สตง.ชง บิ๊กตู่ เคลียร์ปมเอกชนร้องม.รัฐ แย่งงานวิศวะฯ-ที่ปรึกษา!ไม่มีใบอนุญาต
ผู้ว่าฯ สตง. ทำหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ เคลียร์ปม ‘เอกชน' ร้อง ม.รัฐ แย่งงาน หลังศึกษาปัญหา พบประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตวิศวะฯ ส่วนการรับงานที่ปรึกษา อาจกระทบการสอนอาจารย์ ขณะที่ 18 แห่ง ไม่ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทยกับ ก.คลัง ระบุชัด 200 โครงการ 334.46 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนมากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การศึกษาปัญหามหาวิทยาลัยรัฐแย่งงานเอกชน ระบุสาระสำคัญว่า
สตง. ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนในเรื่องข้างต้น จึงได้ศึกษาปัญหาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยรัฐ ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโดยไม่มีใบอนุญาตวิศวกรควบคุม และการรับงานที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาจารย์ โดยเฉพาะการสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยจากการศึกษาพบว่า ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง รับงานที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยไม่มีใบอนุญาตวิศวกรรมควบคุม ประเภทนิติบุคคล ซึ่งปัญหาดังกล่าวสภาวิศวกรได้เสนอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่าน รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาวิศวกร เพื่อตีความการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร กับสถาบันการศึกษาในกรณีการรับงานที่เข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ได้มีหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อพิจารณาสั่งการให้สถาบันศึกษาของรัฐในสังกัด ชะลอการรับงานที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ในระหว่างรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติ ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 และหนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 24 มิ.ย. 2553 อย่างเคร่งครัด และเพื่อให้การบริการด้านวิชาการและการวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเอกชน รวมทั้ง การดำเนินการโครงการของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า
สตง. จึงขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐชะลอการว่าจ้างมหาวิทยาลัยรัฐที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยในการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย และ โปรดแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบ เพื่อประกอบการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือดังกล่าวระบุ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนการเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ด้วยว่า ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2559 มีมหาวิทยาลัยรัฐที่รับงานที่ปรึกษาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ จำนวน 18 แห่ง รวมจำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ปรึกษาคือ ผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งอาจเป็นรายบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างสูง และมีความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ และความสามารถให้บริการที่ปรึกษา และเสนอแนะความรู้ทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ อาทิ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เศรษฐศาสตร์ สังคม และการเมือง ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนโดยพิจารณาด้านเทคนิค เศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม การศึกษาสำรวจ และออกแบบในรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และการวางแผน และควบคุมการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานหลาย ๆ ด้าน โดยจำเป็นต้องใช้วิศวกรที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางเทคนิค วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหาร เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อหาวิธีการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ว่าจ้าง (อ้างอิงจาก http://www.thaiconsult.pdmo.go.th/12)