'ดอน' รอด! ศาลรธน.วินิจฉัยไม่สิ้นสุดความเป็น รมต.-ภรรยาโอนหุ้นถูกต้องตาม กม.
ศาลรธน.วินิจฉัย ภรรยา 'ดอน ปรมัตถ์วินัย' รมว.ต่างประเทศ โอนหุ้นภายใน 30 วัน ตามพ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วน ปี 43 ถูกต้องตามประมวลกม.แพ่ง-พาณิชย์ จึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามที่ถูก กกต. ร้อง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ถูกร้อง กรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายดอนต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยสืบเนื่องจากที่นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ทั้งนี้ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นายดอนไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าภรรยาครอบครองหุ้นดังกล่าว รวมถึงแจ้งการครอบครองเกินกว่ากำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ภรรยานายดอน โอนหุ้นภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และเป็นการโอนหุ้นที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น นายดอนจึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามที่ กกต.ร้อง
กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ
1.รัฐธรรมนูญมาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 มีผลบังคับใช้กับนายดอนหรือไม่
ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 เป็นบทเฉพาะกาล ให้คณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามา และมีการงดเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการ แต่ไม่ยกเว้นตามมาตรา 187 คือ กรณีรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ขณะที่หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 ระบุให้รัฐมนตรีพึงระวังดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ห้ามการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ และต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อนายดอนเป็นรัฐมนตรีก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 187 ที่ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย
สำหรับบทบัญญัติดังกล่าว ระบุถึงเจตนารมณ์เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีเป็นไปด้วยความสุจริต คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และบริหารบ้านเมือง เพื่อถ่วงดุลในการตรวจสอบการใช้อำนาจ และเพื่อความไม่ขัดกันของผลประโยชน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และไม่นำผลประโยชน์สาธารณะมาปนกับประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญยิ่ง และการจำกัดสิทธิการถือหุ้นตามมาตรา 187 บังคับใช้กับคู่สมรส และบุตร ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า นายดอนได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 วันใด
ศาลเห็นว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนววินิจฉัยไว้แล้ว ตามคำวินิจฉัยฉบับที่ 20/2544 ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงถือว่านายดอนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในวันดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงต้องไม่ถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
2.นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน โอนหุ้นถูกกฎหมายหรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงศาลชั่งน้ำหนักรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด 7,200 หุ้น และทำหนังสือแจ้งการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ให้กับนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย (บุตร) จำนวน 4,800 หุ้น หลังจากนั้นทำหนังสือแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 โดยนางนรีรัตน์คงเหลือหุ้น 2,400 หุ้น หรือ 4%
ขณะเดียวกันนางนรีรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด 3,500 หุ้น และทำหนังสือแจ้งการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ให้กับนายเพื่อน จำนวน 2,700 หุ้น และทำหนังสือแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 และที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 โดยนางนรีรัตน์คงเหลือหุ้น 800 หุ้น หรือ 4%
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า การโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ใน 2 บริษัทดังกล่าว เป็นการโอนหุ้นถูกต้องหรือไม่
ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นมี 2 แบบคือ หุ้นแบบระบุชื่อ และไม่ระบุชื่อ สำหรับหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว เป็นหุ้นแบบระบุชื่อ โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ระบุว่า การโอนหุ้นแบบระบุชื่อนั้น ต้องให้ผู้โอน ผู้รับโอน และพยานลงนามในหนังสือโอนหุ้นด้วย ถ้าไม่ทำหนังสือ หรือไม่มีพยานรับรองให้ถือว่าเป็นโมฆะ โดยนางนรีรัตน์ ได้ทำหนังสือโอนหุ้นแก่ที่ประชุมของ 2 บริษัทดังกล่าว ในวันที่ 27 เม.ย. 2560 และวันที่ 30 เม.ย. 2560 ซึ่ง 2 บริษัทดังกล่าวจัดประชุมในวันที่ 27 เม.ย. 2560 และวันที่ 30 เม.ย. 2560 ในการอนุมัติการโอนหุ้น ดังนั้นการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ดังนั้นนางนรีรัตน์จึงโอนหุ้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 ที่กำหนดให้ต้องโอนอุ้นภายใน 30 วัน จึงดำเนินการถูกต้อง
ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายดอนเคยชี้แจงต่อ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า นางนรีรัตน์ ได้ทำเรื่องถึงฝ่ายทะเบียนของบริษัท 2 แห่งดังกล่าว เพื่อขอให้โอนหุ้นส่วนที่เกินให้กับบุตรชายไปแล้วภายในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ดีฝ่ายทะเบียนของบริษัททั้ง 2 แห่งทำล่าช้า ขณะเดียวกันตัวแทนของบริษัททั้ง 2 แห่ง ได้ให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ฝ่ายทะเบียนของบริษัททำล่าช้าเช่นเดียวกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ยันฝ่ายบัญชีทำล่าช้า! 2เอกชนเบิกความศาล รธน. ปม‘เมียดอน’ถือหุ้นเกิน5%
ศาล รธน.ยัน‘ดอน’ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ปมหุ้นเกิน5% ชี้ไม่ส่งผลการบริหารแผ่นดิน
กางกฎหมาย-ขมวด 2 ปมสำคัญคดี ‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% ก่อนศาล รธน. รับวินิจฉัย
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี
เปิด 2 บ.เมีย ‘ดอน’ ถือหุ้น 12 -17.50 %
เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%