นักวิชาการ หนุนจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวถาวร ยันเปิดเป็นรอบๆไม่ใช่ทางออก
ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ แนะสร้างระบบจดทะเบียนถาวร ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว ให้นายจ้าง-ลูกจ้าง จ้างงานเสรี ยั่งยืนกว่าบังคับใช้ กม. ชี้ช่วยให้แรงงานข้ามชาติไม่ต้องหลบซ่อน ถูกข่มขู่เรียกเงิน เป็นชนักติดหลัง ด้าน ก.เเรงงาน เผยขืนเปิดจดทะเบียนทุกรอบ หวั่นจำนวนผู้ใช้เเรงงานทะลัก ชี้ทางออกให้นายจ้างทำตามขั้นตอน เเจ้งความต้องการกับกรมการจัดหางาน ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ วอนไม่หลงเชื่อวาทกรรม รบ.ไม่เอาใจคนไทย
ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีรัฐบาลเตรียมใช้มาตรา 44 ขยายเวลาบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ออกไป 120 วัน ใน 3 มาตรา คือ มาตรา 101, 102 เเละ 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับเเละบทลงโทษรุนเเรงกับลูกจ้างเเละนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะให้มีผลย้อนหลังถึง 23 มิ.ย. 2560 เพื่อบรรเทาปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกส่งให้กลับประเทศ เพราะกลัวความผิด ว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กระทรวงแรงงานควรเปิดให้มีกระบวนการจดทะเบียนที่ง่าย และราคาต้นทุนต่ำมากที่สุด
“ต้องให้กระบวนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่าย หรือเวลาในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค ไม่เช่นนั้นไทยจะไม่มีแรงงานตามที่ต้องการ” ดร.แล กล่าว และว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นรอบ ๆ ไม่ใช่ทางออก เพราะรัฐบาลจะปิดจดทะเบียนเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งดีที่สุด จึงต้องมีระบบจดทะเบียนถาวร ให้นายจ้างกับลูกจ้างสามารถจ้างงานโดยเสรี
ดร.แล กล่าวด้วยว่า การสร้างระบบจดทะเบียนถาวรนี้ ในแง่อุดมคติแรงงานเหล่านี้จะไม่ต้องหลบซ่อน หรือไปหากินกับความยืดหยุ่นของกฎหมาย และไม่มีชนักติดหลัง ไม่มีใครจะมาข่มขู่เรียกเงินได้ คล้ายกับการจัดเก็บภาษีผ่านแดน หากไม่มีการจัดเก็บก็จะไม่มีการหนีภาษี
“รัฐบาลลืมคิดถึงผลกระทบที่ตามมาของการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานฯ เกี่ยวกับความวุ่นวายของนายจ้างและลูกจ้าง มีการส่งตัวกลับหรือหนีกลับ บางครั้งต้องสูญเสียค่านายหน้าหรือใต้โต๊ะไป โดยไทยไม่ได้ชดเชยตามกฎหมาย ทั้งที่ปกติกฎหมายสั่งให้ชดเชย เมื่อทำงานครบ 4 เดือน ไม่ว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม แต่ที่ผ่านมารัฐบาลคิดเพียงว่า หากเปิดให้ลงทะเบียนเป็นช่วง ๆ นายจ้างจะย่ามใจ พาลูกจ้างไปจดทะเบียนเมื่อไหร่ก็ได้ จึงใช้วิธีประกาศเด็ดขาดว่าไม่เปิดให้อีกแล้ว” ดร.แล กล่าวในที่สุด
ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสาเหตุไม่เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเพิ่มเติม เพราะจะทำให้แรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาในประเทศมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบตามมา เช่น กรณีการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแล้ว 4 ครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองถูกกฎหมายมาขึ้นทะเบียน 1.3 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติเถื่อนเข้ามาอยู่ในระบบอีก 1.3 ล้านคน รวมเป็น 2.6 ล้านคน
แม้รัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดให้จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีก โฆษกกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานมีทางออกให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง โดยให้นายจ้างที่ประสงค์ต้องการแรงงานมายื่นคำร้องกับกรมการจัดหางาน จากนั้นจะช่วยหาแรงงานคนไทยก่อน กรณีไม่ได้จะออกหนังสือรับรองการจ้างแรงงานให้ภายใน 5 วัน จากเดิม 15 วัน เพื่อให้นำไปติดต่อกับบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เสียค่าธรรมเนียม 2 หมื่นบาท เป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าทำพาสปอร์ต ก่อนจะแจ้งไปยังประเทศต้นทางจะทำพาสปอร์ต ยื่นขอวีซ่าประเภทเข้าทำงาน
ส่วนกรณีนายจ้างมีแรงงานข้ามชาติทำงานให้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย สามารถไปติดต่อกับกรมการจัดหางานได้เช่นกัน เพื่อแจ้งความประสงค์ตามจำนวนที่ต้องการ หากกรมการจัดหางานเปิดรับสมัคร แล้วไม่มีผู้สมัคร กรมการจัดหางานจะออกหนังสือรับรองการจ้างงาน เพื่อนำไปให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานให้ปัจจุบัน แต่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางเพื่อทำพาสปอร์ตกับวีซ่าขอกลับมาทำงานอีกครั้ง
“ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเตรียมแผนเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาจัดทำเอกสารให้แรงงานในประเทศแทนการให้แรงงานต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไม่ต้องกังวลว่าจะมีเจ้าหน้าที่อาศัยช่องทางในการขู่รีดเงิน เพราะนายกรัฐมนตรีกำชับหากพบเห็นให้แจ้งจะดำเนินการทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง” นายอนันต์ชัย กล่าว
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีความจำเป็น เพื่อมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงาน โดยสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สังคมหลงเชื่อวาทกรรมที่อ้างว่ารัฐบาลเอาใจแรงงานข้ามชาติ แต่ไม่สนใจแรงงานคนไทย รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการเมือง
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ไทยมีแรงงานไทยราว 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 17 ล้านคน นอกระบบ 21.3 ล้านคน ไม่นิยมทำงานบางประเภท เช่น ก่อสร้าง ประมง คนรับใช้ ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ จึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชน หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาจริงจัง เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจ หากมีการละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมองเฉพาะประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว .
อ่านประกอบ:ตกค้างเป็นล้าน เอ็นจีโอ หวั่นนายจ้างเลือกจ่ายส่วย หลังรัฐไม่ขยายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่
กกร.ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง
กกร.ยื่น 4 ข้อคิดเห็น สนช.ทบทวน พ.ร.ก.ต่างด้าว-จี้เปิดจดทะเบียนเเรงงานผิด กม.อีกรอบ
เครือข่ายปชก.ข้ามชาติ จี้รัฐทบทวน พรก.จัดการแรงงานต่างด้าว หลังพบนายจ้างทิ้งลูกน้อง