- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- คดียึดทรัพย์ ‘เกษม’ 168 ล. : น้องสาว‘ภูมิธรรม’ แนะนำซื้อหุ้น วินโคสต์
คดียึดทรัพย์ ‘เกษม’ 168 ล. : น้องสาว‘ภูมิธรรม’ แนะนำซื้อหุ้น วินโคสต์
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล. ‘เกษม นิมมลรัตน์’ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ ที่มาของหุ้นวินโคสต์ 16.9 ล. อ้าง‘สุนิสา ปฐมพฤกษ์’ แนะนำซื้อ 2 ลอตจาก ‘วิสาล นีรนาทโกมล-สุรสิทธิ์ ติยวัชระพงษ์’ แต่ไร้หลักฐานยัน (ตอน 2)
คดีนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ แยกออกเป็น 2 คดี
1.คดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาฯ ว่านายเกษมยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา ห้ามนายเกษมดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดใดเป็นเวลา 5 ปี และจำคุก กระทง ละ 2 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน ไม่รอการลงโทษ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อม.43/2559
2.คดีร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ อัยการสูงสุด เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาฯ ยึดทรัพย์สิน นายเกษม มูลค่า 186,620,637.76 บาท และศาลฎีกาฯพิพากษายึดทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่า 168,453,245.70 บาท เนื่องจากบางรายการซ้ำซ้อนกัน ตามคำร้องของอัยการสูงสุด (คดีหมายเลขแดงที่ อม.44/2560)
คดีร่ำรวยผิดปกติ กรณีของหุ้นบริษัทแอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในชื่อนางบุญทอง สุภารังษี ผู้คัคค้านที่ 2 (มารดานายเกษม) จำนวน 20,612,770 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 3.60 บาท มูลค่า 74,205,972 บาท และอยู่ในชื่อของนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ ผู้คัดค้านที่ 1 (ภรรยานายเกษม) ที่ขายไปแล้ว จำนวน 923,000 หุ้น มูลค่า 3,015,214.34 หุ้น เป็น 1 ใน 7 รายการที่ศาลฎีกาฯพิพากษายึดตกเป็นของแผ่นดิน
ในการต่อสู้คดี นายเกษมอ้างว่าที่มาของทรัพย์ดังกล่าวมาจากเงินกู้ยืมจาก นางบุญทอง มารดา จำนวน 72 ล้านบาท โดยมารดาก็มีเงินสดเก็บไว้ในบ้านประมาณ 100 ล้านบาท และเงินสดดังกล่าวมาจากรายธุรกิจโรงสีข้าวและโรรงานน้ำแข็ง และบุคคลอื่นมอบให้ตอนเลิกธุรกิจ แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน
อ่านประกอบ : ( เปิดฉบับเต็ม! คดียึดทรัพย์ 168 ล.‘เกษม’- หุ้น‘วัฒน์ชัย’ 72 ล. ไม่เคลียร์)
คราวนี้มาดูรายการทรัพย์สินก้อนที่สอง กรณีเงินได้จากการขายหุ้นบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) จำนวน 16,585,537.40 บาท และหุ้นบริษัทดังกล่าวที่เหลือจากการขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,000,168 หุ้น มูลค่า 390,065.52 บาท ของผู้คัดค้านที่ 1 (ภรรยานายเกษม)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมาเสนอ
@ อ้าง ‘สุนิสา ปฐมพฤกษ์’ คนติดต่อ ซื้อหุ้นวินโคสต์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามี เงินได้สุทธิจากการขายหุ้นบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 16,585,537.40 บาท และหุ้นบริษัทดังกล่าวที่เหลือจากการขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1,000,168 หุ้น มูลค่า 390,065.52 บาท ของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่
ผู้ถูกกล่าวหานำพยานเข้าไต่สวนว่า เมื่อปี 2551 ผู้คัดค้านที่ 1 รู้จักและสนิทสนมกับนางสุนิสา ปฐมพฤกษ์ ซึ่งรู้จักกับคนในตลาดหุ้นได้แนะนำให้ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อ หุ้นบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด(มหาชน) ต่อมาปี 2552 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเริ่มสนใจหุ้นบริษัทดังกล่าว จึงรวบรวมเงินโดยถอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสันกำแพง หมายเลขบัญชี 5192050014 จำนวน 1.5 ล้าน บาท เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2552 อีกส่วนหนึ่งนำมาจากเงินสดนอกบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ปิง ดีเวลอปเม้นท์ จำนวน 2 ล้าน บาท ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ดูแล และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ถูกกล่าวหา
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) นอกตลาดหลักทรัพย์ จากนายวิสาล นีรนาทโกมล จำนวนประมาณ 32 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 20 สตางค์ โดยมีเงื่อนไขพิเศษคือ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระเงินงวดแรกประมาณ 3 ล้านบาท แล้วสามารถรับหุ้นทั้งหมดแล้วนำไปขายต่อได้ทันที
@ลอตสองซื้อจาก เจ้าของ บ.ขายจักรยานดัง
จากนั้นวันที่ 25 ม.ค. 2552 ถึงวันที่ 8 ก.พ. 2554 นำหุ้นดังกล่าวเข้าฝากขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เงินประมาณ 9,170,816.15 บาท จากนั้นนางสุนิสาได้นำหุ้นบริษัทดังกล่าวของ นายสุรสิทธิ์ ติยวัชระพงษ์ (เจ้าของ บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด) มาเสนอขายอีก โดยมีเงื่อนไขเป็นอย่างเดียวกับที่ได้ซื้อหุ้นของบริษัทนี้ครั้งแรก วันที่ 27 ก.พ. 2554 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงนำเงินกำไรที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทวินโคสท์อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ร่วมกับเงินลงทุนครั้งแรก 3 ล้านบาท เงินสดหมุนเวียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ปิง ดีเวลอปเม้นท์ และเงินหมุนเวียนของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ถูกกล่าวหานำไปชำระเงินค่าหุ้นจำนวนดังกล่าว จากนั้นนำหุ้นเข้าฝากขายในตลาดหลักทรัพย์โดยได้ทยอยขายตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2554 ถึงวันที่ 8 ก.ค. 2554 โดยเงินที่ขายหุ้นได้บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด จะนำเข้าฝากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลแอร์พอร์ต และผู้คัดค้านที่ 1 เบิกถอนเงินจากการขายหุ้นดังกล่าวไปถึงวันที่ 19 ส.ค. 2554 คงเหลือเงินในบัญชีจำนวนประมาณ 49,000 บาท
เงินจากการขายหุ้น ผู้คัดค้านที่ 1 นำไปลงทุนซื้อหุ้นตัวอื่นๆ หลายตัว บางส่วนนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และไม่สามารถแยกแยะรายการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนได้ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้จัดทำรายการบัญชีค่าใช้จ่ายไว้ ทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมานาน จึงจำรายละเอียดไม่ได้
@ศาลเห็นพิรุธข้ออ้างถอนเงินล่วงหน้า 3 เดือน
เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า การซื้อหุ้นบริษัท วินโคลท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกได้นำเงินที่ถอนจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสันกำแพง หมายเลขบัญชี 5192050014 จำนวน 1.5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2552 โดยไม่แสดงถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าวว่ามี ธุรกรรมใดเป็นเหตุให้เกิดเงินได้
และจากคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อหุ้นดังกล่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2552 กรณีนี้จึงไม่สมเหตุสมผลที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะเร่งถอนเงินล่วงหน้ามาเก็บไว้ถึง 3 เดือน เพื่อมารอชำระค่าหุ้นดังกล่าว คำเบิกความถึงที่มาของเงินในการซื้อหุ้นจึงมีพิรุธไม่มีน้ำหนัก ให้เชื่อถือ
ส่วนการซื้อหุ้นครั้งที่สอง นำเงินจากต้นทุนและกำไรจากการขายหุ้นในครั้งแรกมาซื้อ และในการซื้อหุ้นทั้งสองครั้งได้นำเงินสดหมุนเวียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ปิง ดีเวลลอปเมนท์ และเงินหมุนเวียนของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้ถูกกล่าวหานำไปรวมชำระเงินค่าหุ้น สำหรับเงินนอกบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ปิง ดีเวลอปเม้นท์ ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เมื่อวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ปิงดีเวลอปเม้นท์ มีผลประกอบกิจการขาดทุนจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีเงินสดนอกบัญชีจำนวนสองล้านบาทมาซื้อหุ้นบริษัท วินโคสท์. อินดัสเทรียลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ได้
@ไร้หลักฐานจ่ายค่าหุ้น –ผู้ขายไม่นำรายได้ไปเสียภาษี
ทั้ง การที่ผู้คัดค้านที่หนึ่งได้ชำระค่าหุ้นทั้งสองโดยไม่ปรากฏหลักฐานการชำระค่าหุ้นบริษัทวินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ในส่วนต้นทุนการซื้อแก่นายวิสาลและนายสุรสิทธิ์ เป็น เอกสารทางการเงินและทั้งไม่มีหลักฐานการรับเงินของผู้ขายเพราะบุคคลทั้งสองเบิกความว่าไม่เคยทำหลักฐานการรับจ่ายเงินไว้ อีกทั้งนายวิสาล ไม่เคยนำรายได้จากการขายหุ้นบริษัทวินโคสท์อินดัสเทรียลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ไปเสียภาษี ส่วนนายสุรสิทธิ์อ้างว่ามีผลขาดทุนจากผลการขายหุ้นจึงไม่มีรายได้ที่ต้องนำไปเสียภาษี
เห็นได้ว่าการซื้อหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นเงินจำนวนมากถึง 9,606,668.30 บาท การที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางการเงินทั้งในส่วนของผู้ซื้อที่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินและไม่ปรากฏหลักฐานการรับเงินของผู้ขายหุ้น ซึ่งเป็นผู้รับเงินเมื่อมูลค่าการลงทุนในส่วนนี้เป็นจำนวนมากการซื้อขายย่อมต้องมีความรอบคอบ กับทั้งน่าจะมีการทำ หลักฐานให้เป็นที่ปรากฏเพื่อป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดจากการผิดสัญญา ซื้อขายหุ้นได้
เมื่อพยานคงมีเพียงหลักฐานการเบิกถอนเงินได้จากการขายหุ้นจากบัญชีธนาคารและหุ้นที่ยังคงเหลือราคาตามคำร้องเพียงบางส่วนและที่มาของเงินตามทางนำสืบของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่หนึ่งซึ่งอ้างว่านำไปชำระค่าหุ้นไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จึงฟังว่าเงินได้สุทธิจากการขายหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) และหุ้นที่ยังคงเหลือมูลค่าตามคำร้องรวมจำนวน 16,975,602.90 บาทเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นางสุนิสา ปฐมพฤกษ์ ผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ติดต่อขายหุ้น บริษัท วินโคสต์ฯ เป็นน้องสาวนายภูมิธรรม เวชยชัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
อ่านประกอบ : (ศาลฎีกาฯเปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดียึดทรัพย์‘เกษม’168 ล. -ชื่อ 3 บิ๊กธุรกิจโผล่)