แรงงานต่างด้าวเผยรัฐออกม.44 ไม่ช่วย ฮิวแมนไรท์ วอทช์ชี้4มาตราเข้าข่ายละเมิดสิทธิ
ตัวแทนแรงงานต่างด้าวเผยรัฐออกม.44 ไม่ช่วยอะไร อยากให้กระทรวงแรงงานแปลกฎหมายเป็นภาษาของแต่ละประเทศ เพื่อเข้าถึงง่าย ฝั่งฮิวแมนไรท์ วอทช์ ชี้ 4 มาตราในพ.ร.ก.เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน อธิบดีกรมจัดหางาน เผย เตรียมเปิดศูนย์ลงทะเบียนทั่วประเทศ ย้ำแม้ยกเลิกบทลงโทษ แต่ความผิดยังเท่าเดิม ด้านนักวิชาการชี้ ออกกฎหมายไม่ช่วยเรื่องการจัดอันดับประเด็นแรงงานของโลก
เมื่อวันที่ 05 ก.ค.60 ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “พระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร”
นายวรานนท์ ปีติวรรณ์ อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวถึงคำสั่งคสช. ขยายเวลาบังคับใช้บทลงโทษในพ.ร.ก. (อ่านประกอบ:ม.44 ทางการ ชะลอ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ให้ 4 มาตรามีผลบังคับใช้ ม.ค.61) โดยเน้นย้ำว่าไม่ได้ยกเว้นบทความผิด ยังคงมีความผิดเหมือนเดิม แต่ไม่มีการลงโทษ ชะลอออกไปจนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งก็ถูกใจสำหรับคนที่มีความผิดแล้วจะโดนลงโทษ แต่มองอีกมุมช่วง180 วัน อาจจะมีคนที่อยากทำผิดเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากรู้ว่าทำแล้วจะไม่โดนลงโทษ มีบวกมีลบ แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยทำให้ผู้คนสบายใจภายใต้หกเดือนกว่าๆ แม้ว่าจะมีความผิดเหลืออยู่ แต่บทลงโทษไม่มีใน 4 มาตรา
อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวต่ออีกว่า ในคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ที่ให้รมต.ออกคำสั่ง เป็นอนุบัญญัติของคำสั่งคสช.ฉบับนี้ จะมี 2 เรื่องหลักๆ คือ 1) การเปลี่ยนนายจ้างให้ถูกต้อง เชื่อว่ามีแรงงานอีกหลายแสนคนที่ทำงานไม่ตรงกับนายจ้าง 2) MoU คือ สิ่งที่รัฐบาลไทยทำความตกลงกับ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ให้ส่งแรงงานมาทำงานในไทย ภายใต้กติกาที่กำหนดตายตัวในฝั่งไทย ถ้าเลือกจะใช้ระบบนี้เบื้องต้นมายื่นขอโควต้า แล้วติดต่อโปรกเกอร์(คนจัดหาแรงงาน) ทำกระบวนการทั้งหมดภายใน 15 วัน ซึ่งเราควบคุมตรงนี้ได้ แต่ที่ควบคุมไม่ได้คือประเทศต้นทาง นี่คือแนวทางในการนำเข้าแบบ MoU นายจ้างที่ตัดสินใจส่งกลับไปเพื่อนำเข้าไปแบบนี้ ราวๆ 5-6 หมื่นคน ไม่นับปีนรั้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่กลับบ้าน เราจะเปิดศูนย์แจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว ศูนย์นี้จะเปิดในช่วงเวลาที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ไม่ยาวจนกระทั่งมีคนไปหาแรงงานจากชายแดนเข้ามาเเล้วมาบอกว่านี่คือลูกจ้างที่อยู่มานานแล้ว
“การเปิดศูนย์นี้เพื่อออกหนังสือยืนยันผ่านระบบคัดกรอง ออกใบอนุญาต คาดว่าศูนย์นี้เปิดเพียง 15 วันเพื่อให้มาลงทะเบียน หลังจาก15 วันก็จะปิดรับและเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง จากนั้นจะส่งให้ไปทำเอกสารรับรองสัญชาติของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ของ เมียนมา คือ CI หลังจากได้เเล้ว ก็ไปประทับตราวีซ่าทำงาน แล้วกลับมาออกใบอนุญาตทำงาน จบกระบวนการ ส่วนประเทศอื่นยังรอการพูดคุย"
ส่วนคำถามว่าจะทำทันหรือไม่กับปริมาณแรงงานต่างด้าวหลายแสนคนนั้น นายวรานนท์ กล่าวว่า ไม่ต้องห่วง เพราะจะเปิดศูนย์ในทุกจังหวัด และจะระดมคนจาก 6-7 หน่วยงาน ตั้งทีมคัดกรองเฉพาะกิจ โดยในกรุงเทพฯ จะเปิด10หน่วย อีกไม่นานเราจะรู้ว่า มีนายจ้างลูกจ้างอีกเท่าไหร่ ตรงกับที่คาดการณ์หรือไม่
“มีคนพูดมาว่า ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนที่ผิดกฎหมายอยู่ แล้วถามผมว่า ใช่มั้ย ไม่มีหน่วยงานไหนรู้ว่าเรามีแรงงานผิดกฎหมายเท่าไหร่ แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ตัวเลขนี้ดูเยอะ ให้เกิดการตื่นตัวมาก แล้วออกมาตรการมาผ่อนคลายกันหรือ ยิ่งปั้นตัวเลขนี้มากขึ้นเท่าไร ยิ่งสะท้อนความไร้วินัยของคนไทยที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นผม จะตอบว่าตัวเลขไม่น่าจะเกินล้านคน” อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าว และว่า สองปีที่ผ่านมา เรานำเข้าแรงงานผ่านระบบ MOU ราว4แสนคน แล้ววันนี้เข้ามาที่ด่านสามด่าน วันละ 1,000คน เข้าทุกวัน เดือนละ 3 หมื่นคน นี่กำลังพิจารณาจะเปิดเสาร์ อาทิตย์ ขอบคุณคนที่พยายามนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย
นายวรานนท์ กล่าวว่า วันนี้มาเเล้ว 4แสนคน เชื่อว่าถ้าค่าใช้จ่ายนำแรงงานเข้ามาแบบ MoU มันแพง มันลำบาก มันจะทำให้ทุรนทุราย ทำให้เศรษฐกิจเดินไม่ได้แบบที่ทุกคนพูดกัน คน 4แสนที่เข้ามาคงจะปัญญาอ่อน
ด้าน รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า ทุกวันนี้คนที่ติดสินบน ก็เพราะว่ากระบวนการที่จะทำให้ถูกกฎหมายเสียค่าปรับ ยุ่งยาก เยิ่นเย้อ และแพงเกินไปใช่หรือไม่ สู้คุยกับตำรวจถูกกว่า ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ออกกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องทำให้กระบวนการจดทะเบียนต่างๆ มันง่าย เพื่อให้คนกลับมาใช้วิธีการที่ถูกกฎหมายมากขึ้น หัวใจของเรื่องอยู่ตรงนี้ แต่เราไปบอกว่า ถ้าไม่จดทะเบียนจะโดนลงโทษอย่างหนัก
“จริงๆ แรงงานถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายเป็นมุมมองอีกด้านหนึ่ง แต่สำหรับมุมมองของแรงงาน แรงงานผิดกฎหมาย ถูกกฎหมายก็เป็นแรงงาน แรงงานต่างกันที่ฝีมือไม่ใช่สถานะทางกฎหมาย” รศ.แล กล่าว และว่า ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาเรื่องการทำตัวให้ถูกกฎหมายของแรงงานถูกลง นั่นคือทำให้สะดวก เร็ว และง่าย วันนี้เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ ความแตกตื่นทั้งหลายเอื้อต่อการติดสินบน คนจะรีบกลับ รีบมา ยิ่งรีบยิ่งต้องจ่ายแพง
รศ.แล กล่าวถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้แรงงานในมาตรฐานของประชาคมโลก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะถูกลดระดับ (เทียร์) สิ่งที่เราควรจะต้องดู การใช้แรงงานของเราเป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ ปรากฎการณ์อย่างนี้คิดหรือว่า คนที่มาประเมินเราเขาจะไม่รู้ ข้อมูลทั้งหลาย
“ถ้าเราจะยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชน เราต้องไปให้สัตยาบันในอนุสัญญาเรื่องแรงงาน การออกกฎหมายอย่างนี้นอกจากไม่ได้ช่วยให้เรามีเครดิตเพิ่มขึ้น แถมยิ่งทำให้เกิดโกลาหลซ้ำเติมเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้วย เพราะหากคิดว่า ความมั่นคงของชาติคือเรื่องของเศรษฐกิจด้วยเเล้ว วันนี้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจถูกเขย่าอย่างแรง อย่างน้อยก็ระยะหนึ่งก่อนที่ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล” รศ.แล กล่าว
ด้านนายPhil Robertsonรองผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวถึง พ.ร.ก.นี้มีส่วนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีบางประการที่ต้องรับการแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะในมาตรา101 ที่พูดว่า แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาต หากถูกจับต้องติดคุก 5ปี ผิดหลักการสิทธิมนุษยชนโดยตรง ต้องเปลี่ยน ถ้าจะปรับก็ปรับได้ แต่จะให้ติดคุกไม่ได้ เรื่องที่สองในม.15 ที่กำหนดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัยสำหรับผู้มีใบอนุญาต เป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานที่จะเลือกที่พักอย่างเสรี ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ถ้ากฎหมายกำหนดว่าต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดอย่างเดียวตรงนี้มีปัญหา ควรยกเลิกมาตรานี้
ประเด็นต่อมารองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า คือการระบุว่าจะมีการสร้างกลไกการร้องทุกข์ แต่ไม่มีรายละเอียดใน พ.ร.ก. อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะแรงงานโดนเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลายครั้ง มีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ผิดกฎหมายกับนายจ้าง
"ในม.18 ที่กำหนดว่า กรรมการผู้แทนองค์กรลูกจ้างและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นสัญชาติไทย ถามว่ากฎหมายนี้เป็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติด้วย แรงงานข้ามชาติหลายคนสามารถพูดไทยได้ดี แต่กลับไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามาร่วมด้วย และต้องขอชมใน ม.131 ที่กำหนดโทษเรื่องการยึดใบอนุญาตหรือเอกสารสำคัญของคนต่างด้าวไว้ เห็นว่า มาตรานี้ก็เป็นมมาตราที่ดี"
ด้าน นาย ซรา ทน ซุย ตัวแทนเครือข่ายประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่อยู่เป็นล้านคน เราไม่สามารถเข้าถึงตัวบทกฎหมายไทยได้ เพราะยังคงเป็นภาษาไทย เราอ่านไม่ออก กระทรวงจะเน้นแปลแค่ข้อบทลงโทษ ออกแผ่นพับ ดังนั้นกระทรวงควรแปลกฎหมายออกมาในทุกภาษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เราอยู่เมืองไทยเราต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ส่วนเรื่องการออกคำสั่งม.44 มาชะลอการบังคับใช้กฎหมาย นายซรา ทน ซุย กล่าวว่า ไม่ช่วยให้ดีขึ้น เพราะกฎหมายออกมาเเล้ว ทำไมก่อนออกไม่พิจารณาให้ดีก่อน ทำไมไม่ปรึกษากับคนที่ต้องได้รับผลกระทบก่อน เมื่อกฎหมายที่ออกมาไม่สมูบรณ์เลยเกิดปัญหาแบบนี้.
อ่านประกอบ
วิษณุ แจงขยายใช้ 4 มาตราในพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ออกไป 6 เดือน
นักวิชาการ หนุนจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวถาวร ยันเปิดเป็นรอบๆไม่ใช่ทางออก
ตกค้างเป็นล้าน เอ็นจีโอ หวั่นนายจ้างเลือกจ่ายส่วย หลังรัฐไม่ขยายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่
กกร.ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง
กกร.ยื่น 4 ข้อคิดเห็น สนช.ทบทวน พ.ร.ก.ต่างด้าว-จี้เปิดจดทะเบียนเเรงงานผิด กม.อีกรอบ
เครือข่ายปชก.ข้ามชาติ จี้รัฐทบทวน พรก.จัดการแรงงานต่างด้าว หลังพบนายจ้างทิ้งลูกน้อง