เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “ดิเรกฤทธิ์”ฟ้อง”อิศรา” กรณีจม.น้อย
“การกระทำของโจทก์ยิ่งถูกวิญญูชนในสังคมตำหนิติเตียนหนักขึ้น และเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง และเสื่อมเสียต่อศาลปกครองในฐานะที่สำนักงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง”
หมายเหตุ - ศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ยกฟ้องคดีที่นายดิเรก ฤทธิ์ เจนครอบธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 1 นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ที่ 2 และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ที่ 3 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯกรณีนำเสนอข่าว นายดิเรกฤทธิ์มีบันทึกส่วนตัวหรือที่เรียกกันว่า “จดหมายน้อย” ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร.สนับสนุนให้ นายตำรวจยศ พ.ต.ท. เป็นผู้กำกับการ
ทั้งนี้คำพิพากษาดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจโดยเฉพาะสรุปความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ในเรื่องดังกล่าว
----------------------------------------------
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในขั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว โจทก์เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์เป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง สำนักงานศาลปกครอง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลปกครอง มีหน้าที่ดูแลงานราชการของศาลปกครองทั่วไป
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ และเป็นผู้จัดตั้ง หรือผู้รับผลประโยชน์ ผู้ควบคุมดูแลสถาบันสำนักข่าวอิศรา จำเลยที่ 2 เป็นเลขาธิการมูลนิธิจำเลยที่ 1 และผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศราและสำนักข่าวอิศรา และเป็นผู้ควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์ www.isranews.org จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการของสถาบันอิศราและสำนักข่าวอิศรา และเป็นผู้อนุมัติให้มีการนำข่าวเผยแพร่
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 จำเลยทั้งสามเผยแพร่ข้อความผ่านเว็บไซต์ www.isranews.org ในหัวข้อเรื่อง “ตุลาการ โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบ จม.น้อยฝาก ตร.” และได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ดังกล่าว โดยมีถ้อยคำบทความว่า “ชี้ ดิเรกฤทธิ์ ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว! แค่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรง ตามระเบียบราชการพลเรือน” และ “นอกจากนั้นการที่นายวิชัย รองประธานศาลปกครองสูงสุดอ้างว่านายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่เป็นความจริง”
การที่จำเลยทั้งสามลงข้อความดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจได้ว่า โจทก์ต้องโทษรับผิดวินัยอย่างร้ายแรง สร้างความเสียหายแก่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่โจทก์ได้รับโทษน้อยกว่าการกระทำ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการดังกล่าวสรุปความเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดทางวินัย แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัยร้ายแรง
ต่อมานายวิชัย ชื่นชมพูนุช รองประธานศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาและสั่งการในเรื่องที่มีการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้วว่า เป็นการกระทำผิดวินัยเพียงเล็กน้อย เห็นสมควรลงโทษภาคทัณฑ์ แต่โจทก์ได้ถูกพักงานเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเห็นสมควรงดโทษเป็นว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน
ทั้งนี้การที่จำเลยทั้งสามไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน แต่กลับนำข้อความดังกล่าวมาลงในเว็บไซต์ซึ่งเผยแพร่ทั่วประเทศ เป็นการนำข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้โจทย์ได้รับความเสียหายและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
(ศาล) เห็นว่ามูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 สำนักประชาสัมพันธ์ได้มีหนังสือรายงานต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับกรณีปรากฏข่าวว่า โจทก์ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือ (จดหมาย) 2 ฉบับ ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย พันตำรวจเอกชูธเรศ ยิ่งยงดำรงสกุล (ขณะดำรงตำแหน่งพันตำรวจโท) ให้เป็นผู้กำกับการ วันดังกล่าวนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งที่ 12/2557 แต่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ
ผลการสืบสวน คณะกรรมการวินิจฉัยว่า การกระทำในลักษณะเช่นว่านั้นของโจทก์ไม่ว่าจะทำลงโดยผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองหรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการเทียบเท่ากับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองตำแหน่งใด และไม่ว่าจะกระทำในช่วงเวลาใดก็ตาม เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปย่อตำหนิติเตียนทั้งนั้น และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและในบรรดาคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นคดีพิพากษาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่นการแต่ตั้งโยกย้าย เลือนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการ ซึ่งรวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย
การกระทำของโจทก์ยิ่งถูกวิญญูชนในสังคมตำหนิติเตียนหนักขึ้น และเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง และเสื่อมเสียต่อศาลปกครองในฐานะที่สำนักงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง เข้าข่ายมีมูลอันควรกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการในเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิ ของสำนักงานศาลปกครอง อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตามข้อ 10(3) ของระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ซึ่งข้อ 24 ของระเบียนดังกล่าวให้ถือว่า เป็นการกระทำผิดทางวินัย และโดยที่ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ถือเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ การกระทำของโจทก์จึงเข้าข่ายเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ ตามมาตรา 82(2) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 82(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย การกระทำของโจทก์จึงมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานดังกล่าว
จากนั้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ได้มีการลงประกาศในข่าวศาลปกครองครั้งที่ 57/2557 กล่าวสรุปแถลงผลการดำเนินการทางวินัยของโจทก์ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อห้ามทางจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามได้นำข่าวศาลปกครองดังกล่าวลงในเว็บไซต์ www.isranews.org โดยอ้างว่า แหล่งข่าวระดับสูงของศาลปกครองเปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ข้อมูลที่ปรากฏในข่าวศาลปกครองนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในผลสอบของคณะกรรมการการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง จึงได้พาดหัวข่าวว่า “ตุลาการ” โวย สนง.ศาลปกครองออกแถลงข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงผลสอบปม จม.น้อยฝาก ตร.” เผยข้อมูลที่ถูกต้อง คกก.สอบข้อเท็จจริงชี้ “ดิเรกฤทธิ์” ไม่ได้โดนโทษเบาหวิว! แค่ภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน แต่อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรงตามระเบียบราชการพลเรือน โดยเอกสารดังกล่าวก่อนย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความว่า นอกจากนั้น หากการกระทำผิดตามมาตรดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียหายราชการร้ายแรงตาม มาตรา 85(7) ระบุว่า ละเว้นการกระทำหรือการกระทำใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมารตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
การที่จำเลยทั้งสามลงโฆษณาข้อความเช่นว่านั้น กรณีถือได้ว่าจะเลยทั้งสามได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)
สำหรับข้อความที่ได้บรรยายว่า “การที่นายวิชัย รองประธานศาลปกครองสูงสุด อ้างว่า นายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่เป็นความจริง” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้นำมาจากข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ 57/2557ตามเอกสารหมายเลข ล.๑ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการเสนอข่าวอันเป็นเท็จหรือใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด คดีโจทก์จึงไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ขอบคุณภาพประกอบจาก bangkok-today.com