- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แกะรอย"สจล.VSไทยพาณิชย์"ใครพูดจริง-เท็จ ปมไอ้โม่งฉากหลัง"ทรงกลด"
แกะรอย"สจล.VSไทยพาณิชย์"ใครพูดจริง-เท็จ ปมไอ้โม่งฉากหลัง"ทรงกลด"
"..ไทยพาณิชย์ ยืนยันว่า การถอนเงินและให้ลูกค้าทำรายการย้อนหลังได้ เป็นขั้นตอนปกติที่สามารถทำได้ ธนาคารอื่นทั่วไปก็ใช้กัน ..คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อเป็นการกระทำตามขั้นตอนปกติ และภายหลังจากที่เรื่องนี้ถูกตรวจสอบพบ ทางธนาคารได้ส่งตัวแทนไปยืนยันยอดกับผู้บริหารสจล.แล้ว ได้รับการยืนยันว่าเป็นยอดที่ถูกต้องแล้วทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องหาทางเจรจาให้นายทรงกลด ออกไปจากธนาคารด้วย?.."
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข้อมูลข่าวสารคดียักยอกเงิน จำนวน 1,600 ล้านบาท ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
คงจะรู้สึกประหลาดใจไปตามๆ กัน ถึงท่าทีของ "ผู้บริหาร สจล." กับ ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์" ที่ออกมาให้ข้อมูลตอบโต้กันไปกันมาผ่านสื่อมวลชน
โดยฝั่ง "ผู้บริหาร สจล." ยันยืนว่า ไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการประสานขอเอกสารหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดกรณีนี้ อาทิ สลิปถอนเงิน รวมไปถึงสำเนาการสอบสวนนายทรงกลด ศรีประสงค์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ ขณะเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมประกาศว่า จะยกเลิกการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารแห่งนี้ด้วย
"กรณีการลาออกจากการเป็นพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ของนายทรงกลด ศรีประสงค์ ผู้ต้องหาคนสำคัญของคดี สืบเนื่องจากธนาคารได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและผลการตรวจพบว่าบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการผิดขั้นตอนของการเบิกถอนเงินของสถาบันโดยมิได้มีลายมือชื่อของผู้บริหารสถาบันกำกับหรืออาจไม่มีใบถอนเงิน ซึ่งเป็นการทำผิดวินัยร้ายแรงด้านการเงินซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ส่อไปในทางทุจริตของลูกจ้างธนาคารแต่ธนาคารกลับมิได้แจ้งความผิดปกติดังกล่าวให้สถาบันทราบ ซึ่งธนาคารควรจะต้องไล่นายทรงกลด ศรีประสงค์ ออกหรือดำเนินคดีกับนายทรงกลด ศรีประสงค์"
"การที่ธนาคารปฏิบัติเช่นนี้จึงนำมาซึ่งความเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลในเวลาต่อมานั้น หากธนาคารมีระบบและการปฏิบัติงานของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้มาตรฐานจริง ธนาคารน่าจะทราบสัญญาณความผิดปกติดังกล่าวในบัญชีของสถาบันซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร และทำการตรวจสอบหรือแจ้งเตือนมายังสถาบัน หรือแจ้งรายงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมิได้ดำเนินการใดใด จนสถาบันเป็นฝ่ายตรวจพบ"
(อ่านประกอบ : 5 เหตุผล "สจล."ไม่ไว้วางใจ"ไทยพาณิชย์"ประกาศทบทวนธุรกรรมการเงิน!)
ขณะที่ "ผู้บริหารไทยพาณิชย์" โดย นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาเปิดแถลงข่าวตอบโต้ว่า ไทยพาณิชย์ พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ไม่เคยนิ่งนอนใจ หรือประวิงเวลา และในข้อเท็จจริงก็เป็นผู้ริเริ่มให้มีการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ร่วมถึงการประสานข้อมูลจากธนาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องการถอนเงิน และให้ลูกค้าทำรายการย้อนหลังได้ นั้น นายพงษ์สิทธิ์ ยืนยันว่า เป็นขั้นตอนปกติในการดูแลลูกค้ารายใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการใช้จ่ายเงิน ซึ่งทำกับลูกค้าทุกรายไม่ใช่แค่ สจล.เท่านั้น
"การถอนเงินและทำรายการย้อนหลัง เป็นการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ารายใหญ่ของเรา หลายธนาคารก็ทำแบบนี้ แต่การขั้นตอนสำคัญอยู่การยืนยันยอดเงินของลูกค้าว่าเป็นยอดจริงหรือไม่ ถ้าลูกค้ายืนยันว่าถูกต้องเราก็ไม่ทำอะไรไม่ได้"
ส่วนกรณีของนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ นั้น นายพงศ์สิทธิ์ กล่าวยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า "อย่างที่เคยเรียนชี้แจงไปแล้วว่า มีการตรวจสอบพบในขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เราหมดความไว้วางใจในตัวเขา ก็เลยให้ลาออกไป และในช่วงที่ไปเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงศรี ผู้บริหารของไทยพาณิชย์ ก็เคยแจ้งด้วยวาจากับผู้บริหารของธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้รับทราบแล้วแต่ก็ไม่เห็นทางธนาคารกรุงศรีฯจะว่าอะไร"
"กรณีของทรงกลด เราตรวจพบว่ามีการปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง มีการถอนเงินออกไป ทั้งที่ยังลงชื่อไม่ครบ เมื่อทราบเรื่องเราก็มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธนาคารไปประสานงานกับทางสถาบันเพื่อยืนยันตัวเลข ทางสถาบันก็ยืนยันตัวเลขถูกต้อง ไม่ใช่ให้นายทรงกลดยืนยันเอง แต่เมื่อผู้บริหารสถาบันยืนยันว่าถูกต้อง เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าสถาบันบอกว่าผิดแล้วเราไม่ทำอะไร แบบนี้ถึงค่อยมาว่าเราได้"
(อ่านประกอบ : ไทยพาณิชย์ โต้สจล. ไม่เคยประวิงเวลาส่งหลักฐาน-ปกปิดความผิด "ทรงกลด")
หากพิจารณาข้อมูลทั้งจาก ฝ่าย สจล. และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นำมาเปิดเผยล่าสุด จะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
ประการแรก ขั้นตอนและกระบวนการเบิกถอนเงินที่เกิดขึ้นในช่วงที่นายทรงกลด ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการไทยพาณิชย์ น่าจะเป็นหัวใจสำคัญหลักในคดีนี้
เห็นได้ชัดเจนจากท่าทีของ สจล.ที่แสดงออกชัดเจนว่า ต้องการข้อมูลส่วนนี้มาก เพื่อนำไปใช้ติดตามตัวผู้ร่วมขบวนการหรืออยู่เบื้องหลังคดีนี้ (ตัวการใหญ่)
ทั้งนี้ มีการยืนยันข้อมูลเชิงลึกว่า ความเสียหายจำนวน 1,600 ล้านบาท เกิดขึ้นในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (หลังออกมาจากไทยพาณิชย์ นายทรงกลดมาทำงานที่ธนาคารกรุงศรี) เพียงแค่ 80 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเกิดขึ้นในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์
ขณะที่ขั้นตอนการเบิกถอนเงิน เป็นเรื่องที่ธนาคาร และลูกค้าต้องดำเนินการร่วมกัน
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จึงน่าจะมี "ตัวละครลับ" อื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในขั้นตอนการเบิกถอนเงินของ สจล. ที่ยังไม่ได้เปิดตัวออกมา
กรณีนี้ พิจารณาได้จากความเห็นของ สจล. ที่ออกมาระบุว่า "สถาบันขอให้ธนาคารมอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดแก่พนักงานสอบสวน ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการกระทำความผิดของนายทรงกลด ศรีประสงค์ และหาบุคคล กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำผิดหรือแม้แต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของทางธนาคารด้วยหรือไม่"
สจล. เชื่อมั่นอย่างมากว่า ถ้าได้เห็นข้อมูลส่วนนี้ น่าจะเห็นตัวการหรือ ไอ้โม่ง ที่อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้มากกว่าแค่ นายทรงกลด กับน.ส.อัมพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล. หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญคดีนี้
ทั้งในส่วนของ สจล. และไทยพาณิชย์ ?
ประการสอง ในการชี้แจงข้อมูลของธนาคารไทยพาณิชย์ เกี่ยวกับนายทรงกลด มี "ร่องรอย" ที่น่าสนใจบางประเด็นที่น่าคบคิดต่อ
กล่าวคือ ไทยพาณิชย์ ยืนยันว่า การถอนเงินและให้ลูกค้าทำรายการย้อนหลังได้ เป็นขั้นตอนปกติที่สามารถทำได้ ธนาคารอื่นทั่วไปก็ใช้กัน
คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อเป็นการกระทำตามขั้นตอนปกติ และภายหลังจากที่เรื่องนี้ถูกตรวจสอบพบ ทางธนาคารได้ส่งตัวแทนไปยืนยันยอดกับผู้บริหารสจล.แล้ว ได้รับการยืนยันว่าเป็นยอดที่ถูกต้อง
แล้วทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องหาทางเจรจาให้นายทรงกลด ออกไปจากธนาคารด้วย?
ในกรณีนี้ หากพิจารณาข้อมูลประกอบ 2 ส่วน คือ 1. กระแสข่าวที่ระบุว่า ความเสียหายจากการยักยอกเงินครั้งนี้ เกิดขึ้นที่ไทยพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ กับ 2. คำพูด ของ นายพงษ์สิทธิ์ ที่ระบุว่า "เราหมดความไว้วางใจในตัวเขา (นายทรงกลด)"
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า สาเหตุที่ไทยพาณิชย์ ต้องให้นายทรงกลดออกไป เป็นเพราะวงเงินที่มีการอนุมัติให้เบิกถอดไปในครั้งนี้ มีจำนวนเงินสูงเป็นนับพันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากกว่าที่เคยมีมา
ข้อมูลที่น่าสนใจต่อมา คือ ในการแถลงข่าวของ นายพงษ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการยืนยันว่า การถอนเงิน และให้ลูกค้าทำรายการย้อนหลังได้ เป็นขั้นตอนปกติที่สามารถทำได้
แต่ในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ของ นายพงศ์สิทธิ์ เอง กับระบุว่า "กรณีของการเบิกถอนเงินที่มีการลงนามย้อนหลัง ธนาคารขอเรียนว่าสำหรับลูกค้ารายพิเศษจะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ้าง"
การใช้คำว่า "เกิดขึ้นอยู่บ้าง" ทำให้สังคมเข้าใจได้ว่า เรื่องนี้ ไม่ได้ทำกันเป็นเรื่องปกติ อาจเกิดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
ในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ยังระบุข้อมูลด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการเบิกถอนเงินที่มีการลงนามย้อนหลัง ทางธนาคารมีวิธีปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ที่ทำรายการต้องขออนุมัติผู้บังคับบัญชาและทำการยืนยันรายการนั้นๆ กับเจ้าของบัญชี และให้มีการลงนามโดยเจ้าของบัญชีหรือผู้มีอำนาจลงนามให้ถูกต้อง
ก่อนจะระบุว่า เมื่อพบว่ามีการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง ธนาคารจึงให้ผู้บังคับบัญชาของนายทรงกลดไปเข้าพบผู้บริหารสจล.(ในขณะนั้น) และได้รับคำยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บริหารสจล. ธนาคารจึงเชื่อถือว่าธุรกรรมดังกล่าวถูกต้อง
จากข้อมูลนี้ หากนำมาคิดต่อยอด ความน่าจะเป็นคือ ภายหลังจากที่ไทยพาณิชย์ ตรวจสอบพบว่า มีการอนุมัติให้ถอนเงินเป็นจำนวนนับพันล้านบาท ของนายทรงกลด ก็รีบดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ทันที
โดยให้ผู้บังคับบัญชา ของนายทรงกลด ไปพบกับผู้บริหารของ สจล.เพื่อยืนยันข้อมูล ความถูกต้องของยอดเงิน
กรณีนี้ก็มีคำถามเดิมเกิดขึ้นอีก คือ เมื่อเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ทำไมถึงต้องมอบหมายให้ "ผู้บังคับบัญชา" ของนายทรงกลด ไปยืนยันข้อมูลเอง ทำไมไม่ให้ เจ้าหน้าที่ธนาคารทั่วไป เป็นผู้ดำเนินการเอง
ถือเป็นการตอกย้ำข้อมูลอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไทยพาณิชย์ก็น่าจะทราบข้อมูลอะไรบ้างอย่างแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนนี้?
ขณะที่การยืนยันข้อมูลตอบกลับจาก สจล. ถึงขนาดต้องมีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร คล้ายจะรู้ว่า อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น และไทยพาณิชย์จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ด้วย?
ไทยพาณิชย์ พูดความจริงทั้งหมดแล้ว หรือพูดแค่ครึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม การจะตรวจสอบเรื่องนี้ ให้ได้ความชัดเจนมากกว่า จำเป็นที่จะต้องปรากฎหลักฐานสำคัญ ในการถอนเงินของนายทรงกลด ว่ากระทำขึ้นเมื่อไร? เป็นจำนวนกี่ครั้ง? วงเงินเท่าไรกันแน่?
แต่ดูเหมือนไทยพาณิชย์ จะยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ให้สาธารณชนรับทราบมากนัก โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ดังนั้น บุคคลที่จะสามารถเฉลยข้อมูลได้ว่า ขั้นตอนการถอนเงิน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายทรงกลด มีปัญหาอะไรใหญ่โตถึงขนาดไทยพาณิชย์ต้องเชิญตัวออก
คงหนีไม่พ้น "ผู้บังคับบัญชา" ของนายทรงกลด และ "ผู้บริหาร สจล." ที่ยืนยันยอดเงินในบัญชีของ สจล.ว่า มีเป็นยอดการใช้จ่ายที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นแผนการยักยอกเงินของ สจล.ได้เริ่มต้นเป็นทางการแล้ว ก่อนจะนำมาซึ่งความเสียหายของสถาบันฯเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,600 ล้านบาท
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"