รมว.สั่งชี้แจงภายใน24 ชม.! 'ปลัดวิทย์-อานนท์' ยันจัดซื้อดาวเทียม7พันล.ไร้ล็อคสเปค
ผอ.สทอภ. ควง ปลัดก.วิทย์ ตั้งโต๊ะแถลงปมจัดหาดาวเทียม 7 พันล้านเป็นทางการ ยันขั้นตอนประกวดราคาโปร่งใส เป็นธรรม ลั่นพร้อมให้ตรวจสอบ แต่ข้อมูลเอกชนบางส่วนไม่สามารถเปิดเผยได้เป็นความลับทางการค้า ลั่นทำตามข้อตกลงคุณธรรม ประสานหลายหน่วยงานช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนอนุมัติโครงการ เผยเบื้องหลังรมว.วิทย์ฯ สั่งชี้แจงด่วนภายใน 24 ชม.
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranerws.org ได้รายงานข่าวความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงิน 7,000 ล้านบาท ภายหลังจากเกิดปัญหาคณะผู้สังเกตการณ์ จำนวน 6 ราย ตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ ได้แจ้งขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการนี้ โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และในเวลาต่อมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีการตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้ด้วย โดยทางนายสุวิทย์ก็ได้รับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ (อ่านประกอบ:รมว.วิทย์ฯ รับตั้ง กก.สอบปมจัดซื้อดาวเทียม7พันล.หลังหารือร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน)
ล่าสุด นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA หรือ สทอภ.) และนพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวถึงประเด็นดังกล่าว
โดยนายอานนท์กล่าวถึงความเป็นไปเป็นมาของโครงการนี้ว่าที่ต้องจัดหาดาวเทียมมาก็เพื่อประโยชน์ในการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่และสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเรื่องนี้นั้นก็เป็นสิ่งที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้กำหนดเอาไว้ด้วย
นายอานนท์กล่าวต่อว่าสำหรับการดำเนินงานโครงการ THEOS-2 สทอภ. ได้ให้ความสำคัญกับหลักสุจริตและความโปร่งใสในกระบวนการจัดหาตามหลักปฏิบัติสากลมาโดยตลอด ทั้งนี้ โครงการ THEOS-2 มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างไปจากโครงการ THEOS-1 ที่ลงนามในสัญญาเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษที่ซื้อตรงจากบริษัท Astrium แต่โครงการ THEOS-2 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งแรกของ สทอภ.
โดยที่โครงการ THEOS-2 ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนที่ พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะบังคับใช้ ดังนั้นการกำหนดวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร สทอภ. ตามนัยของมาตรา 128 ของ พรบ. ดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการบริหารก็ได้ให้ความเห็นชอบต่อ Instructions To Bidders (ITB) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้มีการประกาศและจัดประชุมเพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามแก่ผู้ซื้อซองทุกรายไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดย ITB นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีรายะเอียดสูงมากกว่า TOR จึงถูกนำมาใช้ และต้องขอย้ำตรงนี้ว่าโครงการนี้ไม่มี TOR แต่อย่างใด
นายอานนท์กล่าวต่อว่าแม้ว่าการจัดหาดาวเทียมTHEOS- 2 จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร สทอภ. เมื่อเดือน ม.ค. 2560 แต่ความเป็นจริงแล้วการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการจัดหาดาวเทียมธีออส 2 นั้นแท้จริงแล้วเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 และก็ได้มีการดำเนินการรับฟังความเห็นมาโดยตลอด เพื่อให้กระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ ของการประกวดราคาตลอดจนถึงการบริหารสัญญามีความเป็นธรรม โปร่งใส และถูกต้องทั้งทางด้านเทคนิค ด้านราคา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งโครงการจัดหาดังกล่าวนั้นเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ให้สิทธิ สทอภ. ในฐานะเจ้าของโครงการฯ ในการใช้วิจารณญาณเลือกผู้ที่เข้าร่วมการเสนอราคาหรือ Successful Bidders ที่ให้ประโยชน์สูงสุดในองค์รวม ซึ่งผลการคัดเลือกจากตอนแรกนั้นมีเข้าร่วมจำนวน 7 ราย และเมื่อมาพิจารณาตามปัจจัยต่างๆ ก็ปรากฏว่ามีผู้ผ่านการพิจารณาจำนวน 2 ราย จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการล็อคสเปคแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีการเปิดเผยรายงานผลการสังเกตการณ์ (Notification Report) ของคณะผู้สังเกตการณ์นั้น นายอานนท์กล่าวว่าตรงนี้คงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะว่าใน ITB กำหนดไว้ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านเทคนิคและอื่นๆ ของผู้ยื่นซองประกวดราคา จำนวน 7 รายถือว่าเป็นความลับทางการค้า ดังนั้น สทอภ. จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ได้
นายอานนท์กล่าวต่อว่าแต่เนื่องจาก สทอภ. มีเจตนารมณ์ในการทำงานตามหลักความโปร่งใส จึงได้เลือกสมัครเข้าโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมได้สอบถามและขอข้อมูลของโครงการฯ ในแง่มุมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สทอภ.ไม่เคยเพิกเฉย และได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกประเด็น รวมทั้ง ให้ความร่วมมือทุกครั้งในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแก่คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เนื่องจากอาจจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
นอกเหนือจากการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมแล้ว ก็มีหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่งได้สอบถามและขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ THEOS-2 ซึ่ง สทอภ. ก็ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทำนองเดียวกันกับที่ให้คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วงเพิ่มเติมหรือเสนอแนะให้ยุติการดำเนินโครงการแต่อย่างใด รวมทั้งได้มีการชี้แจงต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงวิทย์ แจ้งว่า เหตุผลที่ นายอานนท์ ผอ.สทอภ. และนพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ต้องเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการจัดซื้อดาวเทียม THEOS-2 ครั้งนี้ เป็นเพราะได้รับคำสั่งจาก นายสุวิทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ ให้รีบชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อสาธารณชนภายใน 24 ชั่วโมง
อ่านประกอบ:
ปลัดก.วิทย์ แจงยังไม่มีตั้งกก.สอบจัดซื้อดาวเทียม7พันล.-คุย 'อานนท์' เคลียร์หมดแล้ว
รมว.วิทย์ฯ รับตั้ง กก.สอบปมจัดซื้อดาวเทียม7พันล.หลังหารือร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เตรียมยกคณะผู้สังเกตการณ์พบรมว.วิทย์ ถกปัญหาจัดซื้อดาวเทียม7พันล.
เห็นไม่ตรงกันแค่ช่วงคัดเลือกผู้ชนะ! ปธ.จัดหาTHEOS-2 ชี้ผู้สังเกตการณ์ลาออกเหตุเข้าใจผิด
ปฏิบัติหน้าที่ต่อก็ไม่เกิดปย.! ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมยกขบวนลาออกดาวเทียมTHEOS-2
โชว์หนังสือ ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรม ทำไมต้องยกขบวนลาออกโครงการดาวเทียมTHEOS-2?
ผ่าปมร้อนข้อพิรุธประกวดราคาTHEOS-2 ก่อน'บิ๊กตู่'เยือนฝรั่งเศส สักขีพยาน GISTDA & Airbus