"ไทยพาณิชย์-สจล."บรรลุข้อตกลงเยียวยาความเสียหาย 1,500 ล.แบบมีเงื่อนไข
ไทยพาณิชย์-สจล. บรรลุข้อตกลง ให้เงินดูแลความเสียหายในกรอบวงเงิน 1,500 ล. -"วิชิต" ยัน ไม่ใช่เงินกู้-"โมไนย" แจงหากตร.ติดตามยึดทรัพย์มาได้ ต้องคืนให้ไทยพาณิชย์
วันที่ 27 ก.พ.58 เวลา 10.00-11.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และ นายโมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แถลงข่าวการบรรลุข้อตกลงร่วมกันต่อกรณีปัญหาการยักยอกเงินของ สจล.โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จะให้เงินดูแลความเสียหายในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท แก่ สจล. ตามมูลค่าความเสียหายที่ทาง สจล.ได้ประเมินไว้ แต่หากในที่สุด มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สจล. มีความเสียหายที่แท้จริงน้อยกว่าวงเงินข้างต้น สจล. จะจ่ายคืนส่วนต่างให้แก่ธนาคาร ทั้งนี้ การทำความตกลงข้างต้น ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้ทุจริต ซึ่งทั้ง 2 สถาบัน ต่างยืนยันการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล. ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทในครั้งนี้นั้น ธนาคารยึดหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม ซึ่งกรณีนี้ได้ปรากฎว่ามีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ธนาคารจึงแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ สจล. ธนาคารเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทั้ง 2 สถาบัน ทั้ง 2 สถาบันจึงเห็นพ้องกันให้ดำเนินการยุติเรื่องโดยเร็ว ส่วนเรื่องการเอาผิดตามกฎหมายก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทั้ง 2 สถาบัน พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดีที่สุดเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ด้านนายโมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันขอขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทั้ง สจล. และธนาคารไม่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นอีก โดยในส่วนของ สจล. แล้วต้องถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องรีบดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายวิชิตกล่าวว่า เงินจำนวนดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้ปล่อยกู้ สจล. แต่ให้เงินไปเพื่อดูแลความเสียหาย โดยถือว่า สจล. เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคาร เมื่อเขาไม่สบายใจ เราก็แสดงความรับผิดชอบ เป็นเงินที่ให้ สจล. ไป เมื่อถึงเวลา เมื่อท้ายสุด ถ้าความเสียหายไม่ถึง ส่วนขาดเขาก็คืนมา อาจจะมีเงินต้น มีดอกเบี้ยทบรวมอยู่ในเงินความเสียหายหมด เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เงินกู้
ด้านนายโมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล.กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบภายในของ สจล. ยังคงดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังไปนับแต่ปี พ.ศ.2551
ผู้สื่อข่าวถามว่า สจล.ได้รับเอกสารที่ได้จากธนาคารไทยพาณิชย์ครบถ้วนแล้วหรือยัง นายโมไนยกล่าวว่า ให้ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเมื่อบรรลุข้อตกลงวันนี้แล้ว ขอให้เป็นความรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากตนให้คำตอบในเรื่องนี้กลัวกระทบต่อรูปคดี
เมื่อถามถึงเงินที่ถูกยักยอกไปว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามยึดทรัพย์คืนมาได้ เงินส่วนนี้ต้องคืนให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ สจล. นายโมไนยกล่าวว่าต้องคืนให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์
อ่านประกอบ :
"ไทยพาณิชย์"ยอมชดเชยค่าเสียหาย"สจล."แล้ว-ออกแถลงการณ์ร่วม 27ก.พ.
คำถามที่ “สจล-ไทยพาณิชย์” ยังตอบไม่ได้ "ใคร" รับรองทรงกลดถอนเงิน?
"วิชิต"ออกโรงเอง ยันพร้อมร่วมมือสอบคดี สจล. ไม่มีนโยบายปกป้องคนทุจริต
แกะรอย"สจล.VSไทยพาณิชย์"ใครพูดจริง-เท็จ ปมไอ้โม่งฉากหลัง"ทรงกลด"