ระบบจัดซื้อยาใหม่ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังชี้ กำลังเอาชีวิตคนไทยเดิมพัน
เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ห่วงระบบจัดซื้อยาแบบใหม่ส่งผลกระทบ จัดหาไม่ทัน ขาดแคลน เสี่ยงต่อชีวิตผู้ป่วยโรคไต ด้านผู้แทน UNDP ชี้ระบบจัดซื้อของ สปสช. เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทั่วโลกยอมรับ แนะถ้าจะเปลี่ยนต้องทดสอบระบบให้มั่นใจก่อน
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.60 ที่Growth Cafe&Co. แผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดเสวนาวิชาการ ผลกระทบของนโยบายการจัดซื้อยาฉบับใหม่และกลไกสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หากระบบจัดซื้อยาใหม่ที่จะเริ่มขึ้นไม่สามารถดำเนินการได้ หรือการจัดซื้อยาขาดช่วง ส่งผลให้ยาขาดสต็อกไปนั้น คนไข้ไตวายจะได้รับผลกระทบเร็วที่สุด เพราะคนไข้ต้องล้างไตวันละสี่ครั้ง ขาดน้ำยาเพียงสามวันก็เสียชีวิต ถ้าไม่เสียชีวิตก็เกิดปัญหาน้ำท่วมปอดปัจจุบันคนไข้ที่ล้างไตผ่านช่องท้องมี25,000 ชีวิต วันนี้ระบบใหม่ที่ให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลโดยผ่านโรงพยาบาลราชวิถีไม่เห็นรูปธรรม ขนาดระดับองค์การเภสัชยังไม่กล้าซื้อยา ใครจะกล้า แล้วหากคนไข้เสียชีวิตจากการขาดยาใครจะรับผิดชอบ สตง.จะรับผิดชอบไหม รัฐมนตรีจะรับผิดชอบไหม
“ถ้าเกิดปัญหานี้ เหมือนกำลังจับพวกเราเป็นตัวประกัน เอาพวกเราเป็นตัวต่อรอง ชีวิตอยู่บนเส้นด้าย ในอดีตที่ผ่านมาสำนักงานปลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ซื้อยามาสิบปี ไม่ได้รับผลกระทบเลย พอมีรัฐบาล คสช. ผลกระทบถึงเกิดขึ้นขนาดนี้ ถ้าเกิดบริหารกันแบบนี้ต่อไป เราจะฝากชีวิตไว้กับใคร ถ้าประเทศไทยขาดยา เราจะทำอย่างไร” นายธนพลกล่าวและว่า ตอนนี้สถานการณ์ซื้อยาเริ่มเปลี่ยนมือและมีปัญหา เราเริ่มเยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลผู้ป่วยว่ามีการส่งน้ำยาล้าช้าไหม ปรากฏว่า มีส่งช้า กระบวนการส่งแบบพอดีๆ เราต้องข้อสังเกตปัญหานี้ จะเกิดจากการขาดยาหรือไม่
ด้านนายอภิวัฒน์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในภาวะที่ระบบสุขภาพกำลังสับสน วังเวงนี่คือการปฏิรูปสุขภาพของประเทศไทย เมื่อก่อนยามีราคาแพง เข้าไม่ถึง เราต่อสู้ดิ้นร้น ทำให้ยาราคาถูกลง ทำให้ยาเข้าระบบหลักประกันสุขภาพ วันนี้เรากำลังจะถอยกลับไปที่เดิมใช่หรือไม่ ศึกแย่งชิงอำนาจ ระหว่างผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเชิงยุทธศาสตร์เราน่าจะทำงานร่วมกัน เคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ทำให้การเข้าถึงยาของประชาชนทุกคน
นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ถ้าโพกัสที่คนป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี เริ่มเกิดผลกระทบแล้ว จากเดิมเราเคยรับยา 3-4เดือน/ครั้ง ซึ่งวันนี้สต็อกยาสำรองถึงพฤษจิกายน 60 ที่ยาต้านไวรัสจะหมดลง ผู้ติดเชื้อเริ่มต้องรับยารายเดือน สะท้อนว่า ระบบปั่นป่วน ระบบสุขภาพเราต้องกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย เพราะไม่อยากให้ขาดยา เราวังเวงใจเหลือเกิน หาก พ.ย.ไม่มีการจัดซื้อยาเพราะติดปัญหาระบบจัดซื้อใหม่ รู้อยู่ว่าพวกเราขาดยาไม่ได้ พวกเราที่อยู่ในระบบเองอยู่ในภาวะที่ยังไม่เห็นอนาคต ยาหลายรายการ หมดไปแล้วโรงพยาบาลทำได้เพียงแค่กระจายสิ่งที่มีจากที่เคยรวมเม็ด ก็แยกเม็ดไปก่อน
“เดือนตุลาคม พฤจิกายน ถ้ายังไม่การซื้อยา โอกาสขาดยาเป็นไปได้สูงมาก การที่สตง.ชี้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่หน้าที่ต่อรองราคารวมยา ช่วยประหยัดงบไปเจ็ดหมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจ คนทำงานมั่นใจ แล้วมาบอกว่า ระบบนี้ไม่ดี ไม่มีอำนาจ แล้วทำไมไม่เพิ่มอำนาจ กลไกใหม่ แต่กลับเพิ่มขั้นตอนให้ โรงพยาบาลราชวิถีจัดซื้อ จากนี้ไป ต้องดูว่าจัดซื้อทันไหม” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯกล่าวและว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้การขาดยาไม่ได้ตายทันที แต่จะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา หลายเป็นว่าประเทศก็ต้องแบกรับการรักษาเพิ่มขึ้น มันสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช้เหตุ วันนี้มีผู้ป่วยอยู่3 แสนคนที่ต้องกินยา ลองคิดดูว่า ถ้าขาดยา คนเหล่านี้จะมีเชื้อดื้อยา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่ากฎหมาย เพราะคือชีวิตคน ช่องว่างตรงนี้ ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ผู้บริหารบอกว่า จะไม่ขาดยา แต่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาลทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน คือถี่ขึ้น แบบนี้เราต้องลาออกจากงานเพราะกระทบการทำงาน สตง. สิ่งเหล่านี้ ท่านพิจารณาหรือไม่
ด้านนายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ หัวหน้าแผนกส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทยกล่าวถึงรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างรวมที่UNDP วางไว้เป็นคำแนะนำว่า หากไม่มีรูปแบบการจัดซื้อดังกล่าวจะส่งผลให้อำนาจต่อรองไม่มี และที่สำคัญต้องจ่ายมากกว่าที่จำเป็น การมีระบบจัดซื้อรวมเพื่อ 1)ควบคุมอำนาจองค์กรภาครัฐ 2)ระบบ price performance 3)ให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่าน integrity pact (ข้อตกลงคุณธรรม) 4)เกิด framework agreement (ข้อตกลงร่วมกัน)
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงทางจริยธรรมในระบบสาธารณสุข โดยกรอบความเสี่ยงมีอยู่ว่า ผู้ให้บริการ กำหนดราคาที่สูงเกินไป คิดค่าบริการเพิ่มนอกเหนือจากที่กำหนด ให้ยาที่ไม่จำเป็น หรือให้ยาที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นระบบจัดซื้อรวมก็เพื่อ ลดความเสี่ยงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและเอกชนที่เสนอสินค้า เพื่ออำนาจการต่อรองของผู้ซื้อได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์เดียวกัน ได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการจัดซื้อ
“เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างรวมในประเทศไทย มี สปสช. เป็นองค์กรที่ริเริ่มใช้ มีกฎหมายที่ให้ดำเนินการ มีหน่วยงานดำเนินการแล้ว เมื่อทดลองดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้ว คิดดูว่า ผลจะเป็นเช่นไร ซึ่งการดำเนินงานของสปสช.ที่ผ่านมาก็กลายเป็นต้องแบบ( Role Model) ให้หลายๆ ประเทศ” นายวิสุทธิ์ กล่าว และว่า การเปลี่ยนหน่วยงานจะดีหรือไม่ ตามหลักการขอให้มีหน่วยงานกลาง ก็ถือว่าใช้ได้ การเปลี่ยนที่เริ่มใหม่ อยู่ที่หลักการ ว่าการจัดซื้อจัดจ้างรวมมีมั้ย ระบบการจัดซื้อของ สปสช. เป็นตัวอย่างของการริเริ่ม การจัดซื้อจัดจ้างรวมในประเทศไทย
“ในการจัดซื้อยาของทั้งประเทศ สปสช. มีหลักฐานการทดลองไปแล้วว่าราคายาลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงการบริหารจัดการสต็อก ครบคุณสมบัติ ที่ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ของ UNDP เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างรวมเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครจะเชื่อว่าจะทำได้ ยากที่จะตัดทัศนคติตรงนั้น แต่การจะนำมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีการทดลองระบบว่าดีจริง และตรงตามกรอบเพื่อลดความเสี่ยง” ผู้แทนUNDP กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชี้กลไกซื้อยาปี 61 ยังไม่เกิด กรรมการฯ แนะใช้อำนาจพิเศษ สปสช.ซื้อได้
กก.หลักประกันสุขภาพภาค ปชช.ค้าน สธ.จัดซื้อยาแทน สปสช.
ค้นข้อมูลจัดซื้อภาครัฐไม่ยาก! เปิดตัว'รายใหญ่'จัดซื้อยาวิธีพิเศษ 5.2 พันล.
เปิดร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 'ยา-เวชภัณฑ์' ใช้วิธีคัดเลือกและเฉพาะเจาะจง
อ้างออกระเบียบใช้เองได้! กรมบัญชีกลางแจงปม13รพ.รัฐกังวลเสี่ยงคุกกม.จัดซื้อใหม่
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
สุรพล นิติไกรพจน์: พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฉบับใหม่ รวมศูนย์อำนาจ อาจส่งผลกระทบศก.
ปลัดสธ. ตั้งคณะกก.วางระบบจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ 5 กลุ่มให้เสร็จภายใน 3 เดือน
กฎกระทรวง 7 ฉบับ ออกตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สปสช. เดินหน้า “จัดหายาและเวชภัณฑ์ฯ โครงการพิเศษ ปี 60”
เครือข่าย รพ.ฯ ย้ำคลังคลอดระเบียบกลางจัดซื้อยา ต่างคนต่างทำไม่ได้ กระทบระบบส่งต่อผู้ป่วย
จี้ สตง.ทำหนังสือยืนยัน รพ.ราชวิถี จัดซื้อยารวมระดับประเทศได้