- Home
- Isranews
- ข่าว
- นักเศรษฐศาสตร์ เปรียบปัญหาแรงงานต่างด้าว เหมือน ‘ขนมชั้น’ ลอกยาก ยันทำนโยบายเดียวไม่ได้
นักเศรษฐศาสตร์ เปรียบปัญหาแรงงานต่างด้าว เหมือน ‘ขนมชั้น’ ลอกยาก ยันทำนโยบายเดียวไม่ได้
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาแรงงานต่างด้าวไทย คือ ขนมชั้น รัฐจะต้องไม่สร้างนโยบายเดียวเพื่อใช้กับทุกระดับ ย้ำที่ผ่านมาพิสูจน์ว่ายิ่งก่อปัญหา แนะลดขั้นตอน เพื่อปิดช่องตลาดค้ามนุษย์
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.60 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 12 (Thammasat Economic Focus-TEF12) ในหัวข้อ “แรงงานต่างด้าว ช่วยจริงหรือวุ่นวาย” ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มธ. กล่าวถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวบ้านเราเหมือน “ขนมชั้น” มีหลายประเภทสามารถแยกตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ในมาตรา 9, 12, 13 และ14 ซึ่งปัจจุบันเฉพาะแรงงานที่อยู่ตามมาตรา 9 มีมากถึง 1,666,642 คน แบ่งออกเป็นประเภททั่วไป คือ กลุ่มคนที่ไม่ใช่แรงงานจากสามประเทศเพื่อนบ้าน มีอยู่ 103,132 คน ส่วนต่อมา คือแรงงานที่นำเข้าตาม MOU อีก 500,440 คน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มแรงงานที่กำลังพิสูจน์สัญชาติจำนวน 1,062,828 คน
ขณะที่แรงงานที่อยู่หรือขึ้นกับมาตราอื่นๆ อย่าง มาตรา 14 ที่เป็นแรงงานเข้ามาตามฤดูกาลมี 18,646 คน มาตรา 13 แรงงานชนกลุ่มน้อย 58,663 คน มาตรา 12 แรงงานจากการส่งเสริมการลงทุนของ BOI 45,013 คน นอกจากนั้นยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้นั่นคือแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำให้ปรากฏตัว มีมติมากมาย เพื่อให้พวกเขาเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ระหว่างทางตัวเลขแรงงานอาจจะขึ้นลง
“ขนมชั้นลอกยาก บางทีเราไม่รู้จะลอกตรงไหน แต่วันนี้มีขนมชั้น แบบใหม่ ที่จัดแบ่งเป็นสีๆ เรารู้ว่าจะกินสีไหนก่อนหลัง แรงงานก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน หากรัฐบาลจะให้มาตราการเดียว ผลจะไม่เกิด เพราะพื้นที่ต่างกัน อาชีพไม่เหมือนกัน” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว และว่า ด้วยธรรมชาติที่แตกต่างกัน งานที่แรงงานต่าวด้าวทำประเภทอุตสาหกรรมจะออกมาตราอะไร ผลกระทบที่ได้จะแตกต่างพอสมควร ผลกระทบแง่บวกคือไทยมีทางใช้ทรัพยากรมนุษย์ ที่มีต้นทุนถูกกว่าความเป็นจริง เพราะต้นทุนบางส่วนรัฐแบกรับไว้แล้ว คือเงินที่ใช้จัดการแรงงานต่างด้าว ทั้งระบบ และสถานประกอบการที่ไม่ได้คิดต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้น
ขณะที่ประเด็นที่สอง ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เป็นการช่วยบรรเทาสังคมสูงอายุ และการเลือกงานของไทย แรงงานต่างด้าวมาทดแทนจริงหรือเปล่า งาน3D แรงงานต่างด้าวทำ แต่ทำไมงาน 3D (Difficult Dirty Dangerous) ในอเมริกาคนทำเป็นคนในประเทศ งานบางงานจะยาก อันตราย สกปรก ทำไมต่างประเทศ คนที่เก็บขยะค่าตัวสูงกว่าพวกเสมียน เพราะเขาคิดเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง แต่เมืองไทยไม่เกิดแบบนั้น การใช้ต่างด้าวทำ คือเอาแรงงานราคาถูกมาทำ เรามีทัศนคติว่าเหมาะกับต่างด้าว
ประเด็นต่อมาที่ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวถึงคือเรื่องต้นทุนทางตรงและทางอ้อม การใช้ต้นทุนที่ถูกลงจากแรงงานต่างด้าว ในมุมมองธรุกิจมองเรื่องนี้ผลได้จากต้นทุน เราชอบพูดว่า แรงงานต่างด้าวมาใช้สวัสดิการของประเทศ แต่ในความจริงเขาจ่ายภาษีเหมือนกับพวกเรา แถมยังมีรายได้น้อยกว่า หมายความว่า เขาแบกรับภาระทางภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าพวกเรามาก ขณะเดียวกันเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ค่าแรงถูกหักออกไป ขณะที่ฝ่ายเก็บแยกไม่อกด้วยว่า เขาคือไทยหรือต่างด้าว
"สิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการจ่ายได้เหมือนกันทุกประการ 70 ประโยชน์เท่ากับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทุพลภาพ ตาย รักษาพยาบาล แต่มีสิทธิบางอย่างที่ไม่ได้ใช้ แต่ต้องจ่ายเท่ากัน เช่น ชราภาพ ที่กำหนดว่าต้องครบ 55ปี แต่พวกเขาไม่อยู่ถึงอายุเท่านั้นก็กลับบ้านไปก่อนเเล้ว หรือสิทธิการว่างงาน เราไปเก็บค่าเบี้ยส่วนนี้ แต่คือสิทธิไม่ได้ใช้ เพราะกฎหมายของแรงงานต่างด้าวบังคับว่า ต้องมีนายจ้าง จะมาสิทธิว่างงานได้ไหม ก็ไม่ได้"
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมา ต้องย้อนกลับคือ ปัญหาขนมชั้น การมีประเภทของแรงงานต่างด้าวหลายรูปแบบทำให้การตรวจสอบและการออกมาตรการแบบเดียว หรือ one size fit all มีปัญหา วันนี้ยังมีตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมจัดหางาน ยังไม่รู้เลยว่า มี 4 มาตราที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องเดิมพอไม่รู้ก็เกิดปัญหาค้ามนุษย์แรงงาน ความล้าช้าเรื่องระบบการขออนุญาต One Stop Service หลายประเทศเริ่มคิดว่า เอาออฟฟิศมาไว้ตึกเดียวให้หมด ลดกระบวนการลง อย่างเช่น เวียดนาม คือประเทศตัวอย่าง
“เงื่อนไขการดำเนินการสิ่งสำคัญนำมาสู่การเลือกทำผิดกฎหมาย เพราะมองว่าถูกกว่าแต่จริงๆ มีต้นทุนแฝง ทำให้เกิดตลาดมืด นำมาสู่การค้ามนุษย์ ระบบสารสนเทศแรงงานต่างด้าว การไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ของแรงงานต่างด้าวได้ การย้ายนายจ้าง ท้ายสุดเป็นเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ทำให้สุดท้ายขาดการแข่งขันในเชิงผลผลิต (Productivity) ความฝันไทยแลนด์ 4.0 ยังสะดุดเพราะนายจ้างยังมองว่า ไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ ใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกต่อไปดีกว่า” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รายงานธ.โลกชี้ไทยหนึ่งในปลายทางแรงงานข้ามชาติ แต่ยังพบอุปสรรคสำคัญเรื่องนโยบาย