- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 13 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายคือฆาตกรรมที่ไม่มีศพ!
13 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายคือฆาตกรรมที่ไม่มีศพ!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคดีอุ้มหายในประเทศไทย
แต่เป็นสัญลักษณ์ของการ "ประจาน" ความล้มเหลวทั้งในแง่ของการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน, ในแง่ของการอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อและญาติ รวมถึงในแง่ของความจริงใจของรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพราะผ่านมาแล้ว 13 ปีกับคดีอุ้มหายทนายสมชาย ซึ่งแม้จะเป็นคดีอุ้มหายคดีเดียวที่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ศาลฎีกากลับยกฟ้อง และถึงวันนี้ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็สั่งงดการสอบสวนไปเรียบร้อย
"ในฐานะของครอบครัว เราถูกปฏิเสธการเข้าถึงความยุติธรรมมาโดยตลอด" อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ซึ่งวันนี้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าให้ฟังถึงการต่อสู้ของครอบครัว
"เราเคยมีความหวังที่ดีเอสไอรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อปลายปี 58 และต่อมาดีเอสไอก็สั่งงดการสอบสวน เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ตำรวจเองก็ยุติแล้ว ดีเอสไอก็บอกว่าไม่มีหลักฐาน"
"เราก็ได้ให้เหตุผลไปว่าถ้าจะทำในลักษณะของคดีศพหาย มันไม่มีหรอก เพราะว่าศพถูกทำลายไปแล้ว ดีเอสไอก็รู้ ตำรวจก็รู้ว่าศพถูกทำลายไปหมดแล้ว ดังนั้นจะทำคดีคนหาย ดีเอสไอควรศึกษาแนวทางการทำคดีให้ดีก่อน"
อุ้มหาย...เลวร้ายกว่ารู้ว่าตายแล้ว!
จากประสบการณ์ของอังคณา ทำให้คิดได้ว่าบางทีการที่คนในครอบครัวสูญหายหรือถูกอุ้มไป อาจเลวร้ายยิ่งกว่าการเสียชีวิตไปแบบรู้ๆ กันเสียอีก
"ประการแรกเลยเมื่อมีคนในครอบครัวหายไป บุตรหรือภรรยาไม่สามารถทำนิติกรรมแทนได้ เนื่องจากว่าเราไม่มีหลักฐานว่าเขาเสียชีวิตหรือหายสาบสูญ ต้องรอระยะเวลา 5 ปีจึงจะร้องต่อศาลได้ว่าเป็นบุคคลสาบสูญ ซึ่งก็คือการเสียชีวิตทางแพ่ง เพื่อให้ไปทำนิติกรรมได้"
"นอกจากนั้นทางครอบครัวก็ต้องปรับตัวในหลายๆ เรื่อง เช่น การที่จะต้องรับภาระทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอย่างมากคือเรื่องของจิตใจ"
"ส่วนผลกระทบทางวัฒนธรรมและสังคม เราก็พบว่าการบังคับบุคคลให้สูญหาย คือการฆาตกรรมที่ไม่มีศพ ดังนั้นครอบครัวไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้เลย ทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ สับสน เราก็ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกฟังว่าอย่างไร ว่าการสูญหายไปคืออะไร มันเหมือนความคลุมเครือระหว่างการมีชีวิตกับการไม่มีชีวิต ดังนั้นอารมณ์และจิตใจของครอบครัวจะส่งผลกระทบอย่างมากมาย"
"เราต้องฝากคำถามถึงรัฐบาลว่า คนที่หายไปแล้วยังมีครอบครัวอยู่ ถามว่าแล้วรัฐบาลจะให้ความยุติธรรมได้อย่างไร หรือแค่บอกว่าช่วยอะไรไม่ได้ แล้วจะให้รออีกนานแค่ไหน" อังคณา กล่าว
ทายาทเหล่าโสภาพันธ์...9 ปีที่ต้องเสียพ่อ
ที่ผ่านมาคดีอุ้มหายในประเทศไทยไม่ได้มีแค่คดีเดียว แต่ยังมีเหยื่ออุ้มอีกมากมาย ตั้งแต่กรณีเกือบ 30 ปีที่แล้วอย่าง นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตผู้นำแรงงานที่หายตัวไปในยุค รสช.เมื่อปี 2434
หรือแม้แต่กรณีใหม่ๆ อย่าง "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวมถึง ลุงเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในจังหวัดชัยภูมิ
หลายกรณีข่าวคราวเริ่มเลือนหายไปจากความสนใจของสังคม แต่ครอบครัวของพวกเขายังคงต้องทนทุกข์ และหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้รับความยุติธรรม...
ดังเช่นคดีของ กมล เหล่าโสภาพันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น หรือ คปต. ที่หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.2551 หรือกว่า 9 ปีมาแล้ว หลังจากเดินทางไป สภ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไม่ถึง 2 กิโลเมตร เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีที่เขาได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนที่ดินเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านของเขาเอง และพบหลักฐานการฮั้วประมูล รวมทั้งการก่อสร้างอาคารผิดแบบ ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร มีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประมูล และเจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่าย
จากคำบอกเล่าของลูกชายนายกมล ทราบว่าวันนั้นเวลาประมาณ 5 ทุ่ม พ่อได้พยายามโทรศัพท์เข้าบ้าน แต่เมื่อรับโทรศัพท์ กลับไม่มีคนพูด จากนั้นพ่อก็หายตัวไปและติดต่อไม่ได้อีกเลย ต่อมาอีกราว 20 กว่าวัน จึงพบรถของพ่อถูกจอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาลสิรินธร ริมถนนมิตรภาพ ห่างจากตัวอำเภอบ้านไผ่ประมาณ 20 กิโลเมตร
ที่ผ่านมาครอบครัวเหล่าโสภาพันธ์ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจและสภาพความเป็นอยู่ เพราะนายกมลถือว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว การหายตัวไปของเขาทำให้ต้องเลิกกิจการที่ครอบครัวเคยทำ ต้องย้ายบ้านเพื่อหนีจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้ารัฐ ครอบครัวจึงหวาดกลัวเรื่องความปลอดภัย
ส่วนเรื่องความล่าช้าของคดีตลอด 9 ปีที่ผ่านมามีแต่ข่าวร้ายๆ ทั้งข่าวตู้เอกสารในดีเอสไอถูกงัดเมื่อปี 2552 ซึ่งภายในนั้นมีเอกสารเกี่ยวกับคดีของนายกมลรวมอยู่ด้วย
ต่อมาในปี 2557 ดีเอสไอแจ้งกับญาติว่าไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้ กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่เกิดกรณีการเสียชีวิตปริศนาของ นายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินที่โดนคดีออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบมูลค่านับหมื่นล้านบาท ภายในห้องควบคุมผู้ต้องหาบนตึกดีเอสไอ ทางครอบครัวก็พยายามทวงถามความคืบหน้าคดีของนายกมลอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีท่าทีใดๆ จากทางดีเอสไอเช่นเคย
ลูกชายของนายกมลตั้งข้อสังเกตว่า เพราะคดีของพ่อมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ คดีจึงไม่คืบหน้า แม้ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษก็ตาม
ทายาทของนักต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ถูกอุ้มหาย บอกด้วยว่า ประเทศไทยติดอันดับแถวหน้าของเอเชียเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพราะยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากพอ โดยเฉพาะหากผู้เสียหายมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และตรวจสอบหลักฐานอะไรไม่ได้เลย
แต่ถึงอย่างไรครอบครัวก็ไม่ย่อท้อ และจะเดินหน้าทวงความเป็นธรรมให้ผู้เป็นพ่อต่อไป
กฎหมายป้องกันอุ้มหาย...ความหวังสุดท้ายที่ดับวูบ
ความหวังของนางอังคณาและครอบครัวเหยื่ออุ้มหายทั้งหลายเรืองรองขึ้นเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ "พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมาน" เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บ้านเรา แต่วันนี้ความหวังเล็กๆ ได้ดับวูบลงแล้ว เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติตีกลับร่างกฎหมาย ไม่ยอมบรรจุเข้าระเบียบวาระการพิจารณา
อังคณา บอกว่า การมีกฎหมายพิเศษเพื่อเอาผิดกรณี "อุ้มหาย" เป็นการเฉพาะ จะช่วยให้การดำเนินคดีการบังคับบุคคลให้สูญหายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอำนวยความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเหยื่อมากกว่าปัจจุบัน
"การถูกบังคับให้สูญหายหมายถึงการฆาตกรรมหรือทำลายศพ หรือนำตัวบุคคลไปควบคุมในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผย หรือสถานที่ที่เป็นความลับ หากมีกฎหมายพิเศษ การนำตัวบุคคลไปแล้วญาติไม่สามารถเยี่ยมได้ ไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยนั้นก็ต้องรับผิดชอบ"
"วันนี้ปัญหาของคนที่ถูกบังคับสูญหาย คือไม่มีกฎหมายในความผิดฐานทำให้สูญหาย แต่นำกฎหมายเรื่องของการละเมิดเสรีภาพ (กักขังหน่วงเหนี่ยว) หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมมาปรับใช้ แต่กรณีที่มีการเอาตัวไป หรืออุ้มหายไป จะไม่พบศพ ก็จะฟ้องข้อหาฆ่าไม่ได้ นี่เป็นช่องว่างที่เราไม่มีกฎหมาย เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ"
"ไม่ต่างจากคดีของบิลลี่ เมื่อไม่นานมานี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาสอบถาม เราก็ทราบกันว่าคดีบิลลี่นี้ ดีเอสไอก็ไม่รับเป็นคดีพิเศษ ในขณะที่ตำรวจเองก็งดการสอบสวนไปแล้ว เราก็ตั้งคำถามกับกระทรวงยุติธรรมว่า จะให้ทำอย่างไรในเมื่อคนก็สูญหายไป แล้วหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยก็ปฏิเสธหมดเลย แล้วจะให้ทำอย่างไร หรือว่าเป็นเวรเป็นกรรม หายไปแล้วแล้วทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีกลไกที่จะต้องป้องกันเพื่อไม่ให้มีการบังคับสูญหาย แล้วนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ แต่เราก็ต้องผิดหวัง เพราะเราสู้มานาน แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกปรับตกไป"
ปัจจุบันหลายประเทศประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องบังคับบุคคลให้สูญหาย เนื่องจากกำหนดให้เป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ โดยอายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อทราบที่อยู่หรือชะตากรรมของผู้สูญหายแล้ว ขณะที่สหประชาชาติและในทางสากล ถือว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงซึ่งไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
แตกต่างจากประเทศไทยที่ปล่อยให้เกิดคดีอุ้มหายกันแทบจะรายเดือน โดยไม่ได้นำพาที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) ทนายสมชาย นีละไพจิตร (ขวา) กมล เหล่าโสภาพันธ์
2 ตารางแสดงลำดับเวลาคดีทนายสมชาย
ขอบคุณ : เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ ผู้สื่อข่าว NOW26 เอื้อเฟื้อบทสัมภาษณ์บางส่วน