- Home
- Isranews
- ข่าว
- สตง.โชว์ตัวเลขม.รัฐ รับงานที่ปรึกษา1.4หมื่นล.! ชงบิ๊กตู่ ชะลอ ชี้กระทบการสอน-ขัดมติครม.
สตง.โชว์ตัวเลขม.รัฐ รับงานที่ปรึกษา1.4หมื่นล.! ชงบิ๊กตู่ ชะลอ ชี้กระทบการสอน-ขัดมติครม.
สตง.โชว์ตัวเลข 'ม.รัฐ' รับงานที่ปรึกษา ปี 55-59 เบ็ดเสร็จ 4,219 โครงการ วงเงิน 14,027.14 ล้าน ชง 'พล.อ.ประยุทธ์' พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา หวั่นส่งผลกระทบต่อการสอน ไม่เป็นไปตามมติ ครม.
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข้อมูลว่า ในช่วงปลายเดือนต.ค.2559 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนมากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การศึกษาปัญหามหาวิทยาลัยรัฐแย่งงานเอกชน ระบุสาระสำคัญว่า สตง. ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนในเรื่องข้างต้น จึงได้ศึกษาปัญหาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยรัฐ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโดยไม่มีใบอนุญาตวิศวกรควบคุม และการรับงานที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาจารย์ โดยเฉพาะการสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น
(อ่านประกอบ : สตง.ชง บิ๊กตู่ เคลียร์ปมเอกชนร้องม.รัฐ แย่งงานวิศวะฯ-ที่ปรึกษา!ไม่มีใบอนุญาต)
แหล่งข่าวจากสตง.เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ปัจจุบันหนังสือสตง.ฉบับนี้ ถูกนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาเป็นทางการแล้ว โดยในหนังสือฉบับเต็ม สตง.ได้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบกรณีมหาวิทยาลัยของรัฐ หลายแห่งเข้าไปรับงานเป็นที่ปรึกษา นับตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่า มีจำนวนรวม 4,219 โครงการ วงเงินตามสัญญา 14,027.14 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการศึกษา สตง.พบว่า กระทรวงการคลัง โดยศูนย์ที่ปรึกษาไทยได้กำหนดมาตรฐานในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของที่ปรึกษา สรุปได้ว่า ระยะเวลาในการทำงานของที่ปรึกษาแต่ละคนโดยทั่วไปจะคำนวณ เป็นจำนวน-คน-เดือน ซึ่งหมายถึงจำนวนวันทำงาน (วันจันทร์-ศุกร์) ของเดือนนั้นๆ โดยเฉลี่ยเท่ากับ 22 วัน /เดือน และจำนวนชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน สำหรับบุคลากรที่ทำงานแบบเต็มเวลา จะทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ พ.ศ.2558 ระบุไว้ว่า "ต้องมีภาระงานทางวิชาการ ประกอบด้วย การสอน การวิจัย การบริการการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และงานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง (หรือ 7 ชั่วโมง/วัน)
ดังนั้น ในแต่ละวันอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐที่รับงานที่ปรึกษา จะต้องมีภาระงานวิชาการตามที่ ก.พ.อ. กำหนดจำนวน 7 ชั่วโมง/วัน และต้องใช้เวลาการทำงานเป็นที่ปรึกษาตามมาตรฐานของกระทรวงการคลังอีกวันละ 8 ชั่วโมง/วัน รวม 15 ชั่วโมง/วัน ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยของรัฐรับงานที่ปรึกษาโครงการจำนวนมาก และอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐดังกล่าว ต้องมีภาระทำงานวิชาการและงานที่ปรึกษารวมวันละ 15 ชั่วโมง/วัน อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาจารย์ โดยเฉพาะการสอนซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
สำหรับข้อมูลการตรวจสอบอื่นๆ นั้น เป็นไปตามที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยจากการศึกษาของ สตง. พบว่า ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง รับงานที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยไม่มีใบอนุญาตวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล ซึ่งปัญหาดังกล่าวสภาวิศวกรได้เสนอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่าน รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร เพื่อตีความการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร กับสถาบันการศึกษาในกรณีการรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ได้มีหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อพิจารณาสั่งการให้สถาบันศึกษาของรัฐในสังกัด ชะลอการรับงานที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ในระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 และหนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 24 มิ.ย. 2553 อย่างเคร่งครัด และเพื่อให้การบริการด้านวิชาการและการวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเอกชน รวมทั้ง การดำเนินการโครงการของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า
สตง. จึงขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐชะลอการว่าจ้างมหาวิทยาลัยรัฐที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยในการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย และ โปรดแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบ เพื่อประกอบการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่อไป
ขณะที่ข้อมูลการขึ้นทะเบียนการเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ด้วยว่า ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2559 มีมหาวิทยาลัยรัฐที่รับงานที่ปรึกษาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ จำนวน 18 แห่ง รวมจำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท