วงสัมมนา ACT สับ ทอท.เละ! ปมสร้างเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ-จี้ ก.คลังกำกับจริงจัง
งามสัมมนา ACT ปมก่อสร้างเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ 4.2 หมื่นล้าน สับเละ ทอท. ‘เลขาฯสภาสถาปนิก’เล่าสารพัดความไม่ชอบมาพากล-ชี้ที่เป็นแบบนี้เพราะเหตุผลทางธุรกิจ ‘เดือนเด่น’ลั่นถ้า ก.คลัง-สนง.การบินพลเรือน ไม่เอาจริง ก็ได้แค่ฝัน ‘ปธ.สภาอุตฯท่องเที่ยวไทย’ยันต้องเอาผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง-ให้ความสำคัญนักท่องเที่ยว ‘ต่อตระกูล’เผยโครงการนี้ทำคนไทยตื่นรู้-บทบาทรัฐเผยข้อมูลยังน้อยอยู่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ที่โรงแรมดุสิตธานี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ‘สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก … ฝันหรือเป็นได้จริง?’ โดยมี พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัย TDRI นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา มีนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการรายการ
@‘เลขาฯสภาสถาปนิก’เล่าสารพัดความไม่ชอบมาพากล-ชี้ที่เป็นแบบนี้เพราะเหตุผลทางธุรกิจ
พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวว่า บทบาทของสภาสถาปนิกไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้านในเรื่องเกี่ยวกับบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จัดประมูลก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่ต้องการนำเสนอข้อมูลเพื่อตรวจสอบ รักษาผลประโยชน์ของชาติเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของสภาสถาปนิกคือทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ และให้คำปรึกษารัฐบาล
พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการออกแบบก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ของสนามบินสุวรรณภูมินั้น ในช่วงออกทีโออาร์ได้เชิญให้สภาสถาปนิกเข้าไปให้ข้อคิดเห็น โดยประเด็นสำคัญคือการประกาศราคากลางที่ค่อนข้างต่ำไปกว่ามาตรฐานมาก และท้ายที่สุดก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยการเปิดคัดเลือกผู้ประมูลรอบแรก ไม่มีใครเข้ามาประมูลเลย เพราะวงเงินต่ำกว่ามาตรฐาน อาจส่งผลต่อปัญหาด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับแผนแม่บท สุดท้ายยกเลิกไป ต่อมาในการคัดเลือกครั้งที่ 2 กำหนดทีโออาร์เหมือนเดิม แต่ครั้งนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอต่อ ทอท. ประมาณหนึ่ง
เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวว่า หลังจากนั้นช่วงต้นปี 2561 ทอท. ทำหนังสือถึงสภาสถาปนิกขอให้ร่วมตัดสิน แต่เราคิดว่ากระบวนการเริ่มไปแล้ว เลยขอเป็นแค่ที่ปรึกษา และให้ความเห็นหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการบริหารโครงการโดยไม่มีผลการศึกษามารองรับ และไม่เป็นไปตามแผนแม่บท แต่ต่อมามีการประกาศผล ตนจึงติดต่อโดยตรงไปยังประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่เป็นคนตรงไปตรงมา โดยประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้อง แต่แม้กระบวนการถูกต้อง แต่มันทำให้เกิดปัญหา รวมถึงเกิดปัญหาการลอกแบบ และดูไม่เป็นไทย
“หลังจากนั้นมีข้อมูลไหลเข้ามาตลอดสู่สภาสถาปนิก ทั้งข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลด้านเทคนิค เราในฐานะสถานปนิกไม่ได้รอบรู้เรื่องราวทั้งหมดของสนามบิน แค่มองภาพรวม จึงรวบรวมข้อมูล และทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง” เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าว
พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ กล่าวอีกว่า เราพูดว่าต้องการติด 1 ใน 3 ของโลก แต่ตอนนี้ได้เพียงที่ 2 ของอำเภอเท่านั้น เราต้องคัดเลือกในเชิงคุณภาพ แต่กระบวนการไม่ได้ทำให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ข้อเท็จจริงควรต้องมีการศึกษาก่อนว่าควรสร้างเทอร์มินอล 2 จริงหรือไม่ ทั้งเรื่องรันเวย์ หลุมจอด พื้นที่รองรับผู้โดยสาร อีกเรื่องคือถนนทางเข้ามีเท่าเดิม แต่มีการสร้างอาคารเพิ่มขึ้น ข้อสังเกตแปลกนิดหนึ่งคือ ให้ผู้ออกแบบทำผลการศึกษาจราจร แต่กลับออกมาทีหลังทำทีโออาร์แล้ว เป็นต้น
“ทำไมตัดสินใจแบบนี้ ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ วิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุน ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าผลตอบแทนคุ้มค่า แล้วสิ่งที่องค์กรได้รับจากการทำโครงการนี้ล่ะ ถ้าองค์กรได้ประโยชน์ มันมีอะไรที่สำคัญกว่าองค์กรหรือไม่ ก็คือพวกเรา ที่ถือเป็นหุ้นส่วนหนึ่งของ ทอท. เช่นกัน เพราะเราต้องเสียภาษีให้รัฐ ได้ประโยชน์จากการสร้างเทอร์มินอล 2 จริงหรือไม่ เพราะมันไม่ได้มีทางเลือกเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ด้านตะวันตก และตะวันออก สามารถสร้างได้เลย” พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ กล่าว
@‘เดือนเด่น’ลั่นถ้า ก.คลัง-สนง.การบินพลเรือน ไม่เอาจริง ก็ได้แค่ฝัน
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัย TDRI กล่าวว่า ถามว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกหรือไม่ ถ้าดูตามการจัดอันดับโลกของ Skytrex จะเห็นได้ว่า สุวรรณภูมิติดอันดับ 36 โดยได้คะแนนเพียง 3 ดาว จาก 5 ดาว ซึ่งสิ่งที่เราอ่อนมาก ๆ คือ เรื่องการบริหารจัดการคน และการรอคอยการขึ้นเครื่องบิน
ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญต้องย้อนกลับไปที่หน่วยงานในกำกับควบคุมดูแล ทอท. นั่นคือกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และสำนักงานการบินพลเรือน ที่เพิ่งตั้งเป็นองค์กรอิสระ หลังจากเจอ ICAO สั่งการให้เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งหลายประเทศหน่วยงานแบบนี้ มีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดทิศทางของสนามบิน แต่ของไทยทำอะไรบ้าง ดังนั้นสนามบินสุวรรณภูมิ จะติด 1 ใน 3 ของโลกได้จริงหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่คนกำกับว่าจะเอาจริงหรือไม่ ถ้ากระทรวงการคลัง เอาจริง ก็ทำได้ แต่ต้องดูเรื่องการประเมินด้วยดัชนีจริง ต้องมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ชงเองกินเอง ส่วนสำนักงานการบินพลเรือน ต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของทุกอย่างในสนามบิน ออกหลักเกณฑ์ค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับคุณภาพ ต้องเปิดเผยรายงาน และคุณภาพให้ประชาชนรับทราบ ถ้า 2 อย่างนี้ทำไม่ได้ ก็คงเป็นความฝัน
@‘ปธ.สภาอุตฯท่องเที่ยวไทย’ยันต้องเอาผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง-ให้ความสำคัญนักท่องเที่ยว
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่าอากาศถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ หลายประเทศสร้างสรรค์เอาสิ่งดี ๆ ทั้งสิส้น ดังนั้นท่าอากาศยานในฝันที่อยากจะเห็นคือการพัฒนาระบบเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มารองรับผู้ใช้บริการ เพราะท่าอากาศยานไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบิน มันมีอะไรหลายอย่าง การตั้งโจทย์พัฒนาท่าอากาศยานต้องตั้งให้ถูก มองหลายมติ เอาผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาคนสร้างท่าอากาศยานเป็นที่ตั้ง มองแต่เรื่องตัวเอง ไม่ได้มองความสะดวกสบายอาจไม่ได้ตอบโจทย์นักเดินทางทั่วโลกที่ต้องการได้
นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับที่ 36 ของสนามบินระดับโลก ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีเคยขึ้นมาถึงอันดับ 10 แต่ก็ตกลงไปเรื่อย ๆ แม้แต่กับสนามบินประเทศเพื่อนบ้านที่พบว่าพัฒนาไปรวดเร็วมาก ใกล้เคียงกับสนามบินชางกี ของสิงคโปร์ ที่ได้อันดับ 1 สนามบินระดับโลกในปี 2561 สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มเรื่องการจัดลำดับสนามบิน เรื่องการบริการ การเช็คอิน การต่อเครื่องบิน การช็อปปิ้งแบบดิวตี้ฟรี และฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง ในเมื่อต้องการเป็น 1 ใน 3 สนามบินระดับโลก สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้
“หากถามว่าทำไมให้ความสำคัญกับดิวตี้ฟรีมาก เหตุผลเพราะว่า นักท่องเที่ยวอยากเจออะไรใหม่ ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่ในหลายสนามบินของไทย ต้องดูตามความเหมาะสมของสถานที่ หรือปริมาณของร้านค้าที่มีด้วย นอกจากนี้ต้องไม่เบียดบังเรื่องจำนวนที่นั่งพักผ่อนของผู้โดยสาร หรือการเดินทางต่าง ๆ ต้องจัดไว้ให้เหมาะสม ไม่ให้แออัดปริมาณมาก ต้องเอาผู้โดยสารเป็นตัวตั้ง เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่ให้นักท่องเที่ยวผ่อนคลายในการเดินทาง” นายอิทธิฤทธิ์ กล่าว
@‘ต่อตระกูล’เผยโครงการนี้ทำคนไทยตื่นรู้-บทบาทรัฐเผยข้อมูลยังน้อยอยู่
นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) กล่าวว่า โอกาสที่สนามบินสุวรรณภูมิจะติด 1 ใน 3 ของโลก โอกาสเป็น 0 ถ้าติด 1 ใน 10 ถือว่าเป็นบุญด้วยซ้ำ ถ้าวิธีการดำเนินการยังเป็นแบบนี้อยู่ ต้องขอฟ้องว่า กระทรวงการคลังยังใช้วิธีบริหารจัดการแบบสมัยโบราณอยู่เลย เวลาประชุมกระทรวงการคลังจะส่งผู้แทนมานั่ง เวลาโหวต กระทรวงการคลังยกมือเดียว ชนะทั้งหมด ไม่ต้องมีเหตุและผล และโครงการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ดังกล่าว ทำให้คนไทยตื่นรู้เลยว่า เกิดปัญหาความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่
นายต่อตระกูล กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทภาครัฐเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณยังค่อนข้างน้อย แม้ช่วง 4 ปีแรกสมัยตนทำงานกับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) สิ่งทีเรียกร้องแรกเลยคือ ให้รัฐเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่ใช่ปิดข้อมูลเป็นความลับทั้งหมด และโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ไม่ให้ความร่วมมือมากที่สุด ที่มาเป็นอย่างไร มีการศึกษาอย่างไร แต่กลับไม่เผยแพร่บนเว็บไซต์ อ้างว่า ยังไม่ได้นำเรียนคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน ดังนั้นไม่ใช่แค่โครงการนี้ แต่อีกหลายโครงการ ถ้า ทอท. เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ มีการวางแผนใหม่ ยอมรับคำวิจารณ์แล้วปรับแก้ อาจทำให้ปรับตัวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกำหนดการเดิมปรากฏชื่อนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แต่ภายหลังมีการแจ้งว่า ไม่สะดวกที่จะร่วมงาน
อ่านประกอบ : บริษัทท่าอากาศยานไทย ขุมทรัพย์ของใครหรือ