รายงานธ.โลกชี้ไทยหนึ่งในปลายทางแรงงานข้ามชาติ แต่ยังพบอุปสรรคสำคัญเรื่องนโยบาย
ธนาคารโลกระบุไทย หนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน แรงงานข้ามชาตินิยมเข้าทำงานมากสุด ชี้อุปสรรคใหญ่ตัดโอกาสย้ายงานเป็นเรื่องของกฎหมาย นโยบายไม่ยืดหยุ่น เปิดช่องขบวนการใต้ดิน
28 ต.ค.60 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในรายงานการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยและมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก โดยที่ไทยมีอัตรารับแรงงานข้ามชาติมากถึง 55% และมาเลเซียที่ 22%ในขณะที่สิงคโปร์ (อีกประเทศหนึ่งที่มีแรงงานข้ามชาติมาก) และฟิลิปปินส์ (หนึ่งในประเทศที่ส่งออกแรงงานข้ามชาติมากที่สุด) การอพยพประชากรในภูมิภาคนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีภายในภูมิภาค
รายงานฉบับดังกล่าว ระบุด้วยว่า การเคลื่อนย้ายประชากรดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความหลากหลายภายในภูมิภาคและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำภายในภูมิภาคของอาเซียนอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคนี้รวยกว่าประเทศที่ยากจนที่สุดมาก ถึง 25 เท่า และอายุมัธยฐานของประเทศที่อายุมากที่สุดนั้นสูงกว่าประเทศที่อายุน้อยที่สุดมากเกือบถึง 2 เท่า
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนแล้ว ในขณะที่บางประเทศประสบปัญหามีงานไม่เพียงพอที่จะรองรับประชากรในวัยทำงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่าง เช่น สิงคโปร์ ประเทศไทยและเวียดนามจะประสบปัญหาแรงงานลดลง แต่กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ คาดว่าจะมีแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปี ข้างหน้า โดยความไม่สอดคล้องกันระหว่าง อุปสงค์และอุปทานของแรงงานจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้แรงงานมีการเคลื่อนย้ายภายในภูมิภาค
กลุ่มธนาคารโลกระบุว่า อาเซียนเป็นเพียงไม่กี่ภูมิภาคที่การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาค เพิ่มขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2538 – 2558 โดยแรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ประเทศไทยสูงสุดในภูมิภาค เป็นจำนวนรวม 6.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 96 ของแรงงาน ข้ามชาติภายในภูมิภาคทั้งหมด ในขณะที่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย และเมียนมาร์ เป็นประเทศ ส่งแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในภูมิภาค
“เนื่องจาก แรงงานได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างมากหากอพยพไปทำงานในต่างประเทศ โดยระดับค่าแรงในประเทศ รายได้สูงอย่างสิงคโปร์สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนอย่างน้อย 5 เท่า แรงงานกัมพูชาจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าหากย้ายไปทำงานในประเทศไทย”
ในรายงานฉบับนี้ยังกล่าวด้วยว่าโดยทั่วไปแล้วแรงงานท้องถิ่นไร้ฝีมือที่มีทักษะในระดับใกล้เคียงกับ แรงงานข้ามชาติจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่น้อยกว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานในด้านค่าแรงเป็นผลกระทบเชิงลบระดับปานกลางสำหรับแรงงาน ท้องถิ่นที่มีการศึกษาน้อย แต่เป็นผลกระทบเชิงบวกสำหรับแรงงานที่มีการศึกษาสูงกว่า
ทั้งนี้ นโยบายของแต่ละประเทศมีส่วนทำให้ผลกระทบต่อแรงงานท้องถิ่นเป็นผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากตลาดแรงงานที่ขาดความยืดหยุ่น เช่น มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็ง อาทิ ด้านการเลิกจ้าง การจ้างงานชั่วคราว และการเลิกจ้างทั้งหมด อาจทำให้แรงงานประสบอุปสรรคในการเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนบริษัท และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อปรับตัวและแสวงหาโอกาสที่เกิดจากการมีแรงงานข้ามชาติในประเทศ
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงภูมิภาคอาเซียนนั้น ยังมีนโยบายด้านการย้ายถิ่นข้ามชาติที่ไม่เหมาะสม และองค์กรที่บริหารจัดการอย่างขาดประสิทธิภาพทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านั้นได้ ปัญหาเกิดจากครัวเรือนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก การขาดข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานสูง โดยสาเหตุหลักมาจากนโยบายด้านการย้ายถิ่นข้ามประเทศที่ไม่เปิดกว้าง และระบบบริหารจัดการการย้ายถิ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลให้แรงงานที่มีศักยภาพแต่ยากจนและด้อยโอกาสไม่สามารถย้ายถิ่นข้ามประเทศได้ ทำให้แรงงานบางส่วน ต้องใช้ช่องทางนอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงแทนการย้ายถิ่นอย่างถูกต้องตามระบบซึ่งปลอดภัยกว่า
รายงานการเคลื่อนย้ายไปสู่โอกาสให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการลดอุปสรรคเหล่านี้ โดยเสนอให้มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านโอกาสการจ้างงาน การปฐมนิเทศก่อนการย้ายถิ่นเพื่อให้แรงงานข้ามชาติปรับตัวได้ดีขึ้น และการเชื่อมระบบบริหาร จัดการการย้ายถิ่นกับตลาดแรงงานในประเทศ
รายงานนี้สรุปโดยรวมว่าประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติควรพัฒนาระบบบริหารจัดการการย้ายถิ่นที่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นทางเศรษฐกิจและตอบรับกับ นโยบายของรัฐบาลตนเองได้ ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกแรงงานควรสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้อง แรงงานข้ามชาติและการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ