เอกชนผ่านรายเดียวตามคาด! รฟท.ประกาศผลประมูลไอซีดี4หมื่นล.ซองเทคนิค
เป็นไปตามคาด! รฟท.ประกาศสอบประมูลไอซีดี4หมื่นล.ซอง2 ด้านเทคนิคแล้ว เผยชื่อ เอกชนผ่านการพิจารณารายเดียว ตามข้อมูลที่ถูกร้องเรียนถึง บิ๊กตู่ ก่อนหน้านี้ นัดเปิดซอง 3 ต่อ 11 ม.ค.60 นี้
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุแยกสินค้ากล้อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง วงเงินในโครงการรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ได้ออกประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค หรือซองที่ 2 ปรากฎว่า กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ผ่านการพิจารณา และมีมติกำหนดให้ทำการเปิดซองข้อเสนอด้านราคา หรือ ซองที่ 3 ของ กิจการร่วมค่า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ในวันที่ 11 ม.ค.2560 เวลา 15.00 น. (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการนี้ แบ่งเป็น 3 ซอง คือ ซองที่ 1 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และ ซองที่ 3 ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ โดยคณะกรรมการฯ จะเปิดซองพิจารณา และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นคราวละซอง ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนฯ มีผู้ร่วมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนทั้งหมด 3 ราย คือ 1.บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด 2.กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ 3.กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา นายสุเทพ ตระนันทสิน ผู้รับมอบอำนาจ กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอสโซซิเอทส์ หนึ่งในเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดราคาโครงการฯ นี้ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสในขั้นตอนการประกวดราคา
ระบุว่า ภายหลังจากที่ รฟท. ได้ออกประกาศสรรหาผู้ร่วมลงทุนโครงการนี้ ช่วงกลางเดือนมิ.ย.2558 มีเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอการลงทุน จำนวน 3 ราย คือ บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด , กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ และ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) แต่เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2558 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังจากมีการร้องเรียนปัญหาในขั้นตอนการประกวดราคา
ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองดังกล่าว รฟท.จึงเริ่มเดินหน้าขั้นตอนประกวดราคาต่อ โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 คณะกรรมการฯ ได้ ประกาศผลการพิจารณาในซองที่ 1 และมีมติให้ผู้เสนอราคาทั้ง 3 รายผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไข แต่มิได้ดำเนินการเปิดซองที่2 ต่อ โดยให้เหตุผลการเลื่อนว่า มีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติบางประการตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวน จำเป็นต้องขอรับความเห็นและคำวินิจฉัยจากสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายก่อน
โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 รฟท. ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการ สคร.เพื่อขอหารือแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ใน 3 ประเด็น คือ 1. กรณีที่มีผู้ผ่านข้อเสนอเทคนิคเพียงรายเดียว จะถือว่าเป็นการมีผู้เสนอรายเดียวตามกฎหมาย พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนฯ หรือไม่ 2. เนื่องจากทางคณะกรรมการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนทุกรายชำระผลประโยชน์ตอบแทนต่อรฟท. ในอัตราคงที่และปรับเพิ่มทุน 5 ปีตลอดอายุสัญญา ซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอค่าบริการต่ำที่สุด ซึ่งเป็นการให้ประโยชน์กับรัฐและผู้ใช้บริการ แทนการเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้รัฐ โดยทางคณะกรรมการจะพิจารณาให้คะแนนการเสนอราคาค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเป็นเกณฑ์ตัดสินใจการพิจารณาคัดเลือกให้ผู้ร่วมลงทุนรายไใดได้รับคัดเลือก ซึ่งถือว่าสอดกับเงื่อนไขของประกาศ สคร.เรื่อง รายละเอียดประกาศเชิญชวนเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก การกำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา พ.ศ.2558 หรือไม่
3. กรณีที่ผ่านข้อเสนอเทคนิคเพียงรายเดียว คณะกรรมการยังสามารถพิจารณาประเด็นที่ว่ารัฐจะได้ประโยชน์ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ได้อีกหรือไม่ ถ้าสามารถพิจารณาได้ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเด็นดังกล่าวอย่างไรเพื่อให้รัฐและผู้ใช้บริการได้รับโยชน์สูงสุด
เบื้องต้น ทาง สคร. ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือฯ ระบุว่า 1.ในกรณีที่มีผู้ยื่นเสนอเพียงรายเดียวหรือหลายราย และมีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียวและคณะกรรมการคัดเลือก เห็นว่า รัฐจะได้ประโยชน์ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ต่อไปได้ตามมาตรา 39 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงควรพิจารณาว่า เอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอมีความครบถ้วนถูกต้องตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ หรือไม่ก่อนการพิจารณาประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ
2. คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 36 (1) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอในแง่ของผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับทั้งในรูปของตัวเงิน และโยชน์อื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประกาศ สคร. อนึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ควรมุ่งเน้นให้การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 ด้วย
3.สำหรับกรณีที่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว ทาง สคร. ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวตามข้างต้น
และทางสคร.ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ "คณะกรรมการคัดเลือกควรพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการของการให้เอกชนร่วมลงทนในกิจการของรัฐตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างเอกชนที่ประสงค์จะร่วมลงทุน"
เอกชนรายนี้ ยังระบุในหนังสือข้อร้องเรียน ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ปัจจุบันเวลาผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว รฟท. ยังไม่ได้มีหนังสือหรือประกาศแจ้งความคืบหน้าการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนตามขั้นตอน ขณะที่ในหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงในกิจการของรัฐ ที่ส่งถึง สคร. นั้นแสดง ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส ในการพิจารณข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในข้อเสนอด้านเทคนิคเพียงรายเดียว และให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการสรรหาเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่คำนึงถึงข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมที่ประเทศชาติจะได้รับในอนาคต ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาผลการคัดเลือกซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอต่ำที่สุดเพื่อเป็นการให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและผู้ใช้บริการ (ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก)
โดยหากทำการเปิดซองข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ (ซองที่ 3) ผู้ยื่นทุกรายก็จะเป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้ส่งออกและนำเข้า มีต้นทุนที่ลดลงทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการร้องเรียนต่อ คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ โดยหากเกิดการร้องเรียนขึ้นจะทำให้เกิดความล่าช้าต่อการประกาศผลการคัดเลือกและทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์
(อ่านประกอบ : ร้อง 'บิ๊กตู่' สอบประมูลไอซีดี- รฟท. 4หมื่นล.!เอกชนชี้ขัดหลักเกณฑ์เลือกผู้เสนอราคา )
ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีเอกชนรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา โดยยืนยันว่า ได้ยินข้อมูลจากคนในรฟท.ว่า มีเอกชนบางราย พยายามวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจให้ได้รับงานนี้ โดยยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินตอบแทนแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจ เป็นวงเงินสูงกว่า 300 ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการระบุชื่อว่าเป็นเอกชนรายใด
" หลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว เรารู้สึกไม่สบายใจ และอยากเรียกร้องให้ หน่วยงานตรวจสอบ หรือ ผู้มีอำนาจกำกับดูแล รฟท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยด่วน ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เพื่อให้เอกชนที่เข้าร่วมการเสนองานโครงการนี้ มั่นใจว่า ผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมงาน มีความโปร่งใส่และเป็นธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ"แหล่งข่าวระบุ
(อ่านประกอบ: ปูดจ่ายเงินวิ่งเต้น300ล.! เอกชนร้องสอบโครงการบริหารสถานีไอซีดี รฟท.หมื่นล., , เปิดปมปัญหาสถานีไอซีดีรฟท.4 หมื่นล.-ก่อนโดนปูดเงินวิ่งเต้นหล่น 300 ล.)