- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กางกฎหมาย-ขมวด 2 ปมสำคัญคดี ‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% ก่อนศาล รธน. รับวินิจฉัย
กางกฎหมาย-ขมวด 2 ปมสำคัญคดี ‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% ก่อนศาล รธน. รับวินิจฉัย
“…เงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่ง เพราะหากเอาตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ไม่สามารถเอามาบังคับใช้ได้ เพราะนายดอนดำรงตำแหน่งมานานแล้ว ตรงนี้จะทำยังไง จะวินิจฉัยอย่างไร อีกอย่างคือ นายดอนอ้างว่า ภรรยาโอนหุ้นให้บุตรชายไปแล้วในช่วงเดือน เม.ย. 2560 คือตามกรอบกฎหมายกำหนด แต่ฝ่ายทะเบียนบริษัททำล่าช้า ทำให้การโอนหุ้นเกิดขึ้นช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 ตรงนี้มีหลักฐานเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงหรือไม่…”
ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ หลังจาก กกต. มีมติชี้ขาดว่า นายดอน ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากภรรยาถือหุ้นเกิน 5% แล้วไม่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 (อ้างอิงข่าวจาก TNN24)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ของภรรยา และบุตรของนายดอน แล้วว่า ก่อนหน้านี้ถือหุ้น 12-17.5% ก่อนที่ในเดือน ต.ค. 2560 ภรรยานายดอนจึงลดสัดส่วนหุ้นเหลือเพียง 4% และโอนส่วนเกินให้บุตร (อ่านประกอบ : เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี, เปิด 2 บ.เมีย ‘ดอน’ ถือหุ้น 12 -17.50 %)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร อยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ต้องเข้าใจก่อนว่า ภรรยา และบุตรของนายดอน ถือหุ้น 2 บริษัทดังกล่าว ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เมื่อ 2 ปีก่อน โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 41 มีการกำหนดว่า หากมีกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาบังคับใช้
ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต้องยกเลิก ยกเว้นมาตรา 44 ที่ยังคับใช้อยู่ ดังนั้นมาตรา 41 ดังกล่าวจึงยกเลิกไปด้วย และให้นำ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาบังคับใช้ตามปกติ
พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 5 ระบุว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้รัฐมนตรีดำเนินการคือ 1.แจ้งเป็นหนังสือให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ 2.โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบ และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นไป
อธิบายให้ง่ายคือ หากรัฐมนตรีรายใดมีหุ้นเกิน 5% หากต้องการถือครองหุ้นอยู่ต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วัน หลังจากนั้นให้โอนหุ้นแก่นิติบุคคลภายใน 90 วัน ก่อนจะแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบอีกครั้งเมื่อโอนหุ้นไปแล้ว 10 วัน นั่นหมายความว่า มีเวลา 130 วันในการดำเนินการแต่ละส่วนให้เสร็จเรียบร้อย
อย่างไรก็ดีตามข้อเท็จจริงคือ ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายดอนที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้จนถึงช่วงถูก กกต. เข้าไปตรวจสอบ นายดอนไม่ได้ทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่อย่างใด
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต. อธิบายสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า นายดอนเคยชี้แจงต่อ กกต. ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ภรรยานายดอนได้ลดสัดส่วนหุ้นไม่ให้เกิน 5% โดยโอนให้กับบุตรชาย และทำหนังสือไปที่ 2 บริษัทดังกล่าวภายในเดือน เม.ย. 2560 ทันที เพื่อให้ทันกำหนดเวลา 30 วันแรกตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 อย่างไรก็ดีกว่าฝ่ายทะเบียนของ 2 บริษัทดังกล่าวจะดำเนินการ คือเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 ซึ่งล่าช้ากว่ากฎหมายกำหนด
เมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. แหล่งข่าวรายนี้ ระบุว่า ที่ประชุมสรุปข้อเท็จจริงได้ 2 ประเด็น
1.พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ระบุว่า ต้องแจ้งความประสงค์ถือครองหุ้นแก่ประธาน ป.ป.ช. ใน 30 วัน และให้โอนหุ้นให้นิติบุคคลใน 90 วัน ก่อนจะแจ้งประธาน ป.ป.ช. ทราบในอีก 10 วัน อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดว่า ต้องแจ้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ข้อเท็จจริงคือ นายดอนดำรงตำแหน่งมากกว่า 2 ปีแล้ว ช่วงก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ให้นำกฎหมายลักษณะต้องห้ามมาใช้ แล้วจะเริ่มนับกันอย่างไร เพราะหากนับช่วงดำรงตำแหน่งก็เกินเวลามามากแล้ว
2.นายดอนแสดงเจตนาชัดเจนว่า ภรรยาโอนหุ้นแก่บุตรชายแล้วภายในเดือน เม.ย. 2560 คือภายในระยะเวลา 30 วันตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่ทางทะเบียนบริษัทอ้างว่าทำหนังสือโอนตอนเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ภรรยานายดอนโอนหุ้นแล้วจริงหรือไม่ นอกจากนี้ตอนโอนหุ้นเมื่อเดือน เม.ย. 2560 ตามที่อ้าง แต่กลับไม่ได้แจ้งประธาน ป.ป.ช. ว่าโอนหุ้นแล้วแต่อย่างใด
แหล่งข่าว ระบุว่า ในที่สุดที่ประชุม กกต. มีมติ 2 ต่อ 2 เสียง จากที่ประชุมกรรมการ 4 ราย (นายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่งแล้ว) ก่อนที่ประธาน กกต. จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า นายดอนขาดคุณสมบัติ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว
หากพิจารณาจากข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ เงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่ง เพราะหากเอาตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ไม่สามารถเอามาบังคับใช้ได้ เพราะนายดอนดำรงตำแหน่งมานานแล้ว ตรงนี้จะทำยังไง จะวินิจฉัยอย่างไร
อีกอย่างคือ นายดอนอ้างว่า ภรรยาโอนหุ้นให้บุตรชายไปแล้วในช่วงเดือน เม.ย. 2560 คือตามกรอบกฎหมายกำหนด แต่ฝ่ายทะเบียนบริษัททำล่าช้า ทำให้การโอนหุ้นเกิดขึ้นช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 ตรงนี้มีหลักฐานเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงหรือไม่
เป็น 2 ประเด็นหลักที่คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ อาจนำไปวินิจฉัยเกี่ยวกรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของนายดอน ที่ปัจจุบันกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน
หากเทียบเคียงกับรัฐมนตรีรายอื่นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้นั้น มีรัฐมนตรีอีกรายหนึ่งที่ถือหุ้นเกิน 5% คือนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง แต่นายอภิศักดิ์ ตัดสินใจโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นจนเกลี้ยง ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เพียง 1 วัน จึงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น (อ่านประกอบ : รมว.คลังชิงโอนหุ้น บ.‘ก่อศักดิ์’ ก่อน รธน. ปี 60 ประกาศใช้ 1 วัน)
ทั้งหมดคือที่มาที่ไป-ข้อเท็จจริงของเรื่อง ก่อนที่ปลายเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของ กกต. เพื่อวินิจฉัย และให้นายดอนชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
อ่านประกอบ : เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก คมชัดลึกออนไลน์