ยื่น‘บิ๊กตู่’!กรมท่าอากาศยานยกพื้นที่ 28 สนามบินให้ ปตท.-จ.อุดรฯ โวยไม่เปิดประมูล
ผู้ประกอบการยื่นหนังสือ 'บิ๊กตู่-รมว.คมนาคม' ปมกรมท่าอากาศยาน ยกพื้นที่สนามบิน 28 แห่งให้ ปตท.บริหารทำที่จอดรถ นำร่อง จ.อุดรฯ โวยไม่เปิดประมูลทั้งที่ทำอยู่ก่อนแต่ถูกบ่ายเบี่ยง 2 ปี ซ้ำบางรายเปิดร้านกาแฟได้ไม่ทำสัญญา อธิบดีเผยก่อนหน้าให้เอกชนร่วมลงทุน
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการให้เช่าพื้นที่จอดรถสนามบินรายหนึ่งเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า กรณีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หรือเดิมชื่อ กรมการบินพลเรือน มีนโยบายให้บริหารจัดการท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทย.โดยให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานจำนวน 28 แห่ง โดยเริ่มจากท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นแห่งแรก นั้น ทย. ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าร่วมเสนอราคา แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งเป็นคู่สัญญาอยู่ก่อนหน้านี้ ได้รับความเดือดร้อน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณีของสนามบิน จ.อุดรธานี นั้น ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นความประสงค์ขอเช่าพื้นที่ลานจอดรถยนต์หน้าอาคารสนามบินนานาชาติอุดรธานี กับกรมการบินพลเรือน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2555 เพื่อปรับปรุงพัฒนาเป็นที่จอดรถยนต์เก็บเงินค่าเช่าที่มีมาตรฐาน และได้รับความเห็นชอบในหลักการจากกรมการบินพลเรือน และแจ้งให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวเข้าทำสัญญา เมื่อ 4 เมษายน 2556 แต่ทว่า เมื่อถึงเวลาที่กำหนด กรมการบินพลเรือนได้แจ้งขอเลื่อนการทำสัญญา โดยอ้างเหตุผลว่ายังจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขสัญญาไม่เรียบร้อย หลังจากนั้น ได้ติดตามผลเรื่อยมาจนเวลาผ่านไปกว่า 2 ปีก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เห็นได้ว่ามีการประวิงเวลา จึงได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ก.ค. 2557 รวมทั้ง ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ขณะนั้น) เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม
“ผมทำมากินอย่างสุจริต แต่กรมท่าอากาศยาน หรือ กรมการบินพลเรือน กลับยกพื้นที่ให้ ปตท. เข้ามาบริหาร โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าร่วมประมูล จึงเป็นการปิดกั้นผู้ประกอบการรายเล็ก ขณะเดียวกัน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริหารของกรมท่าอากาศยาน มีผลประโยชน์ร่วมกับ ปตท. หรือไม่” ผู้ประกอบการรายหนึ่ง กล่าวและว่า ได้รับความเสียหายทางธุรกิจในการแบกรับภาระหนี้สิน จากการกู้ยืมเงินสำหรับเตรียมทำสัญญาและจ่ายค่าธรรมเนียมอย่างถูกต้อง ให้แก่ กรมท่าอากาศยานเป็นเงินจำนวนมาก
ในขณะเดียวกัน มีผู้ประกอบการรายอื่นเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดทำเป็นสถานที่จอดรถ เรียกเก็บเงินค่าจอด ประกอบกิจการล้างทำความสะอาดรถยนต์ และร้านกาแฟ และมิได้ทำสัญญากับกรมการบินพลเรือนอย่างถูกต้อง สามารถเปิดดำเนินการได้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หลังจากยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกฯ ต่อมา วันที่ 27 ก.ย. 2557 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมการบินพลเรือน กรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และให้กรมการบินพลเรือนให้ความช่วยเหลือ แต่จนถึงขณะนี้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ล่าสุด ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คนปัจจุบันอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับการแจ้งให้เข้าทำสัญญาหรือช่วยเหลือจาก ทย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 4 เมษายน 2559 เว็บไซต์กรมการบินพลเรือนเผยแพร่ข่าว นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมกันพัฒนารูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจ (New Business Platform) สำหรับการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานจัดให้มีสินค้าและบริการที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้โดยสาร ชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยาน และจะร่วมกันพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมในท่าอากาศยานอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป (https://www.aviation.go.th/th/photo/10201/264.html)
ขณะเดียวกัน 18 ก.ค. 2559 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า กรมการบินพลเรือน หรือ กรมท่าอากาศยาน จะเซ็นเอ็มโอยูในการพัฒนาท่าอากาศยาน 28 แห่งในวันที่ 8 ส.ค. 2559 นี้ ในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เริ่มต้นที่สนามบิน จ.อุดรธานี โดยจะให้สัมปทานเป็นเวลา 3 ปีแก่ บริษัท ปตท. เพื่อเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่จะเปิดให้บริการ รวมถึง พัฒนาอาคารจอดรถให้เป็นมาตรฐาน โดย ปตท. ใช้เงินลงทุน 40 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานเปิดเผยว่า กรมฯจะมอบสัมปทานให้กับ ปตท. เป็นเวลา 3 ปี เพื่อใหเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติอุดรธานี จะเปิดบริการได้เร็วๆนี้ รวมทั้งให้ ปตท.เข้ามาพัฒนาอาคารจอดรถได้ 500 คัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมท่าอากาศยานจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558 (ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558) แปรสภาพมาจาก กรมการบินพลเรือน ปัจจุบันมี นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมการบินพลเรือนคนสุดท้าย เป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานคนแรก