- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- คำพิพากษาศาลฟัน‘สมศักดิ์’รวยผิดปกติ อ้างใช้เงินลงเลือกตั้งซื้อบ้าน-ไม่แจ้ง ป.ป.ช.?
คำพิพากษาศาลฟัน‘สมศักดิ์’รวยผิดปกติ อ้างใช้เงินลงเลือกตั้งซื้อบ้าน-ไม่แจ้ง ป.ป.ช.?
“…คำพิพากษาที่น่าสนใจในกรณีนี้นอกเหนือจากการยึดบ้านหลังดังกล่าวแล้ว คือประเด็นที่นายสมศักดิ์อ้างว่า มี ‘เงินสด’ เก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน โดยอ้างว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการระดมทุนเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2538-2539 และยังมีเหลืออยู่จนกระทั่งในปี 2541 ได้นำออกไปซื้อบ้าน แต่กลับไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. แต่อย่างใด คำเบิกความในส่วนนี้ของนายสมศักดิ์ หากเป็นจริงดังว่า จะเข้าข่าย ‘ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน’ อีกรอบหรือไม่ ?...”
ชื่อของ ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ นับเป็นนักการเมืองรายล่าสุด ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ และมีคำสั่งยึดทรัพย์สินเป็นบ้านพักอาศัยเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
เนื่องจากชี้แจงที่มาของบ้านหลังดังกล่าวไม่ได้ สืบเนื่องมาจากที่นายสมศักดิ์ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและชี้มูลความผิดว่า แจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่แจ้งรายการเงินฝากหลายรายการ และบ้านพักอาศัย มูลค่า 16 ล้านบาท ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ริบทรัพย์บางส่วนตกเป็นของแผ่นดิน และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี
หลังจากนั้น ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนายสมศักดิ์ กรณีร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากหาที่มาของบ้านมูลค่า 16 ล้านบาทไม่ได้ และมีมติชี้มูลความผิดไปแล้วเมื่อกลางปี 2558 พร้อมส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการถอดถอน และส่งให้ศาลฎีกาฯ ไต่สวน ต่อมาที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ กระทั่งศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ และให้ยึดทรัพย์สินเป็นบ้านหลังดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน
(อ่านประกอบ : ยึดบ้าน 16 ล้าน! ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล' รวยผิดปกติ)
เพื่อให้สาธารณชนทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ดังนี้
คดีนี้ศาลฎีกาฯ พิจารณา 2 กรณี ได้แก่
ประเด็นแรก นายสมศักดิ์อ้างว่า บ้านดังกล่าว ได้มาโดยสุจริต โดยใช้เงินจากการระดมทุนลงสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2538-2539 ไปซื้อ
ศาลพิเคราะห์แล้วสรุปได้ว่า กรณีนี้นายสมศักดิ์ นางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (ภรรยานายสมศักดิ์) และนายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ (พี่ชายของนางรวีวรรณ) ได้เข้าเบิกความในฐานะพยานแล้ว โดยพบว่า นางรวีวรรณ และนายไพโรจน์ เบิกความที่ขัดหรือแย้งกับคำให้การในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ทั้งสองรายยืนยันว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นของนายไพโรจน์ ใช้เงินจากนายไพโรจน์ และ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญ (ของนายไพโรจน์) ก่อสร้าง
ขณะที่จากการตรวจสอบในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ พบว่า หจก.วิเศษชัยชาญ แจ้งงบดุลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2539 พบว่า มีรายได้ประมาณ 7 หมื่นบาท ส่วนช่วงปี 2540-2543 มีรายได้ประมาณ 4 แสนบาท ส่วนบ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท
ต่อมา เมื่อเบิกความต่อศาลฎีกาฯ นายสมศักดิ์ และนางรวีวรรณ กลับระบุว่า ใช้เงินจากการะดมทุนของพรรคชาติไทย (ขณะนั้น) และผู้ใหญ่ทางการเมือง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ระหว่างปี 2538-2539 รวมวงเงินทั้งหมดประมาณ 54 ล้านบาท โดยอ้างว่า ได้จดบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัว มีรายชื่อของบุคคลต่าง ๆ ที่ช่วยกันระดมทุนให้ โดยเก็บเป็นเงินสดไว้ในตู้เซฟจำนวนหลายสิบล้านบาท และฝากบางส่วนไว้ที่นายสวัสดิ์ เลิศเจริญศิลป์ (พี่เขยนายสมศักดิ์) โดยนายสวัสดิ์ได้นำไปฝากธนาคารไว้อย่างน้อย 3 แห่ง โดยมีบัญชีที่เปิดในชื่อ หจก.โรงสีวิเศษชัยชาญ ด้วย ก่อนที่จะมีการถอนเงินดังกล่าวออกมา รวมกับเงินสดในตู้เซฟ ประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว
นอกจากนี้ การก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน หรือสัญญาการก่อสร้าง และกำหนดส่งมอบงานอย่างชัดเจน แม้ว่านายสมศักดิ์ จะยืนยันว่า ใช้เงินจากการะดมทุนลงสมัครับเลือกตั้งที่เหลือไปก่อสร้างก็ตาม แต่สมุดบันทึกดังกล่าวของนายสมศักดิ์ ก็เป็นสมบัติส่วนตัว หลักฐานดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
รวมไปถึงการที่นายสมศักดิ์ และนางรวีวรรณ อ้างว่า มีเงินสดเก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้านจำนวนหลายสิบล้านบาท แต่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้จะอ้างว่า เงินสดดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ก็ไม่ใช่เหตุจำเป็นที่จะกระทำได้
เนื่องจากนายสมศักดิ์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีอำนาจให้คุณให้โทษต่อสังคม การปกปิดเงินสดดังกล่าวให้เป็นความลับ จึงเข้าข่ายปิดบัง ซ่อนเร้น และไม่สุจริต ข้อแก้ตัวว่า นำเงินดังกล่าวไปใช้สร้างบ้านนั้นจึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สอง นายสมศักดิ์อ้างว่า บ้านดังกล่าวสร้างก่อนที่เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อปี 2543 ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542
ศาลพิเคราะห์แล้ว สรุปได้ว่า บ้านหลังดังกล่าวก่อสร้างขึ้นในช่วงปี 2541 และดำเนินการต่อเติม ตกแต่งเรื่อยมา กระทั่งเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2543 ขณะที่นายสมศักดิ์ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2539 ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส. ปี 2539-2540 เป็น รมช.ศึกษาธิการ และในปี 2542-2544 เป็น รมว.ศึกษาธิการ
ดังนั้นเมื่อเคยเป็น ส.ส. เมื่อปี 2539 จนพ้นตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อปี 2544 นายสมศักดิ์จึงมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาดังกล่าว เมื่อถูกกล่าวหาว่าได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่อาจนำสืบไต่สวนให้เห็นได้ว่า ได้บ้านหลังดังกล่าวโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ และขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นผลต่อกฏหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542
พิพากษาว่า นายสมศักดิ์ ร่ำรวยผิดปกติ และให้บ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
คำพิพากษาที่น่าสนใจในกรณีนี้นอกเหนือจากการยึดบ้านหลังดังกล่าวแล้ว คือประเด็นที่นายสมศักดิ์อ้างว่า มี ‘เงินสด’ เก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน โดยอ้างว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการระดมทุนเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2538-2539 และยังมีเหลืออยู่จนกระทั่งในปี 2541 ได้นำออกไปซื้อบ้าน แต่กลับไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. แต่อย่างใด
คำเบิกความในส่วนนี้ของนายสมศักดิ์ หากเป็นจริงดังว่า จะเข้าข่าย ‘ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน’ อีกรอบหรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกรณีคล้าย ๆ กันเกิดขึ้น คือกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เนื่องจากเคยเบิกความต่อศาลฎีกาฯ ในคดียึดทรัพย์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า มีเงินบางส่วนที่นำไปซื้อหุ้นของตัวเองจำนวน 20 ล้านบาท ชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระเป็นเช็ค 9 ล้านบาท งวดที่ 2 เขียนเช็ค 13.5 ล้านบาท เกินไป 2.5 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขียนผิดพลาด พร้อมระบุว่า เงิน 2.5 ล้านบาทที่เกินไป ให้ นางพิณทองทา คุณากรวงศ์ (บุตรนายทักษิณ หลาน น.ส.ยิ่งลักษณ์) ไปซื้อนาฬิกา
แต่เมื่อตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า มีนาฬิกาอยู่เพียง 9 เรือน รวมมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านบาท และไม่มีนาฬิกามูลค่า 2.5 ล้านบาท ตามที่อ้างในชั้นศาลฎีกาฯ แต่อย่างใด ?
ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงกรณีนี้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯไปแล้วว่า ได้ขายนาฬิกาดังกล่าวไปนานแล้ว ก่อนที่จะกระโดดเข้ามาสู่วงการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2554
ท้ายสุดข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ต้องรอผลการไต่สวนอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ !
อ่านประกอบ :
‘สมศักดิ์’ รอด! มติ สนช.109:82 ไม่ถอดถอน ปมร่ำรวยผิดปกติ บ้าน 16 ล.
ปล่อยผมไปเถอะ! ‘สมศักดิ์’ยันได้บ้านก่อนนั่ง รมว.ศธ.ลุ้น สนช.ถอด 13พ.ย.
ป.ป.ช.ฟันดาบ 2 “สมศักดิ์” รวยผิดปกติหาที่มาบ้าน 16 ล้าน ไม่ได้
หนักกว่า “ชินณิชา” ศาลฎีกาฯ เชือด “สมศักดิ์” ซุกบ้าน-เงินฝาก 30 ล้าน จำคุก 6 เดือน
หมายเหตุ ; ภาพประกอบนายสมศักดิ์ จาก posttoday