ปธ.สอบป้อมยาม กสทช.ยัน ทำงานเร็ว -รู้ข้อมูล บ.จัสมินฯจ้างช่วงต่อ
ปธ.กรรมการสอบข้อเท็จจริง “ป้อมยาม กสทช.” เผย บ.จัสมินฯ จ้างช่วงแน่นอน แต่ปัดสอบเชิงลึกว่าจ้างใคร-ราคา-ปริมาณวัสดุแท้จริงเท่าไหร่ ยอมรับผลสอบยังไม่แล้วเสร็จแต่จะทำให้เร็ว-รวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด
จากกรณีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ 593 / 2557 ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงงานว่าจ้างบริษัทจัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน ) โดยวิธีตกลงราคาเมื่อเดือนก.ย.56 ให้ติดตั้งป้อมยามรักษาความปลอดภัยของสำนักงาน กสทช. ในราคาการจัดจ้างสูงถึง 435,704 บาท โดยคำสั่งของนายฐากรระบุให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลให้เลขาธิการ กสทช. ทราบภายใน 5 วัน หลังมีคำสั่ง ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
( อ่านประกอบ : "ฐากร"ยันตั้ง กก.สอบรับเหมาป้อมยาม กสทช.เกือบครึ่งล้าน-ขีดเส้น 5 วันรู้ผล, ป้อมยาม กสทช.ราคาเกือบครึ่งล้าน! ขาดไม้กั้น-เครื่องบันทึกรถเข้า-ออก )
นายสมสกุล ชัยกาญจนาศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักการคลังในฐานะประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริง แต่ยืนยันจะทำให้เร็วที่สุด รวบรวมผลสอบข้อเท็จจริงให้มากที่สุดและในการสอบข้อเท็จจริงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและมีความโปร่งใส
“คำสั่งเพิ่งออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ยืนยันจะทำให้เร็วที่สุด เพราะเราก็ต้องตอบสังคมให้ได้ เนื่องจากข่าวที่ออกไปก็ไม่เป็นผลดีต่อองค์กร แต่เราก็จำเป็นต้องได้ข้อเท็จจริงมาให้มากที่สุดด้วย” นายสมสกุลระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบราคากลางป้อมยามจะมีการเทียบเคียงกับราคางานในท้องตลาดหรือไม่ นายสมสกุล กล่าวว่า ยังตอบประเด็นนี้ทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจาก ตู้นี้เป็นตู้เดียวที่มีการออกแบบมาให้ สำนักงาน กสทช. โดยเฉพาะการโทรศัพท์สอบถามราคาท้องตลาด คงยังไม่พอ เนื่องจากราคาที่ตอบกลับมาคงไม่ได้ข้อมูลชัดเจน แต่ต้องนำแบบของป้อมยาม กสทช.ไปให้เขาดูด้วย
“แต่ตู้นี้ กว่าจะมาเป็นตู้แบบนี้ได้จะต้องมีการวัดว่ากี่เมตร ต้องมีจุดพักรถ ต้องมีการดีไซน์ทั้งหมด สายจะมาอย่างไร เพราะไม่ใช่ตู้ธรรมดา ถ้าถามแค่เรื่องความกว้าง ความยาวก็ยังไม่ใช่ราคาที่แท้จริง เพราะสเปกต่างกัน เมื่อมีสเปกแล้ว ผมก็ต้องดูว่า จัสมินฯ นี่เขาไปจ้างต่อ เขาจ้างใคร แต่ถ้าจะให้ตอบโดยนำราคาไปเทียบกับที่อื่น เพียงเท่านี้คงไม่ได้ เพราะตู้นี้มีหนึ่งเดียว ถูกออกแบบมาให้ที่นี่โดยเฉพาะ แต่เราต้องสอบถาม จัสมินแน่นอน ว่าที่เขาบอกราคามาให้เรา ราคานี้มาจากไหน” นายสมสกุลระบุ
นายสมสกุล กล่าวด้วยว่า บริษัทจัสมินฯ ไม่ได้มีอาชีพทำป้อมยาม แต่เป็นผู้วางระบบ แต่ปัจจุบันก็ยังตรวจรับงานไม่ได้ เพราะยังต้องมีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีที่ป้อมยามด้วย สำนักงาน กสทช.ก็พยายามจะหาคนมาทำ พอบอกว่ามีสเปกอย่างนี้ ก็ไม่มีใครมาทำ คนที่จะมาทำแบบนี้มีน้อย เพราะเขาต้องมาดูในเรื่องการออกแบบด้วย บริษัทจัสมิน จึงต้องไปตกลงกับคนที่มาทำตู้ ว่าจะทำรูปแบบยังไง เขาในฐานะที่วางระบบสายซีซีทีวี เขาจะต้องดูว่าต้องกรีดถนน ต้องต่อสายเท่าไหร่ เขาต้องกรีดถนนเท่าไหร่ คือ ต้องมีการคุยกัน ระหว่าง 2 บริษัทนี้มากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าการที่บริษัทจัสมินได้รับการว่าจ้างจาก กสทช. ในการก่อสร้างป้อมยามครั้งนี้ บ.จัสมิน ต้องไปจ้างช่วงใช่หรือไม่ นายสมสกุล กล่าวว่าแน่นอน จัสมินต้องไปจ้างช่วงแน่ เพราะเขาไม่สามารถทำได้เองแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรรมการสอบข้อเท็จจริงจะตรวจสอบหรือไม่ว่า บ.จัสมินไปจ้างใคร นายสมสกุลกล่าวว่า "คงไม่ลงลึกขาดนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของจัสมิน ที่ต้องไปหามา ซึ่งขณะนิ้ บริษัทเองก็เดือดร้อน เพราะเป็นงานงวดสุดท้ายที่เขายังทำไม่เสร็จ"
ผู้สื่อข่าวถามว่าการไม่ตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวจะกลายเป็นจุดบอดของการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ หากไม่ตรวจดูข้อมูลว่าใช้วัสดุต่างๆ ไปเท่าไหร่ และบริษัทที่บริษัทจัสมินไปจ้างช่วงนั้น ใช้วัสดุ ต่างๆ เหมาะสมกับราคาหรือไม่
นายสมสกุลกล่าวว่า ตู้มันไม่ใช่แบบมาตรฐานทั่วไป แต่เป็นแบบเฉพาะ เมื่อมีการออกแบบ ของที่เสียไปอาจจะมีอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะมีการดีไซน์แบบนี้ เช่นหากสร้างปกติยาวยาวเมตรหนึ่ง แต่เราต้องการหนึ่งเมตร 20 เซ็นติเมตร ก็อาจต้องซื้อวัสดุเพิ่มอีกแผ่น
“ดังนั้น ถ้าถามผม ผมก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า เมื่อเป็นแบบนี้การคิดราคาต้องคิดหลายอย่าง ไม่ใช่ แค่ว่าน็อตกี่ตัว ตะปูกี่ตัว”
ผู้สื่อข่าวถามว่าการก่อสร้างป้อมยาม กสทช.ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือไม่ นายสมสกุลกล่าวว่า "ถ้าล่าช้า ไม่ต้องห่วง เขาถูกปรับแน่ แต่ตอนนี้ ยังไม่ส่งมอบงาน เขาก็ยังไม่ได้รับสตางค์สักบาท"
ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมภายนอกอาจตั้งคำถาม เมื่อคนใน กสทช. มาสอบคนในกสทช. ด้วยกันเอง
นายสมสกุลกล่าวว่า "ในสภาพของระบบราชการทั่วไป เมื่อมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เขาก็ตั้งคนข้างในสอบกัน และต้องเรียนว่า ผมไม่ได้สอบวินัย แต่เพียงสอบว่าข้อเท็จจริง คืออะไรเท่านั้น คนในหรือคนนอกไม่ได้มีผลว่าข้อเท็จจริงจะต่างไป เราเพียงสรุปข้อเท็จจริงและความน่าจะเป็น ผมไม่ใช่ ผู้ตัดสิน ผมอยู่ในฐานะแสวงข้อเท็จจริง”
ภาพประกอบจาก : www.nbtc.go.th