- Home
- South
- สถิติย้อนหลัง
- เปิดตัวเลขผู้อพยพโรฮิงญาจากทุกมุมโลก
เปิดตัวเลขผู้อพยพโรฮิงญาจากทุกมุมโลก
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ยืนยันชัดเจนว่า การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาด้วยการล่องเรือออกจากค็อกบาซา ประเทศบังคลาเทศนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ หรือแม้แต่ปี 2558 ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน
การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่มีนัยทางความมั่นคงจนถูกประเทศต่างๆ จับตามอง เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2535 โดยชาวโรฮิงญาที่อพยพย้ายถิ่น มีทั้งจากรัฐยะไข่ หรืออาระกัน ประเทศเมียนมาร์ จากปัญหาการถูกกดขี่เพราะไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมือง กับชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น เนื่องจากเป็นประเทศยากจน มีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ เริ่มมีคนพื้นเมืองบังคลาเทศเองที่อพยพย้ายถิ่นออกมาเช่นกัน
การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาเริ่มมี "ขบวนการนำพา" เข้าไปเกี่ยวข้องและจัดระบบผลประโยชน์เมื่อราวปี 2552 ทำให้ประชากรชาวโรฮิงญาที่เดินทางล่องเรือออกจากเมืองซิตต่วย หรือ ชิตตะเว ของรัฐยะไข่ และค็อกบาซา ของบังคลาเทศ มีจำนวนมากขึ้น
แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นรุนแรงถึงขีดสุด คือ สงครามกลางเมืองในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2555 ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธพม่า กับมุสลิมโรฮิงญา ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย และชาวโรฮิงญาต้องไร้ถิ่นฐานหลายหมื่นคน
ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีการที่ใช้กันอยู่ คือ การล่องเรือออกจากค็อกบาซา ประเทศบังคลาเทศ โดยอาศัยหน้าที่ไม่มีมรสุม เส้นทางผ่านอ่าวเบงกอล สู่ทะเลอันดามัน ขึ้นฝั่งที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
หากจำแนกผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา มีทั้งชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ที่หนีภัยการสู้รบ และการอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กับชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศที่ไม่มีงานทำ และชาวบังคลาเทศเองที่ต้องการแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า
แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ คือ นโยบายรับแรงงานมุสลิมของมาเลเซีย ซึ่งเคยมีโควต้าสำหรับชาวโรฮิงญาเป็นการเฉพาะ ทำให้ชาวโรฮิงญานิยมเดินทางไปมาเลเซีย โดยใช้เส้นทางเรือ ขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย แล้วอาศัยขบวนการนำพา ส่งเข้ามาเลเซีย หรืออาจต่อไปอินโดนีเซีย
จากไทม์ไลน์การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาตลอดหลายสิบปีดังกล่าว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกถูกชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองเพื่อไปหางานทำ บางส่วนถูกจับกุม คุมขัง และไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้
ข้อมูลจากสมาคมชาวโรฮิงญา ระบุว่า ประเทศที่มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมาก มีอยู่หลายประเทศในหลายทวีป เช่น ซาอุดิอาระเบีย ราว 400,000 คน, หลายประเทศในตะวันออกกลาง, เนปาล ซึ่งใช้การเดินเท้าจากบังคลาเทศและรัฐยะไข่, แคนาดาและสหรัฐอเมริกา ราว 1,000 คน, อินโดนีเซีย 1,200 คน, มาเลเซีย 40,000 คน, อินเดีย 30,000 คน, ปากีสถาน 200,000 คน และไทย 100,000 คน
นอกจากนั้นยังมีประเทศที่ถือเป็นต้นทางของชาวโรฮิงญา คือ เมียนมาร์ ประมาณการณ์ว่าปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาอยู่ราวๆ 800,000 ถึง 1,500,000 คน และบังคลาเทศ 300,000 คน
มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงของไทยด้วยว่า ในการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย วันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายความมั่นคงได้เสนอรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนว่าปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นปัญหาของไทยประเทศเดียว แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน โดยผู้อพยพชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่ได้หนีภัยการสู้รบ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสในทางเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
สรุปยอดผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาทั่วโลก (ทั้งในและนอกค่ายอพยพ)
1.เมียนมาร์ 800,000 - 1,500,000 คน
2.ซาอุดีอาระเบีย 400,000 คน
3.บังกลาเทศ 300,000 คน
4.ปากีสถาน 200,000 คน
5.ไทย 100,000 คน
6.มาเลเซีย 40,000 คน
7.อินเดีย 30,000 คน
8.อินโดนีเซีย 1,200 คน
9.สหรัฐอเมริกา/แคนาดา 1,000 คน
เมียนมาร์ร่วมวงถกวิกฤติผู้อพยพ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เมียนมาร์ว่า เมียนมาร์จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมฉุกเฉินเพื่อแก้วิกฤติผู้อพยพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่ได้ระบุรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมที่ชัดเจน
นายซอ เท เจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบประธานาธิบดีเมียนมาร์ ระบุในแถลงการณ์ว่า เมียนมาร์พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผ่านการตกลงกันอย่างสร้างสรรค์และอยู่บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรม แต่การเข้าร่วมประชุมไม่ได้หมายความว่าเมียนมาร์เป็นผู้รับผิดชอบกับวิกฤติที่เกิดขึ้นเพียงผู้เดียว หรือหมายความว่าเมียนมาร์ยอมใช้คำว่าโรฮิงญา ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลเมียนมาร์
มาเลย์-อินโดฯยอมรับโรฮิงญาขึ้นฝั่ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม รัฐมนตรีต่างประเทศจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ร่วมประชุมฉุกเฉิน 3 ฝ่ายที่ปุตราจายาของมาเลเซีย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่กำลังส่งกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาค ท่ามกลางการเข้าร่วมสังเกตการณ์ของตัวแทนจากหน่วยงานของสหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่างๆ
หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอะนีฟะห์ อะมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย และ นางเรทโน่ มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศจะไม่ผลักดันเรือผู้อพยพอีก พร้อมยื่นข้อเสนอให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ยังติดค้างบนเรือประมงที่ลอยลำอยู่กลางทะเล โดยมีเงื่อนไขว่าประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันดำเนินการส่งผู้อพยพกลับประเทศต้นทางภายใน 1 ปี และที่พักพิงชั่วคราวเหล่านี้มีให้เฉพาะคนที่อยู่ในทะเลตอนนี้เท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยข่าวกรองมาเลเซียพบว่า จำนวนผู้อพยพที่ยังติดอยู่กลางทะเลขณะนี้มีประมาณ 7,000 คน
ขณะที่ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไม่ได้เข้าร่วมในการแถลงข่าว แต่ขอกลับไปตรวจสอบดูก่อนว่าการดำเนินการเช่นนี้จะขัดต่อหลักกฎหมายของไทยหรือไม่
ท่าทีดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกในการแก้วิกฤตผู้อพยพ หลังจากก่อนหน้านี้ หลายชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลักดันเรือผู้อพยพไม่ให้ขึ้นฝั่ง จนถูกกระแสกดดันและถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกตำหนิอย่างรุนแรง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เรือโรฮิงญา (ภาพจากกรุ๊ปไลน์เจ้าหน้าที่ภาคใต้)