- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 'ยา-เวชภัณฑ์' ใช้วิธีคัดเลือกและเฉพาะเจาะจง
เปิดร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 'ยา-เวชภัณฑ์' ใช้วิธีคัดเลือกและเฉพาะเจาะจง
กาง กม.ลูก 1 ใน 7 ฉบับ ร่างรองรับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ศึกษาวิธีจัดซื้อพัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข “ยาชื่อสามัญตามบัญชีหลักชาติ” ใช้วิธีเจาะจงจากองค์การเภสัชฯ-สภากาชาดไทย
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค. 2560 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 22 ส.ค. 2560 เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะได้มีผลบังคับใช้ทัน
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาบางรายการของสถานพยาบาลรัฐ เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์รองรับ ทำให้โรงพยาบาลรัฐ 13 แห่ง ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้แก้ไขโดยเร่งกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้จัดหาสำหรับดูแลผู้ป่วยต่อไปได้
ขณะที่กรมบัญชีกลางยืนยันว่า สามารถจัดให้มีระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเเละการบริการพัสดุขึ้นใช้เองทั้งหมดหรือบางส่วนได้ เเต่ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง เเละได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
(อ่านประกอบ:13 รพ.รัฐจี้รมว.คลัง กำหนดเกณฑ์ซื้อยา-อวัยวะเทียม หลังพ.ร.บ.จัดจ้างใหม่มีผล หวั่นโทษอาญา)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบในเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ ที่ถูกร่างขึ้น ประกอบด้วย
1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หน่วยงานอื่นเป็นหน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ พ.ศ.
3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. ...
4.ร่างกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. ...
5.ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา พ.ศ. ...
6.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. ...
7.ร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. ...
(อ่านประกอบ:ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวม 7 ฉบับ)
ทั้งนี้ เฉพาะร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. ... มีทั้งหมด 7 หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 พัสดุส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตร, หมวด 2 พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ด้อยโอกาส, หมวด 3 พัสดุส่งเสริมการเรียนการสอน, หมวด 4 พัสดุส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาหรือการให้บริการทางการศึกษา, หมวด 5 พัสดุส่งเสริมนวัตกรรม, หมวด 6 พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข และหมวด 7 พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ
โดยในส่วนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อการจัดซื้อยา อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาบางรายการของสถานพยาบาลรัฐขาดหลักเกณฑ์รองรับนั้น เนื่องจากในหมวด 6 พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข ของร่างกฎกระทรวงฯ
ทั้งนี้ ระบุรายละเอียดเพียงว่า “พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข” หมายถึง สินค้าหรือบริการเกี่ยวกับการป้องกันหรือการรักษาโรค ยา หรือเวชภัณฑ์
โดยให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดซื้อ “ยาตามชื่อสามัญ (generic name) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ” โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมและสภากาชาดไทย โดยจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เว้นแต่ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าน้อยละ 80
ส่วน “ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทย ได้ผลิตออกจำหน่ายแล้ว” ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมและสภากาชาดไทย เว้นแต่ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้จัดซื้อจากโรงงานเภสัชกรรมทหาร ทั้งนี้ ราคายาหรือเวชภัณฑ์ที่หน่วยงานดังกล่าวจำหน่ายต้องไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด
ขณะที่ “ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมหรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร มิได้เป็นผู้ผลิตหรือจำหน่าย” ให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก โดยจะจัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร หรือผู้ขายรายใดก็ได้ แต่ต้องแจ้งองค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหารทราบด้วยทุกครั้ง
เว้นแต่ในกรณีที่พัสดุมีราคาไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนดให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดซื้อ โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมหรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร
ร่างกฎกระทรวงฯ ยังบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อพัสดุ “ยาและเวชภัณฑ์ที่ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย” โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยจัดซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณเพื่อจัดซื้อพัสดุดังกล่าว และให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง “วัคซีนโรคตับอักเสบบีและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สภากาชาดไทยผลิตเอง และไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ” จากสภากาชาดไทย
ขณะที่เครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เสนอแนะเพื่อนำไปสู่การพิจารณาบรรจุในกฎกระทรวงการคลังหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. กรณีการจัดหายากลุ่ม “ยาเคมีทั่วไป” และกลุ่ม “ยาชีววัตถุ” สำหรับสถานพยาบาลของรัฐ
1.1 ข้อเสนอแนวทางการจัดหายาในกลุ่มยาสารเคมี
1.1.1 กำหนด “บัญชีรายการยาที่เป็นกลุ่มยาที่เป็นยาช่วยชีวิต หรือ ยาที่รักษาโรคร้ายแรง และกลุ่มยาที่ต้องกำกับติดตามคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต" และเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อกำหนดและติดตามกำกับรายการยาในบัญชีให้ทันสมัย
1.1.2กำหนดให้โรงพยาบาลสามารถจัดหายาที่มีชื่อสามัญเดียวกันในบัญชีในข้อ 1.1.1.ได้ 2 ชื่อการค้าที่อาจมีราคาต่างกันในขณะเดียวกัน
กล่าวคือ มีทั้งยาสามัญ 1 ตัว ซึ่งจัดหาโดยวิธีคัดเลือก และยาต้นแบบ 1 ตัว ซึ่งจัดหาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
1.1.3 กำหนดแนวทางให้โรงพยาบาลสามารถจัดหายา “กลุ่มยาทั่วไป” ให้มียาสามัญ ที่มีชื่อสามัญเดียวกันได้มากกว่า 1 ชื่อการค้า แต่ไม่เกิน 2 ชื่อการค้าที่อาจมีราคาต่างกันในขณะเดียวกัน หากรายการยานั้นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนที่โรงพยาบาลประเมินคุณภาพยาและผลการรักษาทางคลินิกอยู่ระหว่างนำเข้า
1.1.4 กำหนดคุณสมบัติหลักของเกณฑ์ประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา สำหรับการจัดหาโดยวิธีคัดเลือกในยากลุ่มสารเคมีทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานนำไปปรับใช้ต่อไป
1.1.5 ในระหว่างรอประกาศกระทรวงการคลัง หรือระเบียบปฎิบัติด้านยา เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยากลุ่ม “ยาสารเคมี” ไว้บริการผู้ป่วยขอให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยากลุ่ม “ยาสารเคมี" ตามแนวทางในข้อ 1.1.2 และข้อ 1.1.3
1.2ข้อเสนอแนวทางการจัดหา “ยาชีววัตถุ”
1.2.1 กำหนดเกณฑ์ในการจัดซื้อ ยาชีววัตถุ โดยให้โรงพยาบาลสามารถระบุชื่อการค้าในการจัดซื้อยาชีววัตถุได้ และสามารถจัดหายาชีววัตถุที่มีชื่อสามัญเหมือนกัน แต่มีชื่อการค้าแตกต่างกันไว้ใช้ในโรงพยาบาลได้มากกว่า1 ชื่อการค้าที่อาจมีราคาต่างกัน ในเวลาเดียวกัน
1.2.2 ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ขึ้นทะเบียบยาชีววัตถุชื่อการค้าหนึ่งว่าเป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง กับยาชีววัตถุอ้างอิง ให้ถือว่ายาชีววัตถุคล้ายคลึงนั้น สามารถใช้ทดแทนยาชีววัตถุอ้างอิงนั้นได้ และในการจัดหายาชีววัตถุนั้นให้ดำเนินการจัดหาเพียงรายการเดียว
1.2.3 ในระหว่างรอประกาศกระทรวงการคลังหรือระเบียบปฏิบัติด้านยา เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยา ชีววัตถุ ไว้บริการผู้ป่วยขอให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยาชีววัตถุในข้อ 1.2.1 ด้วยใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 56 (2)ข้อ (ค) ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
2.ข้อเสนอแนวทางการจัดหาอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาสำหรับสถานพยาบาลของรัฐ
2.1 กำหนด "บัญชีรายการอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาแบบทั่วไป" ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้ได้กับผู้ป่วยจำนวนมากและจำหน่ายโดยหลายบริษัทที่กำกับโดยคณะทำงานร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และให้โรงพยาบาลจัดหาโดยวิธีคัดเลือก
2.2 เสนอให้จัดหาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงสำหรับผลิตภัณฑ์บางรุ่นที่นอกเหนือ "บัญชีรายการอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาแบบทั่วไป" และมีความจำเป็นต้องใช้ สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย
2.3 ในระหว่างรอประกาศกระทรวงการคลัง หรือระเบียบปฏิบัติด้านอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑฺอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค" ไว้บริการผู้ป่วย ขอเสนอให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค โดยใช้การจัดหาโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ตามมาตรา 56 (2) ข้อ (ค)ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
3. ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติในกระบวนการทางพัสดุ
3.1 ขอให้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบข้อมูลต่างๆ เพื่อในการจัดหาให้ชัดเจน ทันเหตุการณ์และถูกต้อง เช่น ข้อมูลราคากลางของยา ข้อมูลจำนวนผู้จำหน่ายยา มีหน่วยงานที่รับปรึกษาหากมีปัญหาการจัดหา
3.2 ด้านการปฏิบัติงาน กำหนดแนวทางปฏิบัติให้เข้ากับบริบททางการแพทย์ที่ต้องเร่งด่วนทันการ เช่น กรณียาที่จัดหาไว้เดิมขาดคราวหรือมีปัญหาคุณภาพยา กรณีบริษัทยาร้องอุทธรณ์
3.3 ด้านเทคนิค พัฒนา website ของทั้งกรมบัญชีกลางหรือหน่วยงานที่ต้องค้นหาข้อมูลให้รวดเร็วและเสถียร จัดทำโปรแกรม interface เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาลเข้าไปใน E-GP พัฒนาวิธีการจัดหาให้ลดการใช้เอกสาร
อ่านประกอบ:อ้างออกระเบียบใช้เองได้! กรมบัญชีกลางแจงปม13รพ.รัฐกังวลเสี่ยงคุกกม.จัดซื้อใหม่
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
สุรพล นิติไกรพจน์: พ.ร.บ.จัดซื้อจ้างฉบับใหม่ รวมศูนย์อำนาจ อาจส่งผลกระทบศก.