- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- บทบาทรัฐไทยต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา หลัง 1 ปี วิกฤตเรือมนุษย์
บทบาทรัฐไทยต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา หลัง 1 ปี วิกฤตเรือมนุษย์
อคติที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น อันนำมาสู่ภาพของผู้อพยพชาวโรงฮิงญาที่เกินจริง คนไทยจำนวนมากคิดว่า ปัญหาโรฮิงญาไม่เกี่ยวกับประเทศไทย และกลายเป็นเรื่องผิดที่ตั้งใจจะช่วยเหลือพวกเขา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 มีรายงานข่าวว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 21 คนได้หลบหนีออกจากสถานกักกันคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา ตามข้อมูลของตำรวจ รายงานว่า ระหว่างที่มีการพยายามตามล่าเพื่อจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าว ตำรวจไทยได้วิสามัญฆาตกรรมชายชาวโรฮิงญาหนึ่งราย ต่อมาทางหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้านต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้
นั่นคือเรื่องราวของโรฮิงญาล่าสุดที่กลับขึ้นมาเป็นข่าวบนหน้าสื่อหลักของประเทศ
แต่หากลองย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 กว่าหนึ่งปีที่เเล้ว ข่าวทุกสำนักทั้งไทยและเทศต่างต้องตะลึง เมื่อมีการค้นพบหลุมศพจำนวนมาก โดยมีร่างไร้วิญญาณกว่า 36 ศพ เชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญา และชาวบังคเทศซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หลังจากนั้นไม่กี่วัน มีการพบศพเพิ่มเติมส่งผลให้เกิดการขยายผล จนนำไปสู่การเปิดโปง และจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ มีการทลายค่ายกักกันเหยื่อที่รอส่งไปยังประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงเส้นทาง และเครือข่ายเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการ
'พุทธณี กางกั้น' เจ้าหน้าซึ่งทำงานด้านมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หลี้ภัยชาวโรฮิงญา จาก Fortify Rights เผยว่า ในวงการค้ามนุษย์เรียก "ชาวโรฮิงญา” ว่า “ ไก่ดำ” จากการทำวิจัยพบว่า ต้นทุนในการขน “ไก่ดำ” เฉลี่ยตกคนละ 2.6 หมื่นบาท กว่าจะเดินทางมาถึงราคารวมๆ กัน การ “ขาย” โรฮิงญาจึงมีราคาต่ำสุดที่ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาท
นอกจากคำว่าไก่ดำ ยังมีคำที่คนในวงการเรียกคำว่าแคมป์ โดยทางขบวนการเรียกกันว่า “คอก” ซึ่งเป็นคำแบบเดียวที่เรียกที่ คอกวัวควาย เวลาคุยกันถึงโรฮิงญาที่จะเข้ามาใหม่ พวกเขาจะเรียกว่า “สินค้ามาแล้ว” “วันนี้ไปคอกไหนบ้าง” ซึ่งและคนละคนจะได้สายรัดข้อมือสีต่างๆ บอกว่าพวกเขาจะอยู่ที่ “คอก” ไหน
“ การกระทำลักษณะแบบนี้ เป็นการลดคุณค่าของมนุษย์ ให้กลายเป็นสินค้า” พุทธณี ชี้ให้เห็นกระบวนการการค้ามนุษย์ และเปิดเผยข้อมูลอีกว่า เรือมนุษย์หนึ่งลำ มีการคำนวณว่าเรือจะขนมาหนึ่งทีถ้าจะให้คุ้มต้องโหลดคนแต่ละครั้ง 400-500 คน มีทั้งคนที่เต็มใจจะมาเพราะอยากไปมาเลเซีย เพื่อทางออกชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็มีคนที่ถูกบังคับขู่เข็ญ หรือถูกจี้ปล้นให้มาด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนไทย เล่าว่า เมื่อเรือมาถึงที่หมายซึ่งโดยมากจะลงที่จังหวัดระนอง อีกหลายส่วนลงที่เกาะใกล้เคียงเกาะหลีเป๊ะ จะพบว่า หลายคนในเรือเริ่มเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว เมื่อถึงเกาะก็ลงเองไม่ได้ สาเหตุก็มาจากตอนอยู่ในเรือนั้นพวกเขาต้องนั่งท่าเดียวกัน ไม่ได้ขยับตัวจะทำให้ตัวช่วงล่างบวม และเมื่อถึงแคมป์ก็ยังจะเจอสภาพอากาศของภาคใต้ที่ร้อนชื้น มีฝนตก ทั้งยังได้ทานอาหารเพียงวันละสองมื้อ ส่วนในเรือ มีแค่ข้าวกับพริก มาม่า และน้ำไม่ถึงครึ่งแก้วต่อคน
ช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าไปทลายแคมป์จะพบว่า หลายคนไปไหนไม่ได้ ซึ่งทางการไทยก็พยายามอย่างดี ในการนำส่งโรงพยาบาล แต่หลายคนตายที่นั่น เพราะอ่อนแอเกินไป
“นี่ยังไม่พูดเรื่องถูกทำร้ายร่างกาย เรียกค่าไถ่ การให้พูดโทรศัพท์เพื่อให้ได้เงิน6หมื่นบาทก่อนจะไปอินโดนีเซีย บางกรณีจ่ายแล้วไม่ได้ไปก็มี บางรายที่เป็นผู้หญิงจะถูกบอสเรียกไปนอน ซึ่งเราเองบอกไม่ได้ว่าเขาถูกข่มขืนหรือไม่ หรือยอมทำงานหนัก อย่างการไปหาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่ดี บางรายก็ถูกส่งตัวไปประเทศต่อไป”
พุทธณี ระบุว่าการปฏิบัติของรัฐไทย มีพยายามอย่างมากที่จะนำความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย พยายามเอาคนผิดเข้ากระบวนการ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านั้นยังมีปัญหา ในมิติของผู้เสียหายนั้นมี 2 เลือก 2 ทาง คืออยู่ในห้องกักทางใต้ ซึ่งตอนนี้เก็บไม่หมดต้องไปฝากไว้ทางอีสาน ส่วนผู้หญิงอาจได้ไปอยู่ตามบ้านพัก สถานสงเคราะห์ อาจจะดีกว่าหน่อย เพราะคนในห้องกักทำอะไรไม่ได้เลย
ขณะที่การกักขังมีปัญหาตั้งแต่การคัดแยก แม้มาเรือลำเดียว กระทั่งครอบครัวเดียวกันก็ยังต้องอยู่ต่างที่ พ่อกับผู้ชายอายุสิบแปดขึ้นจะไปอยู่ห้องกัก แม่และลูกเล็กจะไปอยู่บ้านพัก นอกจากนี้ยังพบเด็กที่ไม่มีผู้ปกครอง ซึ่งปัญหาในห้องกักขังนี่เองที่เธอบอกว่ามีปัญหาเท่าที่เราเก็บข้อมูล มีคนพยายามหนีออกจากสถานที่กักกันของ ต.ม.และบ้านพักเรื่อยๆ
แม้ว่าจะปัจจุบันจะมีกระบวนการของ UNHCR ที่จะพลักดันไปสู่ประเทศที่ 3 ซึ่งมีประเทศสหรัฐฯและบางประเทศที่รับไปเป็นช่องทางพิเศษ แต่การดำเนินการยังไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ เพราะโรฮิงญาหลายคนไม่อยากไป อยากจะอยู่ภูมิภาคนี้มากกว่า
และแม้ว่าจะมีข้อเสนอให้มาเลเซีย อินโดนีเซียรับไปชั่วคราว แต่ชะตากรรมต่อไปก็ยังหาคำตอบไม่ได้ รวมไปถึงกลุ่มคนในไทย เมื่อยังหาทางออกไม่ได้ กลายเป็นว่าต้องอยู่ห้องกักต่อไปเรื่อยๆ
“ คำถามของพวกเราวันนี้คือทำอย่างไรจะเป็นข้อเรียกร้องที่จะให้เขาดีกว่าอยู่ที่ ต.ม.” เธอตั้งคำถาม พร้อมแสดงความกังวลบางคนที่ถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ถูกส่งกลับอย่างไม่เป็นทางการ การส่งกลับอย่างไม่เป็นทางการ หลายคนอาจบอกว่าดี แต่สำหรับโรฮิงญาเราขอเรียกร้องไม่ให้ส่งกลับ เพราะเขาไม่สามารถกลับบ้านตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นทางดี และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเข้ามือผู้ค้าอีก
สอดคล้องกับความกังวลจากนายศิวงศ์ สุขทวี ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ(MWG) ที่ตั้งคำถามว่า พี่น้องโรฮิงญา และชาวบังคลาเทศ ที่วันนี้ยังถูกกักขังอยู่ และเมื่อถึงวันที่คดีสิ้นสุดลง คำถามคือพวกเขาจะไปที่ไหนต่อ กลับภูมิลำเนา กลับรัฐยะไข่ เมียนมาหรือไม่
เพราะตราบที่ฐานะทางกฎหมายภายใต้การลี้ภัยของพวกเขา ยังไม่รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย คำถามนี้ยังคงต้องถามต่อไป
เขาเห็นว่า อคติที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด อันนำมาสู่ภาพของผู้อพยพชาวโรงฮิงญาที่เกินจริง คนไทยจำนวนมากคิดว่า ปัญหาโรฮิงญาไม่เกี่ยวกับประเทศไทย และกลายเป็นเรื่องผิดที่ตั้งใจจะช่วยเหลือพวกเขา แต่ในความเป็นจริง ปัญหาโรงฮิงญา สามารถแบ่งมาได้2เรื่อง
1. สิ่งที่เขาต้องเผชิญในบ้านเกิด ไม่ใช่ความรุนแรงที่เผชิญโดยความรุนแรงเป็นครั้งคราว แต่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เป็นการกำจัดกลุ่มชาติพันธุ์ให้หมดไป ดังนั้นในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกชุมชนระหว่างประเทศ มีกฎหมาย มีหลักการร่วมกัน เป็นหน้าที่ของรัฐทุกชาติในการปกป้องคนในโลกไม่ให้ถูกกระทำ ภายใต้กระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบนี้
2. การอพยพเข้ามาในประเทศไทย ไม่ใช่ปัจจัยจากประเทศพม่าเท่านั้น ที่ผ่านมาเราพบว่า ความหละหลวมของข้อกฎหมายไทย ในเรื่องการค้ามนุษย์ที่มีฐานอยู่ในประเทศไทย และเติบโตมากขึ้นตลอด10ปีที่ผ่านมา และจำนวนของคนที่ถูกนำพา ก็มาขึ้นเรื่อยๆ
ในแง่นี้ปัญหาเลยไม่ได้เกิดขึ้นในพม่าเท่านั้น ปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย จากการศึกษาก็พิสูจน์เเล้วว่า การค้ามนุษย์ในไทยคือปัจจัยที่ขับเคลื่อน นำพาพวกเขามาในประเทศ เราจึงไม่อาจปฎิเสธได้ว่า กลุ่มคนที่ถูกนำพาไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา
“ ความคิดว่า เราให้เขาเข้ามาอาศัยก็เป็นบุญหัวเเล้ว จะมาสร้างความรำคาญอะไรอีก กรณีล่าสุดที่พังงาคือกลุ่มคนที่ถูกกักตัวเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่รวมกับคนอื่นที่ถูกกักที่สงขลาตั้งแต่ปี 56-57 คนกลุ่มนี้ถูกกักอย่างน้อย 2 -3 ปี และไม่รู้ว่าต้องถูกกักอีกกี่ปี ชีวิตในแต่ละวันที่ผ่านมาชีวิตอยู่ในห้องแคบๆ เพราะห้องกักของ ต.ม. ไม่ได้ถูกออกแบบให้กักคนในระยะยาว”
ความคิดที่ชี้หน้าชาวโรฮิงญาว่าสร้างแต่ปัญหา เขาจึงอยากอธิบายให้คนทุกคนลองทำความเข้าใจว่า การที่คนหนึ่งคนที่เกิดมาแล้ว ผิดกฎหมายแต่เกิด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวของเขา ปัญหาอยู่ที่กฎหมายที่ทำให้เขาเป็นคนผิดตั้งแต่ต้น ถ้าหากเราแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้เขารู้สึกว่า กฎหมายปกป้องเขาได้จริง นั้นจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
อีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวล โดยในกระบวนการยุติธรรม ที่นายปภพ เสียมหาญ ทนายจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เล่าให้ฟังว่า ลักษณะของการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปรายปรามการค้ามนุษย์เเล้วนั้น จะมองว่าการนำบุคคลมาในลักษณะนี้ ถือเป็นการกระทำผิดข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งมีโทษร้ายแรง แต่จากการสังเกตการณ์ที่ผ่านมา ทั้ง 7 คดี ตั้งแต่ปี 2550 -2557 มีจำนวนไม่น้อยที่มีการดำเนินคดีทั้งนายหน้าและชาวโรฮิงญา แต่ดำเนินการส่วนใหญ่ยังใช้กฎหมายในเรื่องการเข้ามาโดยผิดกฎหมาย
จากการติดตามอย่างใกล้ชิด ปภพ มองว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสอบสวนของตำรวจ ทำให้คดีต่างๆ ถูกยกฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ทั้งหมด มักทำการโดยใช้เรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมายและให้ที่พักพิง ซึ่งถือเป็นโทษสถานเบา โดยปัจจุบัน นายหน้าทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีในเรื่องนี้ได้รับการยกโทษหมดเเล้ว กลับกันชาวโรฮิงญายังถูกกักขังอยู่ในสถานที่ที่ต.ม.จัดไว้เหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าสนใจในคดีหนึ่งที่มีการยกฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาให้ศาลพิสูจน์ว่าผู้นั้นกระทำผิดจริงในข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งหากเราวิเคราะห์จะพบว่า การตัดสินดังกล่าวไม่มีความพยายามเพียงพอ หรืออาจยังไม่เข้าใจกฎหมายค้ามนุษย์อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ทนายปภพ ยังเล่าประสบการณ์จากการได้ให้ความช่วยเหลือคดีโรฮิงญา 2คดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 รวมกับเจ้าหน้าที่ในจังหวัดสงขลาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ และยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของสตูล การดำเนินคดีดำเนินโดยตำรวจและทางมูลนิธิในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้เสียหายและเป็นทนายความในคดี และในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ศาลจังหวัดสงขลามีการลงโทษผู้กระทำผิดรายนี้ด้วยการจำคุก 22 ปีกับอีก 6 เดือน และสั่งให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 128,400 บาท ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่มีการลงโทษในข้อหาค้ามนุษย์
“ กล่าวได้ว่าคดีนี้สร้างความมั่นใจและความถูกต้องให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการปราบปรามการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่นานหลังจากนั้น มีการนำคดีโรฮิงญาขึ้นสู่ศาลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พังงา ระนอง ชุมพร”
ถึงแม้ภาพการปราบปรามการค้ามนุษย์จะมีความชัดเจนมากขึ้น และนโยบายของรัฐเน้นให้ปราบปราม มีการจัดตั้งศาลแผนกค้ามนุษย์ขึ้นมา มีการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ปี 2559 เพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์เป็นพิเศษ แต่เนื่องจากจำเลยมีจำนวนกว่าร้อยคน การจัดการของศาลในคดีการค้ามนุษย์จึงยังไม่สามารถรับมือกับคดีนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เราจะเห็นได้ว่าคดีมีความยืดเยื้อออกไป อาจจะเป็นเวลาหลายปี
เขาแสดงความเป็นห่วงว่า แม้จะมีนโยบายออกมามากขึ้น กลับกันนโยบายในการคุ้มครองผู้เสียหายกลับน้อย นโยบายหรือกฎหมายเยียวยาต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง
ยกตัวอย่าง สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย ที่เห็นได้ชัดในคดีชาวโรฮิงญา ศาลปฏิเสธคำร้องของทนายและผู้เสียหาย ในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีค้ามนุษย์
“ คำสั่งของศาลไม่ได้ส่งผลเฉพาะผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ทำให้ผู้เสียหายไม่มีสิทธิในการเรียกร้องอะไรเลย ทำได้แค่เป็นพยานเท่านั้น”
ข้อสังเกตหนึ่งที่ทนายปภพ กังวลนั่นคือเรื่องการคุ้มครองพยานและผู้เสียหาย จากการได้ช่วยเหลือผู้เสียหายหลายคน ได้ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย พยานในคดี พบว่า มีการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและข่มขู่ ให้ผู้เสียหายหลบหนีออกจากประเทศ มีการทำร้ายร่างกายพยานในคดี และพยายามลักพาตัว พร้อมข่มขู่
กรณีที่เห็นได้ชัดอย่าง พ.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่ต้องหลี้ภัยไปต่างประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่า แม้จะมีการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง แต่ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กระบวนการนายหน้าที่เหลืออยู่ อีกทั้งกระบวนการนายหน้าใช้วิธีที่รุนแรงขึ้น เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดี ดังนั้นการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหาย จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในปัจจัยการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด
ยังมีอีกประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่องของล่ามในการดำเนินคดี ปภพ อธิบายว่า เพราะล่ามจะเป็นบุคคลชั้นต้นที่ได้ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันแต่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่า ผู้เสียหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ล่ามที่ใช้ในการดำเนินคดี อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้ชาวโรฮิงญา หนีออกจากการคุ้มครองของรัฐ กลุ่มคนเหล่านี้ สร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในการดำเนินคดี จึงอยากเสนอว่า
1.) รัฐต้องจัดการระบบล่าม ที่ใช้ในการดำเนินคดี ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น การทำทะเบียนล่ามและสอบประวัติว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อกระบวนการค้ามนุษย์
2.)รัฐคุ้มครองพยานในการมาตรการที่เหมาะสม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา เนื่องจากองค์กรเหล่านั้นมีพฤติกรรมเป็นอาชญกรรมข้ามชาติ มีพฤติกรรม ร้ายแรง
3.)รัฐต้องปฏิบัติกับชาวโรฮิงญาในฐานะการค้ามนุษย์และสนับสนุนให้ผู้เสียหายทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับสิทธิในกระบวนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ รวมไปถึงการเปิดให้ผู้เสียหายมีสิทธิเข้าถึงทนายความและเข้าเป็นโจทก์ ร่วมกับพนักงานอัยการทุกข้อกล่าวหา
นับตั้งแต่ปี 2555 มีผู้หลีภัยชาวโรงฮิงญากว่า 170,000 คน โดยในประเทศไทย ผู้เสียหายชาวโรฮิงญาซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาจากขบวนการค้ามนุษย์ ยังคงถูกกักตัวในสถานกักกันของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศูนย์พักพิงของรัฐ ซึ่งหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย Fortify Rights และองค์กรภาคี ต่างกังวลอย่างยิ่งต่อการกักตัวผู้เสียหายชาวโรฮิงญาในประเทศไทยเป็นเวลานานอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศห้ามการกักตัวบุคคลโดยพลการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอย่างไม่มีกำหนดรวมทั้งผู้ซึ่งไม่ใช่คนในชาติ โดยรัฐอาจจำกัดสิทธิที่จะมีอิสรภาพของผู้เข้าเมืองได้ตามหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อยกเว้น ภายหลังการประเมินบุคคลอย่างละเอียดเป็นรายกรณีแล้ว
ในมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 การอนุมัติการผ่อนผันให้ผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย และมติยังกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยสามารถใช้มาตรา 17 ของพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งต่อมาทางกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศในเดือนเมษายน 2559 โดย
ข้อ1 อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้เสียหายและพยานในคดีว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน1ปี และหากมีความจำเป็นในเรื่องคดี สามารถขยายเวลาได้ไม่เกินครั้งละ 1 ปี ให้มีการทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์
ข้อ2 ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงเรื่องของสิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียหายในคดี
ข้อ3 ให้สาธารณสุขตรวจสุขภาพแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้จำทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์เพื่อใช้ประกอบในการขออนุญาตทำงาน
ข้อ4 ให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาผู้เสียหายและพยานในคดีค้ามนุษย์ซึ่งได้จัดทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวตามกฎหมายให้สามารถทำงานตาม พ.ร.บ.คนต่างด้าว พ.ศ.2551 ตามที่อธิบดีกรมจัดหางานกำหนด
ข้อ5 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม พิจารณาให้ความช่วยเหลือพยานในคดีค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2556 โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ข้อหกให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 พฤษจิกายน 2558
จะเห็นได้ว่าในทางหลักการรัฐไทยได้ออกระเบียบที่ชัดเจน เพียงแต่จนวันนี้ในทางปฏิบัติยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามมติดังกล่าวต่อผู้เสียหายและพยานในคดีการค้ามนุษย์
อ่านประกอบ
โรฮิงญาไม่ใช่คนหนีเข้าเมือง กก.สิทธิ์ฯ แนะรัฐปรับทัศนคติคุ้มครองฐานะ 'ผู้ลี้ภัย'
"รองฯปวีณ"อยู่ไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากราชการ
กะเทาะปัญหา โรฮิงญา ชีวิตที่เป็นได้แค่เหยื่อกับสินค้าแรงงาน
ชะตากรรมโรฮิงญา”เหยื่อ”ค้ามนุษย์
เปิดตัวเลขผู้อพยพโรฮิงญาจากทุกมุมโลก
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://sv5.postjung.com/imgcache/data/877/877855-img.r8vdm8.4f5hj.jpg