- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดปมปัญหาสถานีไอซีดีรฟท.4 หมื่นล.-ก่อนโดนปูดเงินวิ่งเต้นหล่น 300 ล.
เปิดปมปัญหาสถานีไอซีดีรฟท.4 หมื่นล.-ก่อนโดนปูดเงินวิ่งเต้นหล่น 300 ล.
".. หลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว เรารู้สึกไม่สบายใจ และอยากเรียกร้องให้ หน่วยงานตรวจสอบ หรือ ผู้มีอำนาจกำกับดูแล รฟท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยด่วน ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เพื่อให้เอกชนที่เข้าร่วมการเสนองานโครงการนี้ มั่นใจว่า ผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมงาน มีความโปร่งใส่และเป็นธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ.."
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลที่มีการระบุว่า มีเอกชนบางรายพยายามวิ่งเต้นผู้มีอำนาจให้ได้รับงานโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยยื่นข้อเสนอให้เงินตอบแทนเป็นวงเงินสูงกว่า 300 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิสัมปทานในการบริหารงานโครงการนี้ เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ผลตอบแทนมูลค่า 1.6 พันล้านบาทต่อปี ส่วน รฟท. ได้รับเงินตอบแทน เป็นจำนวนเงิน 500 ล้านต่อปี คิดเป็นวงเงินที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
จะเป็นจริงตามที่ เอกชนรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมการประกวดราคาโครงการนี้ กล่าวอ้างจริงหรือไม่
(อ่านประกอบ :ปูดจ่ายเงินวิ่งเต้น300ล.! เอกชนร้องสอบโครงการบริหารสถานีไอซีดี รฟท.หมื่นล.)
แต่ข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการนี้ คือ การดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาประสบปัญหาในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้ามารับงานเกิดขึ้นจริง
ไล่เลี่ยงข้อมูลให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ดังนี้
จุดเริ่มต้น
โครงการนี้ เริ่มต้นเป็นทางการภายหลังจากที่ รฟท. ได้มีประกาศเลขที่ คน.1/213/2558 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เรื่อง การสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยให้ผู้สนใจจะเข้ายื่นข้อเสนอสามารถติดต่อขอซื้อเอกสารการร่วมลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถึง 14 สิงหาคม 2558
ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนั้นแบ่งเป็น 3 ซองด้วยกัน กล่าวคือ 1.คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ 2.ข้อเสนอด้านเทคนิค 3.ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ
โดยคณะกรรมการจะทำเปิดซอง พิจารณา และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นคราวละซอง ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนจะต้องยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯต่อคณะกรรมการรับซองข้อเสนอร่วมลงทุนในวันที่ 15 กันยายน 2558
จุดเกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการประกวดราคาเพื่อสรรหาเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง หลังจากที่มีเอกชนไปยื่นเรื่องร้องเรียน ส่งผลทำให้ รฟท.ต้องหยุดดำเนินการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประกาศเชิญชวนฯ
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกเลิกคุ้มครอง ทาง รฟท. จึงมีหนังสือแจ้งแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 22 เมษายน 2559 โดยกำหนดวันยื่นซองข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ซึ่งมีผู้ร่วมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนทั้งหมด 3 ราย คือ 1.บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด 2.กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ 3.กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย)
โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ทางคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเป็นผู้ประกอบสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ได้ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอฯ ในซองที่ 1 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยมีมติให้ผู้ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 3 รายผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่น ซึ่งตามประกาศแจ้งว่าคณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองหรือกล่องที่ 2) ในวันที่ 14 มิถุนายน 2559
ต่อมา วันที่ 28 มิถุนายน 2559 รฟท.ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ร่วมยื่นข้อเสนอฯ ทุกราย เรื่อง เลื่อนการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ จากเดิมตามประกาศเชิญชวน คน.1/213/2558 คณะกรรมการคัดเลือกจะประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ภายในเวลา 45 วัน นับจากวันที่ยื่นข้อเสนอ ทั้งนี้คือวันที่ 30 มิถุนายน 2559
โดยชี้แจงถึงเหตุผลถึงการเลื่อนประกาศผลการประเมินว่าเนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก ทำให้มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาในหลายประเด็น ทางคณะกรรมการจึงไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เป็นเลื่อนออกจากเดิมอีก 64 วัน ซึ่งคือวันที่ 2 กันยายน 2559
ก่อนที่ในช่วงเวลาต่อมาผู้ร่วมยื่นข้อเสนอฯ จะได้รับหนังสือจาก รฟท. เรื่อง เลื่อนการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ (ครั้งที่ 2) ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2559
โดยชี้แจงถึงเหตุผลที่เลื่อนประกาศผลว่า “เนื่องจากมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติบางประการตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวนจำเป็นต้องขอรับความเห็นและคำวินิจฉัยจากสำนักงานคณะกรรมการัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการตามเงื่อนไขประกาศเชิญชวนฯ เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการจึงไม่อาจพิจารณาผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามที่ประกาศไว้ตามประกาศลงวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ได้ กรณีมีเหตุจำเป็นคณะกรรมการคัดเลือกจึงให้เลื่อนการประกาศผลการประเมิน ข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ออกไปจนกว่าจะได้รับความเห็นและคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น จากสำนักคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะกรรมการจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง”
จากนั้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง หารือแนวทางการปฏิบัติตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยมี 3 ประเด็นคือ
1.กรณีที่มีผู้ผ่านข้อเสนอเทคนิคเพียงรายเดียว จะถือว่าเป็นการมีผู้เสนอรายเดียวตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือไม่
2.เนื่องจากทางคณะกรรมการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกให้ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนทุกรายชำระผลประโยชน์ตอบแทนต่อการไฟฟ้าฯ ในอัตราคงที่และปรับเพิ่มทุก 5 ปีตลอดอายุสัญญา ซึ่งจะคัดเลือกจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอค่าบริการต่ำที่สุด ซึ่งเป็นการให้ประโยชน์กับรัฐและผู้ใช้บริการ แทนการเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้รัฐ โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจาณาให้คะแนนการเสนอราคาค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการพิจารณาคัดเลือกให้ผู้ร่วมลงทุนรายใดได้รับคัดเลือก รายละเอียดตามข้อ 23.4 แห่งประกาศเชิญชวนฯ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อ 4.(8) ของประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง รายละเอียดประกาศเชิญชวนเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก การกำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา พ.ศ.2558 หรือมไม่
3.กรณีที่ผ่านข้อเสนอเทคนิคเพียงรายเดียว คณะกรรมการฯยังสามารถพิจารณาประเด็นที่ว่ารัฐจะได้ประโยชน์ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ได้อีกหรือไม่ ถ้าสามารถพิจารณาได้ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเด็นดังกล่าวอย่างไรเพื่อให้รัฐและผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด
ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (“สคร.”) ได้ส่งหนังสือกลับไปการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ตอบข้อหารือแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา
โดยมีเนื้อความว่า
1.ในกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวหรือหลายราย และมีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตามรายการในเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียวและคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ในปี 2556 เห็นว่า รัฐจะได้ประโยชน์ ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ต่อไปได้ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงควรพิจารณาว่า เอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอมีความครบถ้วนถูกต้องตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ หรือไม่ก่อนการพิจารณาประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ
2.คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 36 (1) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอในแง่ของผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับทั้งในรูปของตัวเงินและประโยชน์อื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประกาศ สคร. อนึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ควรมุ่งเน้นให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ด้วย
3.สำหรับกรณีที่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว ทาง สคร.ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวตามข้างต้น
และทาง สคร. ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ “คณะกรรมการคัดเลือกฯควรพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างเอกชนที่ประสงค์จะร่วมลงทุน”
หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันทาง รฟท. ก็ไม่ได้มีหนังสือหรือประกาศแจ้งถึงความคืบหน้าของการประกาศผลการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ อีกเลยนับตั้งแต่ประกาศเลื่อนผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 และจากเหตุผลที่ทาง รฟท. ชี้แจงในการเลื่อนประกาศผลครั้งล่าสุด รวมถึงหนังสือหารือแนวทางการปฏิบัติตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่ รฟท. ได้ส่งถึง สคร. นั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใสในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในข้อเสนอด้านเทคนิคเพียงรายเดียวและให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง โดยไม่คำนึงถึงข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วมที่ประเทศชาติจะได้รับในอนาคต
ขณะล่าสุด มีเอกชนรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา โดยยืนยันว่า ได้ยินข้อมูลจากคนในรฟท.ว่า มีเอกชนบางราย พยายามวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจให้ได้รับงานนี้ โดยยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินตอบแทนแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจ เป็นวงเงินสูงกว่า 300 ล้านบาท
" หลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว เรารู้สึกไม่สบายใจ และอยากเรียกร้องให้ หน่วยงานตรวจสอบ หรือ ผู้มีอำนาจกำกับดูแล รฟท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยด่วน ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เพื่อให้เอกชนที่เข้าร่วมการเสนองานโครงการนี้ มั่นใจว่า ผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมงาน มีความโปร่งใส่และเป็นธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ"แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ คือ ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับโครงการ สรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของ รฟท. ที่กำลังถูกจับตามองในเวลานี้
และเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหาร รฟท. ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบโดยเร็วที่สุด