงนั้น
@โอนหุ้นใช้หนี้ แทนเงินสด ไม่สมเหตุสมผล
กับทั้งการรับโอนหุ้นชำระหนี้แทนเงินสดของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการรับโอนหุ้นภายหลังจากหุ้นของบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุน การรับโอนหุ้นจึงมีความเสี่ยงยิ่งไปกว่าการชำระหนี้ด้วยเงินสดเป็นอย่างมาก
พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ในคดีทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงขาดหลักฐานการเชื่อมโยงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีเงินได้มาโดยสุจริตจำนวน 72 ล้าน บาท อยู่จริง จึงไม่น่าเชื่อว่า มีการกู้ยืมเงิน และ มีการโอนหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เพื่อชำระหนี้ระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 มารดาของผู้ถูกกล่าวหา กับผู้คัดค้านที่ 1 คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อในที่สุดจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือครอง และหุ้นบริษัทดังกล่าวบางส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ขายไปแล้ว อันเป็นพฤติการณ์ปกปิดทรัพย์สิน จึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถือครองหุ้นของบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,612,770 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,205,972 บาท แทนผู้คัดค้านที่ 1 และหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือครองซึ่งขายไปแล้วจำนวน 923,000 หุ้น เป็นเงิน 3,014,214.34 บาท เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (ติดตามตอนหน้า)
หมายเหตุ : ภาพ นายเกษม นิมมลรัตน์ จาก th.wikipedia.org , ภาพ นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ จาก www.hooninside.com