บริษัทท่าอากาศยานไทย ขุมทรัพย์ของใครหรือ
"...ความจริงเรื่องไม่ชอบมาพากลของบริษัทท่าอากาศยานไทยนั้น มีมานานพอสมควรแล้ว หากท่านติดตามข่าวจะพบว่า นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบของ สปท. เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 18 ราย เป็นจำเลยในข้อกล่าวหา ละเว้นการปฏิบัติ ไม่เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารการจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำให้รัฐเสียหาย 14,290 ล้านบาท..."
ประเทศไทยเราตอนนี้ดูเหมือนว่าเสียงปี่กลองการเมืองกำลังดังลั่น เพราะเป็นช่วงใกล้การเลือกตั้งใหญ่ ใช่แล้วมันเป็นสิ่งที่นักประชาธิปไตยทั่วประเทศได้พร่ำหา และขวนขวายกันมากว่า 4 ปีแล้ว เมื่อมโหรีเลือกตั้งดังใกล้เข้ามา ต่างก็อดที่จะเก็บความตื่นตาตื่นใจไว้ไม่อยู่ ผมเอง ก็ตื่นเต้นกับเขาด้วย จึงขอแสดงความรู้สึกไว้ตรงนี้สักหน่อย
เมื่อไปถามความรู้สึกของเพื่อนบางคนที่สนใจใฝ่ฝันประชาธิปไตยก็ได้คำตอบมาว่า มันจะเป็นประชาธิปไตยกันได้อย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งมีการประกาศใช้มานี้ ได้ถูกปรุงแต่งให้ได้ประชาธิปไตยแบบพิการมาตั้งแต่ในท้อง และยิ่งตอนนี้เมื่อหัวหน้า คสช. ได้ประกาศชัดออกมาว่า รัฐบาลนี้จะเป็นผู้ดูแลกำกับการเลือกตั้งคราวนี้เอง เพื่อความสงบเรียบร้อยราบรื่นโดยจะยังคงใช้อำนาจที่ คสช. มีอยู่อย่างครบถ้วน ยิ่งทำให้เห็นธาตุแท้ของ คสช. กันมากขึ้น
ในช่วงเดียวกันนี้ รัฐมนตรีหลายคนซึ่งอยู่ในเล้าเดียวกัน ก็ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหญ่โตอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นี้เองก็ได้แถลงข่าวออกมาว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครบทุกเขตทั่วประเทศ ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคที่รับผิดชอบเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ ก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แต่จะส่งคนลงลุยเลือกตั้งด้วย ปากก็ยืนยันว่ารับประกัน แม้จะอยู่เป็นรัฐมนตรีก็จะไม่กระทำการใดๆ ที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น มั่นใจว่าจะทำให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็ไม่ทราบว่าเขาคิดได้อย่างไร และจะรักษาสภาพให้โปร่งใสได้อย่างไร ในเมื่อเขาต้องนั่งอยู่ในดงแห่งความขัดแย้งกับธรรมาภิบาลเช่นนี้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านที่สนใจการเมืองทั้งหลายคงได้เห็นแล้วว่า พวก ขาการเมืองทั้งหลายได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาล คสช. ที่มีตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐลาออกไปเสีย เพราะมองเห็นชัดว่า เป็นการขัดแย้งในผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เป็นการไม่แยแสต่อหลักธรรมาภิบาลโดยสิ้นเชิง นี่เป็นการเริ่มต้นแสดงความเห็นของนักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดและความตั้งใจของพลพรรค คสช.
แต่การเรียกร้องให้รัฐมนตรี 4 คน ลาออกไป กลับไม่ได้รับการตอบรับ มีการตอบเหตุผลโยกโย้เหมือนเป็นศรีธนญชัย แถมยังได้ยินท่านรัฐมนตรีที่คร่ำหวอดด้านกฎหมายมาหลายสมัยได้เสนอแนะผ่านสื่อว่า รัฐมนตรีที่ไปตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้าสามารถแยกเวลาทำงานออกให้ชัด โดยในเวลาราชการ ก็อย่าไปทำงานด้านการเมือง นอกเวลาราชการค่อยไปทำ ฟังดูแล้วผมก็เพิ่งรู้ว่าคนที่เก่งด้านกฎหมายระดับรัฐมนตรี ระดับครูบาอาจารย์ ที่หลายรัฐบาลให้ความเชื่อถือนั้น เขาขีดเส้นแบ่งความเป็นธรรมาภิบาลด้วยเวลาราชการแค่นั้น คงคิดว่าคนเป็นรัฐมนตรีเป็นระดับครูประชาบาลหรือไง จิตสำนึกเกี่ยวกับธรรมาภิบาลมีแค่นี้เองหรือ ดูแล้วให้หดหู่และสงสารลูกหลานคนไทยทั้งหลายเสียจริงๆ
ตอนนี้ไม่ทราบว่าท่านทั้งสี่ของพรรคพลังประชารัฐ จะมีการเปลี่ยนใจลาออกหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ท่านและผู้ใหญ่ที่สนับสนุนได้แสดงออกหลังเปิดตัว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ทำให้ความสง่างามของพรรคนี้ได้ฝ่อไปจากสายตาของผู้คนที่รักประชาธิปไตยไปหมดแล้ว ก็ต้องขอหยุดบ่นเรื่องการเมืองเพียงแค่นี้
ขอกลับมาพูดถึงหน่วยงานรัฐที่สำคัญตามที่ได้จั่วหัวไว้ข้างต้น ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสนามบิน และเป็นประชาชนที่เสียภาษีเพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิอันใหญ่โตของประเทศ ได้รับรู้และจับตาดูกันบ้าง เพราะสนามบินนานาชาติในประเทศ 6 แห่ง นับตั้งแต่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ เชียงราย นั้น ล้วนเป็นสมบัติของแผ่นดินทั้งนั้น การที่หน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการนี้ คือ บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือที่เรียกกันติดปากว่าการท่า หรือภาษานักเล่นหุ้นที่เรียกว่า AOT นั้น เกิดขึ้นจากการนำหุ้นจำนวนหนึ่งประมาณ 30% ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไปกระจายให้แก่นักลงทุนทั้งรายใหญ่รายน้อยในสมัยก่อน แล้วมาเรียกชื่อใหม่ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงไม่ได้หมายความว่าองค์กรนี้จะเป็นของเอกชน กรรมการหรือใครจะทำอะไรก็ช่าง มันไม่ใช่นะครับ
บริษัทท่าอากาศยานไทย นั้น ยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่ 70% แต่เรื่องการครอบครองและดูแลหุ้น ต้องขึ้นอยู่กับ กลต. ยิ่งกว่านั้น องค์กรนี้ยังเป็นหน่วยงานที่ต้องรับใช้และบริการประชาชน ทั้งผู้โดยสารที่เป็นคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปีหนึ่งรวมสนามบินนานาชาติทุกแห่งแล้ว การเข้าออกของผู้โดยสารมีกว่า 100 ล้านคน
ผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านการดูแลตรวจสอบให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าคนไหนประวัติดี คนไหนต้องระวัง ทอท. ต้องจ่ายเงินจำนวนมากเป็นพันล้านไปจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบด้วยระบบ IT อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังต้องมีหน่วย รปภ. ที่เข้มแข็งและมีสมรรถภาพ คอยดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยทั้งของสถานที่และผู้คน พนักงานขององค์กรทุกคนต้องให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นผู้โดยสารเครื่องบินอย่างสุภาพนอบน้อม ไม่ใช่นอบน้อมกับร้านค้าปลอดภาษี ส่วนรปภ. ต้องคอยจับตา ผู้ประพฤติมิชอบเท่านั้น ไม่ใช่มาตบตีขู่เข็ญนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้บริษัทมีพนักงานทำตัวกันอย่างไร ใส่ใจผู้โดยสารหรือไม่ ลองตั้งระบบตรวจสอบความเห็นของผู้โดยสารเหมือนเมืองใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกันบ้าง ทำง่ายๆ ก็คือ มีเครื่องกดปุ่มเล็กๆ ติดตั้งไว้ตรงช่องขาออกแต่ละประตู ถามสั้นๆ ว่าการบริการในสนามบินของการท่าเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุง พอใช้ ดี และดีมาก เอาแค่นี้ก็พอ จะเป็นกระจกส่องตัวเองได้อย่างดี
ความจริงเรื่องไม่ชอบมาพากลของบริษัทท่าอากาศยานไทยนั้น มีมานานพอสมควรแล้ว หากท่านติดตามข่าวจะพบว่า นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบของ สปท. เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 18 ราย เป็นจำเลยในข้อกล่าวหา ละเว้นการปฏิบัติ ไม่เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารการจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำให้รัฐเสียหาย 14,290 ล้านบาท
คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ตัดสินยกฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่านายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตาม จากข่าวในสื่อต่างๆ คุณชาญชัย อิสระเสนารักษ์ จะยื่นอุทธรณ์ และยื่น ป.ป.ช. ดำเนินคดีด้วย เพราะเห็นว่าพื้นที่สัมปทานเชิงพาณิชย์ที่บริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับสัมปทานอยู่ยังไม่สิ้นสุด ความผิดยังคงอยู่ กรณีนี้ไม่ได้ผิดเฉพาะในอดีต แต่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แถมยังยืนยันจะดำเนินการถึงศาลฎีกาเพราะต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน ก็ขอให้ติดตามฟังเรื่องราวกันต่อไปนะครับ
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องในอดีตและจะมีต่อในอนาคตสำหรับบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ซึ่งมีความเห็นมาจากหลายทางกล่าวว่า รัฐบาลผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับผลประโยชน์น้อยมาก เมื่อเทียบกับสนามบินอื่นในโลก นี่ก็ไม่นานจะหมดสัมปทานแล้ว ก็ต้องคอยดูผู้รับผิดชอบที่จะดำเนินการเรื่องให้สัมปทานในคราวหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ บริษัทท่าอากาศยานไทย มีเรื่องที่กล่าวขวัญในสื่อต่างๆ มากและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันพอควร โดยเฉพาะเรื่องอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในสนามบิน สุวรรณภูมิ เริ่มต้นเกิดจากการประกวดแผนของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งเปิดออกมามีแต่ไม้เต็มไปหมดไม่มีรูปทรงของอาคารหลังแรกเลย ฟังเสียงโจษขานสรุปได้ว่า แบบที่ว่านี้ผู้เสนอแบบได้ลอกเขามาและจับความได้อีกว่า มีการเอาราคามาเปิดแข่งกันด้วย ซึ่งในหลักการสากล การจ้างบริษัทที่ปรึกษาไม่ใช่การประกวดราคาก่อสร้างหรือการซื้อของ ราคาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เปิดดูแบบก่อนใครเสนอดีกว่าแล้วจึงมาดูราคา และเมื่อได้ฟังเรื่องจากสมาคมสถาปนิกบ้าง และจากข่าววงในบ้าง ก็มีเรื่องกล่าวหาว่ามีวิธีการล็อคสเปคเข้ามาพัวพันด้วย ยิ่งไปกันใหญ่
ขณะที่เรื่องจ้างสถาปนิกยังไม่สามารถสรุปได้ ก็มีเสียงกล่าวกันว่า อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นี้ ไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ที่เหมาะสม ต่างจากแผนแม่บท (Master Plans) ที่ได้วางไว้ครบทุกขั้นตอนของการพัฒนาสนามบินขนาดใหญ่ในอนาคต ฟังจากข่าวว่าที่อาคารหลังนี้ถูกเปลี่ยนที่ เพราะหากถูกที่ตามแผนแม่บทก็จะไปกระทบอาคารของบริษัทคิง เพาเวอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้กันดีว่าบริษัทนี้ คือใคร ใหญ่ตามชื่อแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 เร็วๆ นี้เอง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทท่าอากาศยานไทย ก็ได้ออกข่าวแถลงเป็นเอกสารสองหน้า จั่วหัวว่า “ทอท. ชี้แจงโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นไปตามแผนแม่บทเดิม ที่ได้เคยศึกษาไว้” แต่ในหน้า 2 ของข่าวที่แถลง นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กลับพูดว่า หาก ทอท. ยังคงใช้แผนแม่บทเดิม เมื่อก่อสร้างทั้งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และอาคารที่ยื่นออกไปหรือ Satellite 2 และส่วนต่ออาคารหลักที่เหลืออีกด้านหนึ่ง แล้วเสร็จในปี 2569 ตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้อาคารผู้โดยสารทั้งหมดที่สุวรรณภูมิถึง 100 ล้านคนต่อปี แต่อาคารสถานที่รองรับจะมีกำลังรับเพียง 60 ล้านคน หากไม่ปรับแผนแม่บทแล้ว จะรับผู้โดยสารไม่ไหว นายนิตินัย ศิริสมรรถการ พูดเหมือนว่า ที่ได้เสนอทำอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อย่างนี้ เป็นการปรับแผนแม่บทแล้ว และแถมยังบอกด้วยว่า เป็นไปตามคำแนะนำของ ICAO หรือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สรุปแล้วเป็นการชี้แจงที่ไม่ค่อยได้ศัพท์ เพราะเอกสารการแถลงข่าวมีการขัดกันเอง
เมื่อติดตามข่าวที่ออกทางทีวี เช่น Nation TV ช่อง 22 และอื่นๆ มีการชี้ให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EMP ที่ทำงานให้ ทอท. มานาน ก็ไม่เห็นด้วยกับการจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตรงจุดตามที่ ทอท. ต้องการจะสร้าง เพราะถ้าดูปัจจัยแวดล้อม เรื่องการเคลื่อนตัวของเครื่องบิน ที่เรียกว่าการ Taxi ก็จะแออัดไม่คล่องตัว การจะติดตั้งรถไฟฟ้ามาช่วยขนผู้โดยสารก็ไม่สะดวก แล้วในที่สุดก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ และเกาหลี ได้
การไม่เห็นด้วยของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษานี้ ตามข่าวบอกว่ากลุ่มบริษัทที่ปรึกษานี้ได้ถูกเลิกจ้างไปเมื่อหลายเดือนที่แล้ว ส่วนข้อเสนอที่ออกมานี้ บริษัทท่าอากาศยานไทยคิดเอง โอ้พระเจ้า ประเทศไทยนี้เรื่องใหญ่ๆ ของชาติ ใครจะคิดทำอะไร ก็ทำง่ายๆ กันแบบนี้หรือ ผู้รับผิดชอบในคณะรัฐมนตรีมีการรับรู้ด้วยหรือไม่ หรือปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นเป็นผู้กำกับดูแลแทน
ไม่แปลกที่ผู้คนที่ใช้สนามบินสุวรรณภูมิจำนวนไม่น้อยมักถามว่า บริษัทนี้เป็นขุมทรัพย์ของใครกัน.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.jobbkk.com