ทย.แจงยกพื้นที่สนามบินให้ ปตท. แค่ จ.อุดรฯแห่งเดียว-ไม่แจงปม‘ไม่เปิดประมูล’
กรมท่าอากาศยาน ชี้แจงยกพี้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีให้ ปตท.แห่งเดียว อ้างร่วมดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ปัด 28 แห่ง ไม่แจงปม ‘ไม่เปิดประมูล’
กรณีกรมท่าอากาศยาน (ทย. ) หรือ เดิมชื่อ กรมการบินพลเรือน มีนโยบายให้บริหารจัดการท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทย.โดยให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานที่มีอยู่จำนวน 28 แห่ง โดยเริ่มจากท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นแห่งแรก และได้ถูกร้องเรียนว่า ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนทั่วไปเสนอราคา (อ่านประกอบ :ยื่น‘บิ๊กตู่’!กรมท่าอากาศยานยกพื้นที่ 28 สนามบินให้ ปตท.-จ.อุดรฯ โวยไม่เปิดประมูล)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เวลา 17:12 น. ทีมโฆษกกระทรวงคมนาคมได้เผยแพร่ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2559 ทย. ได้ลงนามในสัญญาให้ ปตท. เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพียงแห่งเดียว ปตท. ไม่ได้รับสิทธิในการดำเนินการทั้ง 28 ท่าอากาศยาน สำหรับพื้นที่ที่ให้ ปตท. เช่าเพื่อดำเนินโครงการฯ ทย. ได้บอกเลิกสัญญากับผู้เช่ารายเดิมครบถ้วน ถูกต้องตามข้อสัญญาและตามกฎหมาย ซึ่งผู้เช่ารายเดิมได้รับทราบถึงความจำเป็นในการพัฒนาโดยมิได้มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด (http://eservice.mot.go.th/MotHotNews/Home/News/13580)
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ภาพข่าว ‘ปตท.-กรมท่าอากาศยาน ร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์สนามบินอุดรฯ ส่วนต่อขยาย’ เนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาโครงการความร่วมมือพัฒนาและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน โดย ปตท. จะพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยาย ของท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ประกอบด้วย บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร สำหรับเป็นร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านเพื่อสุขภาพ ธนาคาร และนิทรรศการส่งเสริมกิจกรรมของท้องถิ่นในจังหวัดฯ , บริหารจัดการพื้นร้านค้าสวัสดิการ โดยจะเป็นร้านที่เป็นธุรกิจของ ปตท. ได้แก่ คาเฟ่ อเมซอน และ Texas Chickenรวมถึง บริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายนอกอาคารฯ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในต้นปี 2560 โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ระหว่างองค์กรของรัฐ
(http://www.pttplc.com/th/Media-Center/News/Business/Pages/news-2016-08-08.aspx)
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2559 หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าอธิบดีกรมท่าอากาศยานให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 8 ส.ค. 2559 ทย.จะลงนามบันทึกกรอบความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ บริษัท ปตท. โดยจะให้ ปตท.เข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารและการพัฒนาลานจอดรถบริเวณสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย.โดยจะเริ่มนำร่องที่สนามบินอุดรฯก่อน เพื่อเป็นต้นแบบในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และการจัดเก็บรายได้ต่างๆ ในสนามบินของกรมที่มีจำนวน 28 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ปัจจุบันมีสนามบิน 10 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบที่มีศักยภาพ เช่นสนามบินกระบี่ และสนามบินอื่นๆในภาตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่จะหมดสัญญาลงจะต่ออายุสัมปทานเดิมไปก่อน หลังจากนั้นจะคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารโดยใช้วิธีการเปิดประมูลอย่างเต็มรูปแบบในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในคำชี้แจงของ ทย.กรณีสนามบินอุดรฯ ที่ให้ ปตท. บริหารพื้นที่ ทย.มิได้ชี้แจงถึงเกตุผลเหตุใดไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป และผู้เช่ารายเดิมร้องเรียนว่าถูก ทย.มีหนังสือมาบอกเลิกสัญญา
อ่านประกอบ: ส่อง '2 ผู้ประกอบการ-ที่จอดรถ’ สนามบินอุดรฯ ก่อน ปตท.รวบ 28 แห่ง-ไม่เปิดประมูล