- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชะตากรรมโรฮิงญา”เหยื่อ”ค้ามนุษย์
ชะตากรรมโรฮิงญา”เหยื่อ”ค้ามนุษย์
ศพกว่า 30 ร่างที่ถูกพบบริเวณแค้มป์ชั่วคราวที่ขบวนการค้ามนุษย์นำชาวโรฮีนจามาพักรอไว้ก่อนที่จะส่งต่อให้นายหน้าชาวมาเลเซีย หรือรอให้ญาตินำเงินค่าไถ่ตัวมามอบให้ ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ค้นพบบนเกาะโต๊ะกระ.อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา แต่ยังพบอีกจำนวนมากที่บริเวณเทือกเขาแก้ว ชายแดนด้าน อ.ปาดังเปซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา อีกกว่า 70 หลุม สะท้อนให้เห็นว่า มีชาวโรฮิงญาจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อมานับไม่ถ้วน และส่วนใหญ่ล้วนประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน
ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ”อุมมะฮ์”และ”อันวา ซาร์ดัด” เด็กชายวัย 10 ปี ชาวโรฮิงญา ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวจากเมืองจิตตะกอง ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า พร้อมกับเพื่อนบ้านพยายามหาเงินจ่ายให้กับนายหน้าชาวโรฮิงญาและชาวพม่าเพื่อนำพาให้หลุดไปจากบ้านเกิดและไปแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม
พวกเขาเล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพทำนา ทำไร่ แต่ชีวิตไม่เคยมีความสุขเพราะประเทศบ้านเกิดไม่ยอมรับว่า ชาวโรฮิงญาเป็นประชาชนของประเทศ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ แต่เป็นชนชั้นที่ถูกกระทำทารุณจากทหารพม่า ถูกบังคับให้ทำงานหนัก และหากขัดขืนก็จะถูกเฆี่ยนตี ไม่ได้รับค่าจ้าง ไม่ได้รับอาหาร ผู้ชายบางคนถูกฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนผู้หญิงหากทหารพม่าพอใจก็จะถูกบังคับไป
“ผมต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดมากว่า 8 ชั่วโมง เป็นกรรมกรแบกหินใส่ตะกร้าเดินเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตรเพื่อแลกกับเงินแค่ 1 ดอลลาร์ต่อวัน หากไม่ทำก็จะถูกทุบตีด้วยหวาย จะไม่ได้รับอาหาร ลำบากก็ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก ถ้าเลือกได้ผมและครอบครัวอยากจะไปจากที่นี่ อยากไปโรงเรียน เพื่อเรียนหนังสือเหมือนกับเด็กชาวพม่าทั่วไป”เด็กชายชาวโรญิงจา กล่าว
เปิดเส้นทางชีวิตโรฮิงญาจากพม่าเข้าสู่ไทย
โรฮิงยา หรือ โรฮีนจา กลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนด้านบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw ทางตะวันตกของพม่า (สมัยโบราณ มีชื่อว่า รัฐอะระกัน) มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณรัฐอะระกัน มาตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชาวโรฮิงญามีลักษณะคล้ายกับชาวเบงกอล บางส่วนสืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ เปอร์เซีย และปาทาน อพยพมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโมกุล ใช้ภาษาอินดิค (Indic language)คล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย มีประชากรอยู่ในรัฐอาระกันจำนวน 1,500,000 ล้านคน
ชาวโรฮิงญาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าในปี 2521 และถูกปฏิเสธที่จะได้รับสัญชาติพม่า องค์การนิรโทษกรรมสากลประมาณการว่า มีชาวโรฮีนจาอพยพออกนอกประเทศไปยังบังคลาเทศกว่า 200,000 คน โดยมีกลุ่มประเทศมุสลิมเป็นเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากมีงานให้ทำและมีรายได้ดี รวมทั้งมีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำมาเลเซียให้การรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยง่ายกว่าประเทศไทย
ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ชาวโรฮิงยาเริ่มลักลอบเข้าประเทศไทยเพื่อหาทางไปพำนักยังประเทศที่สาม ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549-2551 โดยการเดินเท้าข้ามพรมแดนพม่าเข้าสู่บังกลาเทศ ที่เมืองค๊อกซ์บาซาร์ หรือเมืองจิตตะกอง โดยจะมีนายหน้าไปรอรับที่นั่น จากนั้นนายหน้าจะพาลงเรือมุ่งหน้าสู่ประเทศไทย เพื่อขึ้นฝั่งที่ จังหวัดระนอง หรือพังงา และจะมีนายหน้ารอรับขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยอีกที โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางหลักคือประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้เส้นทางการเดินทาง เข้าสู่ประเทศไทยมีอยู่ 2เส้นทาง คือ
1. จากชายแดนเมืองค๊อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ อ้อมหมู่เกาะ อันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปเกาะนิโคบา โดยใช้เรือขนาดใหญ่บรรจุคนได้ 300 คน หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาในการเดินทาง 10-15 วัน ไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่น่านนํ้าไทยที่จังหวัดระนองและพังงา
2.จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิดต่วย รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านนํ้าพม่า ผ่านเมืองอิรวดี เกาะโกโก้ เข้าเขตน่านนํ้าไทยด้านจังหวัดระนอง แต่หากโชคร้ายกองเรือพม่าตรวจพบถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกจับไปกระทำชำเราทางเพศ ไปเป็นทาส ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะถูกฆ่าทิ้งกลางทะเลโดยทหารพม่าจะทำลายเรือที่ชาวโรฮิงญาใช้เป็นพาหนะหลบหนีมาทำเป็นเสมือนว่าเรือประสบอุบัติเหตุทางทะเลจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งชาวโรงฮิงญาส่วนใหญ่จะพูดเหมือนกันว่าหากเข้าสู่ประเทศไทยได้พวกตนรอดแต่หากพบทหารพม่าคือ “ตายสถานเดียว”
สำหรับเส้นทางอพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากชาวโรญิงยาระบุว่า พวกเขาจะรวมตัวกันจัดหาเรือประมงขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพเก่า เป็นพาหนะในการเดินทาง โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศมุ่งหน้ามายังเกาะนิโคบา และเข้าน่านน้ำไทยด้าน จังหวัดระนอง ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางในทะเล ประมาณ 15 วัน (ระยะทางประมาณ 780 ไมล์ทะเล หรือ 1,400 กม.) หากเป็นเรือลำเล็กจะสามารถบรรทุกได้ประมาณ 60-70 คนต่อลำ โดยอาหารที่ใช้ในการยังชีพมีเพียงข้าวเม่าผสมกับน้ำทะเลพอประทังชีวิต แต่ในภายหลังมีชาวโรฮิงญาต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำในประเทศที่ 3 มาก จึงทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงิน คนละ 20,000-50,000 จั๊ต (หรือประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหาร และน้ำดื่มเพื่อเป็นเสบียงในระหว่างการเดินทาง
“พวกนายหน้า จะได้รับผลประโยชน์จากการขายชาวโรฮิงญาให้กับปลายทางคือประเทศมาเลเซีย โดยจะได้ค่าหัวคนละ 60,000-80,000 บาท เมื่อถึงฝั่งไทยจะมีนายหน้ารออยู่ในฝั่งไทยพาเข้าฝั่ง จากนั้นจะพาชาวโรฮิงญาไปส่งตามจุดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเกาะแก่งต่างๆในทะเลอันดามันเพื่อหลบหนีเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจะมีนายหน้าในจังหวัดระนอง คนในพื้นที่คอยให้ความช่วยเหลือ เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภูเก็ต หรือ จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้ง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะลักลอบเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย”ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งให้ข้อมูล
ผ่า 3 ขบวนการใหญ่นายหน้าค้ามนุษย์
แม้ขณะนี้ศาลจังหวัดนาทวีจะออกหมายจับนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ”โกโต้ง”อดีตนายกองค์การบริหารจังหวัดสตูล ในฐานความผิดสมคบและร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ ร่วมกันช่วยเหลือด้วยประการใดๆแก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและร่วมกันเรียกค่าไถ่
โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวไปแล้ว 50 คน จำนวนนี้มี นายบรรจง ปองพล นายกเทศมนตรีเมืองปาดังเปซาร์ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการค้ามนุษย์คนสำคัญในเครือข่ายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนนายสุวรรณ แสงทอง หรือ”โกหนุ่ย”เจ้าของแพปลา จ.ระนอง ที่ชิงเข้ามอบตัวกับตำรวจหลังจากศาลออกหมายจับ และแม้ผู้ต้องหาจะปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ตำรวจก็คัดค้านการประกันตัว อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับเครือข่ายค้ามนุษย์ไปแล้ว 63 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่พบว่าเครือข่ายนายหน้าค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้มี 5 เครือข่ายใหญ่
โดยเครือข่ายของ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง ถือเป็นขบวนการใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายในจ.สงขลา และจ.ระนอง ซึ่งลักลอบค้าชาวโรฮิงยามานานหลายปี โดยเครือข่ายของโกโต้งพบมีสมาชิก 29 คน สามารถแบ่งเป็นเครือข่ายย่อยอีก 5 กลุ่ม ซึ่งบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวได้แล้ว
กลุ่มแรกเป็นเครือข่าย นายอาบู ฮะอุรา ส.จ.สตูล ขณะนี้ถูกควบคุมตัวแล้ว โดยเครือข่ายนี้ดูแลพื้นที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดน มีสมาชิก 4 คน
เครือข่ายที่ 2 นายอานัส หะยีมะแซ ส.จ.สตูล ถูกจับกุมแล้วก่อนหน้านี้ โดยเครือข่ายของนายอานัสดูแลพื้นที่ ต.ตำมะลัง และ ต.ตันหยงโป อ.เมืองสตูล มีสมาชิก 5 คน โดยในจำนวนนี้คือ นายสมยศ อังโชติพันธุ์ นักธุรกิจการท่องเที่ยวชื่อดัง และเป็นหลานชายของนายปัจจุบัน ซึ่งถูกจับกุมแล้วเช่นกัน
เครือข่ายที่ 3 นายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์ ดูแลพื้นที่ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล มีสมาชิก 6 คน
เครือข่ายที่ 4 นายมาเลย์ โต๊ะดิน นายกอบต.ปูยู อ.เมืองสตูล ที่เพิ่งเข้ามอบตัว ดูแลพื้นที่ ต.ปูยู อ.เมืองสตูล มีสมาชิก 6 คน เป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมด และเครือข่ายสุดท้าย นายโปเซี่ย หรือโกเซี่ย อังโชติพันธุ์ เป็นลูกพี่ลูกน้องโกโต้ง ดูแลพื้นที่ อ.ท่าแพ จ.สตูล มีสมาชิก 2 คน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของเครือข่ายบางส่วนที่เหลือ คอยทำหน้าที่ประสานงานและดูแลชาวโรฮิงยา โดยการทำงานของเครือข่ายจะมี ทีมงานคอยรับชาวโรฮิงยาที่ล่องเรือมา จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา แล้ว พาขึ้นฝั่ง
จากนั้นเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่งไปที่จ.สตูล แยกตามสายและพื้นที่รับผิดชอบ ก่อนส่งต่อไปยังสถานที่พักพิงชั่วคราวในต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยเฉพาะเทือกเขาแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจ.สงขลา ยาวไปถึงจ.สตูล
โดยมีชาวโรฮิงยาบางรายที่ถูกเครือข่ายนี้จับตัวมาเรียกค่าไถ่จากญาติ หากไม่นำเงินมามอบให้ก็จะถูกทรมานหรือสังหาร
มือขน”โรฮิงญา”เปิดใจเสี่ยงขนเพราะคุ้ม
ทรงพล (นามสมมติ) ซึ่งเคยร่วมอยู่ในขบวนการค้าชาวโรฮิงญา เล่าว่า การลักลอบนำชาวโรฮิงยาผ่านเข้ามาแต่ละครั้งแม้จะเสี่ยงแต่ก็คุ้มเพราะได้ค่าตอบแทนดี หากชาวโรฮิงญาคนใดคิดที่จะหลบหนี ก็จะถูกทุบตี ด้วยไม้ บางคนก็จะจับไปมัดกับต้นไม้โดยใช้เชือกมัดไว้จนกระทั่งถึงเช้า ก่อนที่จะพากันเดินเท้าต่อ เพื่อที่จะไปขึ้นรถที่มีนายหน้ามารอรับ ซึ่งคนขับรถจะมีหน้าที่มารอรับชาวโรฮิงญาที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามเกาะต่างๆในพื้นที่ของอำเภอตะกั่วป่า โดยมีคนในพื้นที่เป็นคนนำทาง สำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการขนชาวโรฮิงญาจะใช้รถ อีซูซุมิวเซเว่น ดัดแปลงถอดเบาะด้านหลังออก สามารถบรรทุกได้ประมาณ 35 คน/ครั้ง
ทรงพล เล่าว่า ในการเดินทางแต่ละครั้งจะมีรถประกบหน้า-หลังเพื่อทำหน้าที่คุ้มกันและดูว่าข้างหน้ามีด่านตรวจหรือไม่ หากมีก็จะมีการส่งสัญญาณ ก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางพาชาวโรฮิงญาไปหลบซ่อนตัวตามสวนยางพารา ซึ่งอยู่บนเขา ก่อนจะหาเส้นทางอื่น โดยได้รับค่าจ้างขนชาวโรฮิงญาครั้งละ 50,000 บาท ส่วนนายหน้าที่เป็นคนพาชาวโรฮิงเข้าประเทศมาเลเซียหากสามารถพาชาวโรฮิงญาเข้าไปถึงประเทศมาเลเซียได้ จะได้ค่าหัวต่อคนหัวละ 60,000-80,000 บาท หากเป็นเป็นผู้หญิงสาวจะได้ราคาดี แต่ถ้าเป็นผู้ชายจะนำไปขายให้กับเรือประมง
“ด่านที่เคลียร์ง่ายสุด คือด่านช่วงรอยต่อจังหวัดพัทลุง-สงขลา ราคาอยู่ที่คันละ 300,000 บาท โดยจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย บางครั้งไป 3 คัน ก็จ่าย 9 แสนบาท จะสังเกตได้ง่ายเมื่อมาถึงด่านนี้ จะมีรถเก๋งสีดำ (จำยี่ห้อไม่ได้) แต่งซิ่งไว้คอยกวดจับรถขนชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะเพื่อให้ไปเคลียร์ที่ด่าน จากด่านทับกำของอ.ตะกั่วป่ามาถึงด่านปะดังเบซาร์ จ่ายให้ป้อมตำรวจตลอดเส้นทาง ป้อมละ 50,000 บาท คือ จะมีหน่วยเคลียร์เส้นทางล่วงหน้า จากนั้นก็จะมีนายหน้ามารอรับช่วงรอยต่อเขตแดนหาดใหญ่-มาเลเซีย ถือว่าจบภารกิจของผมในแต่ละครั้ง แล้วรับเงินห้าหมื่นบาทแล้วก็กลับเข้ามา”อดีตสารถีรับจ้างขนโรฮิงยา กล่าว
มานิต เพียรทอง นายอำเภอตะกั่วป่า ยอมรับว่า มีขบวนการลักลอบขนชาวโรฮิงญา โดยพื้นที่ อ.ตะกั่วป่าเป็นทางผ่าน แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาตั้งแต่ปี 2551 แต่การบังคับใช้กฎหมายถือว่าล้มเหลว มีข้อจำกัดจากเหตุหลายประการ ทั้งความรู้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย การเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ มีการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
“ขบวนการค้าโรฮิงยามีเส้นสายโยงใยไปทุกระดับชั้น จึงไม่แปลกที่คนพวกนี้ ไม่เกรงกลัวกฎหมายและยังคงมีการลักลอบนำชาวโรฮิงญาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่คอยให้การช่วยเหลือ ขบวนการนี้จะเลือกใช้เส้นทางช่วงรอยต่อของอำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่าเพื่อผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน และทะเลที่มีเกาะแก่งจำนวนมากซึ่งง่ายต่อการหลบซ่อนตัว อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หากข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลในพื้นที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการนี้ จะไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ของอำเภอตะกั่วป่าได้เลย แต่ขบวนการเหล่านี้กับรู้จักเส้นทางหลบหนีได้เป็นอย่างดี”นายอำเภอตะกั่วป่าให้ข้อมูลเพิ่มเติม
โรฮิงยา”มนุยธรรม”ในสายตาชาวโลก
ในรอบปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาลดอันดับไทยจากประเทศที่ถูกจับตาเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ในอันดับที่3 โดยระบุว่า ไทยไม่มีความคืบหน้าพอในการแก้ปัญหาทำให้ส่งผลการส่งออก และการระงับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ซึ่งในรายงานค้ามนุษย์ประจำปี 2557 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ชี้ว่า ไม่มีการปฏิบัติอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานขั้นต่ำ และผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในไทย มีจำนวนหลายหมื่นคนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และถูกบังคับหรือหลอกลวงให้ใช้แรงงานหรือถูกหาประโยชน์ในการค้าประเวณี และยังมีอีกจำนวนมากที่ถูกล่อลวงไปทำประมง ผลิตเสื้อผ้า และงานบ้าน
ซึ่งรายงานดังกล่าวสวนทางกับข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่า ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตามหลักที่ควรจะเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่รวมการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ที่กำลังดำเนินการ แต่การจะให้เปิดศูนย์เพื่อรองรับการอพยพนั้น เป็นไปได้ยากเพราะจะส่งผลกระทบต่อไทยหลายๆด้าน ในขณะที่ทางสหรัฐฯกลับไม่ได้ใช้มาตรการกดดันประเทศต้นทางที่ควรมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลว่า ถ้าพบก็ให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และเตรียมการส่งต่อไปที่ศูนย์พักพิงชั่งคราวของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียโดยไทยจะอำนวยความสะดวกให้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนไทยก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชาวโรฮิงญาว่า เขาจะไปที่ไหน แต่ละประเทศต้องอำนวยความสะดวกให้
ต้องอยู่ในสายการบังคับบัญชาของเรา เพราะเราเป็นเจ้าของพื้นที่”นายกรัฐมนตรี กล่าว และย้าว่า หลังจากได้ข้อสรุปจากการจัดประชุม”โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อแก้ปัญหาคนลักลอบเข้าเมือง” ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้แล้ว ประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาชัดเจนมากขึ้น
ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรี บังคลาเทศ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจเป็นครั้งแรกว่า นอกจากเร่งจัดการจัดการกับพวกนายหน้าคนกลางแล้ว ยังควรเอาผิดกับคนที่พยายามหนีไปต่างแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยเสี่ยงชีวิตตนเองและทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสื่อมเสีย และคนที่พยายามอพยพผิดกฎหมายทางทะเล ไปทั้งที่ไม่รู้ว่ากำลังจะไปเผชิญกับอะไร แต่ขณะนี้พวกเขาต้องกลายเป็นศพอยู่ในป่า ไม่ถูกต้องนักที่จะบอกว่า ทุกคนทำแบบนี้เพราะความยากจน
“แต่ดูเหมือนเป็นเพราะคิดว่า มีเงินก้อนโตรออยู่ในต่างประเทศ ซึ่งนี่เป็นความป่วยจิตอย่างหนึ่ง”นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศระบุ
แม้ขณะนี้ จะมีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่า การอพยพของกลุ่มเรือมนุษย์ทางทะเลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ชาวโรฮิงญาทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเป็นชาวบังคลาเทศที่ตั้งใจอพยพออกมาจากประเทศบ้านเกิดด้วยความสมัครใจ ทั้งเดินทางออกมาหางานทำ หรือตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม จึงยังไม่ถือว่าถูกหลอกลวง หรือมีความผิดจากการถูกหลอกฐานค้ามนุษย์ และเรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั้งที่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ในคาบมหาสมุทรอินเดียจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข
บรรยายภาพ
ภาพที่ 1 ชาวโรฮีนจาถูกนำมาควบคุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง พังงา
ภาพที่ 2 ภาพกราฟิก เส้นทางค้าชีวิต "โรฮิงญา" จาก มติชนรายวัน
ภาพที่ 3 ชาวโรฮีนจาถูกนำตัวมาที่ศาลาประชาคม ตะกั่วป่า