‘อังคณา’ มองระบบยุติธรรมไทย ยังคงเป็นวิฤติศรัทธาของปชช.
‘อังคณา’ ชี้กฎหมายไทยไม่เคยดำเนินการคนผิดด้านมนุษยชน ทั้งผิดหวัง ที่สนช.ปัดร่างป้องกันการทรมาน-บังคับสูญหาย ขณะที่ระบบยุติธรรมยังคงเป็นวิกฤติศรัทธาของประชาชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน'จากบิลลี่ ถึงชัยภูมิ ใจแผ่นดิน ไม่ยอมแพ้' ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุติ กระบวนการนอกระบบยุติธรรม”
นางอังคณา กล่าวว่า แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคล อีกทั้งกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ กติกาสากลด้านสิทธิมุนษยชนที่รับรองสิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงความยุติธรรมของพลเมืองทุกคน แต่ว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่นอกเหนือกฎหมาย ก็ยังปรากฎให้เราเห็นตลอด การอำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นวิกฤติคุณธรรมที่ร้ายแรงในกระบวนการยุติธรรม ที่ส่งผลโดยตรงต่อพลเมืองในรัฐ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นหลักคุณธรรมพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ระบบตุลาการที่เป็นอิสระ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร การถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่มีแค่ สามอำนาจหลัก คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่การถ่วงดุลในการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมต้องรวมไปถึงอำนาจในส่วนอื่นๆ หมายรวมความชอบธรรมในการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเคารพในสิทธิมนุษยชน
“แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราจึงต้องมีกรอบความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ จำเป็นต้องมีบทกำหนดโทษ แต่ไม่ได้ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดน้อยหรือหมดไป” นางอังคณากล่าวและว่า ในฐานะเหยื่อและครอบครัวที่ผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและยุติการทรมานและการบังคับสูญหายไว้พิจารณา ทั้งที่กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นความหวังของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ในการที่จะได้รับทราบความจริง และความยุติธรรม
นางอังคณากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการลงโทษทางอาญากับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแทบจะไม่เกิดขึ้นและในบางครั้งมีการตรากฎหมายเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รับผิด ด้วยการกระทำที่เป็นการสุจริต การงดเว้นโทษ และการปล่อยให้คนผิดลอยนวล นอกจากส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อเเล้ว การงดเว้นโทษยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของผู้คนในสังคมด้วย ดังนั้นเพื่อยุติการงดเว้นโทษ รัฐจึงต้องตระหนักว่า ทุกความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐ รัฐต้องมีส่วนร่วมในความทุกข์กับผู้เสียหาย ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญกับความยากลำบากแต่เพียงลำพัง