- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จิตสำนึกใหม่
- ไขคำตอบ รัฐสภาใหม่ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ออกแบบคล้ายวัด ช่วยลดโกงจริงหรือ?
ไขคำตอบ รัฐสภาใหม่ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ออกแบบคล้ายวัด ช่วยลดโกงจริงหรือ?
ทีมสงบ 1051 ไขคำตอบผ่านเวทีงานสถาปนิกสยาม ครั้งที่ 59 ออกเเบบรัฐสภา 'สัปปายะสภาสถาน' คล้ายวัด ช่วยนักการเมืองไม่โกงจริงหรือ? หวังสร้างเสร็จเป็นสถานประกอบกรรมดี เปรียบดังห้องพระของชาติ
คุณรู้ไหมประเทศกำลังมีรัฐสภาแห่งใหม่?
เชื่อว่าคนไทยหลายคนรับรู้รับทราบ รัฐสภาแห่งใหม่ มีชื่อว่า ‘สัปปายะสภาสถาน’ ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ ถ.ทหาร (เกียกกาย) กว่า 100 ไร่ มีสถาบันอาศรมศิลป์ ‘ทีมสงบ 1051’ เป็นผู้ชนะการประกวดออกแบบ จากผู้เข้าประกวดทั้งสิ้น 133 ทีม
ถือเป็นการประกวดครั้งยิ่งใหญ่สุดของวงการสถาปนิกไทย
แม้การก่อสร้างที่ผ่านมาจะมีปัญหาอุปสรรคนานัปการ เช่น การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าเงื่อนไขสัญญา การบริหารจัดการที่ดินที่ขุดจากการก่อสร้างไม่เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันมีความคืบหน้าเฉพาะชั้นฐานรากจนถึงชั้น 1 เท่านั้น
คาดกันว่า จะก่อสร้างรัฐสภาใหม่แห่งนี้ เสร็จในปี 2562
ความสำเร็จในอนาคตที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่า รัฐสภาแห่งนี้จะกลายเป็น ‘สถานประกอบกรรมดี’ ที่มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์แห่งหนึ่งของโลก
ทว่า การออกแบบให้เหมือนวัด โดยจำลองมาจากเขาพระสุเมรุ ตามหลักไตรภูมิ ผสมผสานรากเหง้าความเป็นไทย เกิดคำถามขึ้นว่า จะทำให้นักการเมืองที่พาเหรดเดินเข้าสภา ‘ไม่โกง’ ได้จริงหรือไม่? ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทยทุกวันนี้
มีคำตอบจากงานสถาปนิกสยาม’59:BACK TO BASIC ในเวที ‘10 เหตุผลว่าทำไมถึงออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ให้เป็นเหมือนวัด’ ณ ห้องฟินิกซ์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดจบไปแล้วเมื่อไม่กี่วันนี้
หนึ่งในทีมสงบ 1051 อย่าง ‘ชาตรี ลดาลลิตสกุล’ หรือ โหน่ง อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบสัปปายะสภาสถานนำมาจากความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ซึ่งเป็นมายาคติของชนชั้นปกครองใช้มอมเมาประชาชน โดยยอมรับทุกวันนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนรุ่นใหม่ว่า ข้อเสนอจะต้องมีศีลธรรมนั้น เป็นการนำมุกเก่าของผู้ปกครองกลับมาใหม่เท่านั้น
...ถึงกับมีคำถามมาถึงทีมออกแบบว่า เรารับใช้ใคร เป็นเครื่องมือของใคร และรู้ตัวหรือไม่ ซึ่งยืนยันในประเด็นเหล่านี้ พวกเรารู้ตัวดี... เพียงแต่วิธีคิดของเราเวลาตอบเรื่องหลักประชาธิปไตย คนบางกลุ่มจะให้ความสำคัญความคิดที่เป็นสากล เช่น ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของอำนาจ ความเสมอภาค
แต่ข้อเท็จจริงของเรา คือ ให้ความสำคัญอำนาจประชาชนกับอำนาจทางศีลธรรม
“คนไทยศรัทธาในหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาก อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อไม่ว่าระบอบการปกครองแบบใด ประชาธิปไตย เผด็จการ สังคมนิยม จะไปไม่ถึงไหน หากทุกคนไม่มีศีลธรรม” เขามองว่า หลักศีลธรรมจึงเป็นวิธีคิดยั่งยืน แต่กระแสความคิดนี้เมื่อต้องต่อสู้กับระบบการเมืองปัจจุบัน จะมีคนจำนวนหนึ่งต่อต้าน
ทั้งนี้ กระบวนการทำงานของทีมที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย และแนวคิด โดยตั้งหัวข้อว่า “รัฐสภาในฝัน” เปิดให้มีการเสนอเพื่อประชันกัน จนได้ข้อสรุป สถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาตินี้จะต้องสื่อถึงความเป็นชาติ ต้องเรียบง่าย ทรงพลัง และจิตวิญญาณ
‘ศาสนา’ ถูกให้ความสำคัญในช่วงท้ายมาก ต้องสื่อได้ถึงความสงบและสง่างาม ‘พระมหากษัตริย์’ มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย โดยออกแบบห้องโถงรัฐพิธีอย่างเหมาะสม และต้องทำให้ ‘ประชาชน’ มีศักดิ์ศรีและศรัทธาแห่งความดี
ขณะที่ ‘ผู้แทนผู้ปกครอง’ ต้องมีสติ สุขกายสุขใจ
“คนชอบตั้งคำถาม การออกแบบจะช่วยเปลี่ยนนักการเมืองไม่โกงได้จริงหรือ?”
เขา ยืนยันชัดว่า คงไม่ได้ แต่เชื่อว่า จะให้สติได้
"ฉันใดก็ฉันนั้น สถาปัตยกรรมที่สื่อถึงประชาธิปไตยหลายแห่งก็ไม่เคยทำให้ประเทศมีประชาธิปไตยดีขึ้น"
ในฐานะที่เป็นสถาปนิก เขาบอกถึงสิ่งที่ทีมคิดไปไกลกว่านั้น คือ ทำให้รัฐสภาแห่งใหม่เป็น ‘สถาปัตยกรรมกัลยาณมิตร’ โดยออกแบบให้ตอบโจทย์ความประหยัด ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม สุนทรียะ ทำอย่างไรให้รัฐสภาเป็นสถานประกอบกรรมดี ไม่ใช่ทำชั่ว
เปรียบไปก็เป็นดั่ง 'ห้องพระของชาติ'
“หนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของไทย ต้องสร้างวาทกรรมเรื่องการเมืองมีศีลธรรม รัฐสภาเป็นสถานประกอบกรรมดีของบ้านเมือง เพื่อประชาชนจะได้เลือกคนดีเข้าสภา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงคนทำงานในสถานที่แห่งนี้ได้” เขาระบุ
นอกจากการออกแบบสัปปายะสภาสถานเหมือนวัดแล้ว ยังมีเรื่อง ‘ความใหญ่โต’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยจำเป็นต้องมีรัฐสภาที่กว้างใหญ่ขนาดนี้หรือไม่?
ด้าน ‘บุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์’ สถาปนิก บริษัท แปลน แอสโซซิเอทส์ หนึ่งในผู้ร่วมทีมสงบ 1051 หยิบยกองค์ประกอบโครงการขึ้นมาแจกแจงเป็นฉาก ๆ ว่า รัฐสภาในปัจจุบันทำหน้าที่เพียงห้องประชุม ส่วนสำนักงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรืออื่น ๆ ซึ่งมีข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ราว 5,000 คน ต้องเช่าพื้นที่อื่นแทน จึงกลายเป็นปัญหาว่า ทำให้การสนับสนุนระบบเอกสารต่าง ๆ ขาดประสิทธิภาพ
ยังไม่นับรวม การจัดงานสัมมนาต้องเช่าโรงแรมเพิ่ม สูญเสียงบประมาณ ฉะนั้น ต้องนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาตั้งอยู่ภายในอาคารเดียว เพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี
เมื่อถูกถามว่า รัฐสภาแห่งใหม่ใหญ่หรือไม่
เขาตอบว่า ความใหญ่เป็นความรู้สึก ควรมองความสอดคล้องต่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากกว่า เพราะสถานที่แห่งนี้มิได้เป็นเพียงห้องประชุมเท่านั้น แต่ยังมีสำนักงาน โรงพิมพ์ ห้องสัมมนา พิพิธภัณฑ์สถานีวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ จึงตอบไม่ได้ว่า ความจริงแล้วใหญ่หรือไม่
เมื่อดูงบประมาณก่อสร้าง 1.2 หมื่นล้านบาท ยืนยันไม่ฟุ่มเฟือย เพราะมีพื้นที่ใช้สอย 4.2 แสนตร.ม. และงบประมาณส่วนนี้รวมถึงค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าก่อสร้าง ระบบพิเศษอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในแง่ประสิทธิภาพพื้นที่ใช้สอย เฉพาะสำนักงาน โดยปกติแล้วการออกแบบเฉลี่ย 10 ตร.ม./คน แต่รัฐสภาเฉลี่ย 7.88 ตร.ม./คน ค่อนข้างแออัดด้วยซ้ำ จึงมั่นใจว่า จะไม่มีพื้นที่ใหญ่โล่งเกินความจำเป็น
กว่าจะตอกเสาเข็มเป็น ‘สัปปายะสภาสถาน’ ในวันนี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ นับตั้งแต่มีแนวคิดเมื่อปี 2535 เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะกลายเป็นอาคารสถาปัตยกรรมน้ำเพชรของไทยที่ควรค่าแก่การจดจำ เปรียบดังสถานประกอบกรรมดีของชาติที่ช่วยเตือนสติบรรดา ส.ส.และ ส.ว.ไม่คดโกง กัดกินสมบัติแผ่นดิน ส่วนจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก .