คำสอนสุดท้ายจาก'อ.อารยา' ถึงศิษย์ชื่อ 'ดลฤดี'-ผู้ค้ำราย4 ใช้หนี้แทน2แสน
"...นอกจากนี้ หลายคนก็คงคิดว่า เข้าไปอยู่ในจุดนั้นแล้ว โอกาสสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักยอมระดับของโลกก็มีมากกว่า ทำไมจะต้องเดินทางกลับมาทำงานในเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ เครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็ไม่มี..."
ในบรรดารายชื่อบุคคลที่เซ็นค้ำประกันให้กับ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ที่หนีทุนเรียนไม่เดินทางกลับมาประเทศไทย หลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาศาลปกครอง ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
นอกเหนือจาก นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์, น.ส.ภัทรวดี ผลฉาย หรือนางภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และน.ส.พัชนีย์ พงศ์พียะ ซึ่งมีสถานะเป็นญาติ เพื่อนอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อน ตามลำดับแล้ว
ยังมีชื่อของ นางอารยา พงษ์หาญยุทธ หรือ รองศาสตราจารย์ ดร. ทพญ.อารยา พงษ์หาญยุทธ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนหนังสือ น.ส.ดลฤดี ร่วมอยู่ด้วย
(อ่านประกอบ : "อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.)
โดยปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร. ทพญ.อารยา มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล
ล่าสุด ในช่วงเช้าวันที่ 4 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ทพญ.อารยา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเซ็นค้ำประกัน การเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ของ น.ส.ดลฤดี ที่กำลังปรากฎเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา เปิดฉากเล่าว่า มีสถานะความเกี่ยวข้องกับ น.ส.ดลฤดี 2 สถานะ คือ เป็นอาจารย์ผู้สอน และเป็นเพื่อนร่วมงาน
"ในช่วงที่น.ส.ดลฤดี เรียนหนังสืออยู่ ดิฉันเป็นอาจารย์ผู้สอน และเมื่อเขาเรียนจบเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็ถือว่าเป็นผู้ร่วมงานกัน"
และเมื่อ น.ส.ดลฤดี ทำเรื่องขอทุนเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ปฏิเสธที่จะไม่เซ็นค้ำประกันให้
"ดิฉันเซ็นค้ำประกันให้กับเขาในสัญญาที่ 2 เรื่องเงินเดือนข้าราชการ รวมกับผู้ค้ำประกันคนอื่นอีก 2 คน วงเงินที่ต้องชดใช้รวมกันประมาณ 6 แสนกว่าบาท เฉลี่ยแล้วตกประมาณคนละ 2 แสนกว่า ปัจจุบันนำเงินส่วนตัวชดใช้หนี้ไปหมดแล้ว"
ส่วนลำดับเหตุการณ์ของปัญหาที่ตนเองต้องเผชิญ ก็ไม่แตกต่างอะไรจากผู้ค้ำคนอื่น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า น.ส.ดลฤดี ยืนยันว่าจะมาชดใช้หนี้ให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปไม่ติดต่อกลับมาอีก
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ให้ข้อคิดที่สำคัญต่อเรื่องนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ ดลฤดี หรือนักเรียนทุนคนอื่น หนีทุนเรียนและไม่กลับมาเมืองไทย น่าจะมาจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1.รายได้ที่ดีกว่า 2.ความสะดวกสบายที่ได้รับจากการใช้ชีวิต และ 3.คิดว่าตนเองน่าจะประสบความสำเร็จในระดับโลก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มากกว่าการเดินทางกลับมาทำงานใช้ทุนในประเทศไทย
"ค่าตอบแทนเมืองนอกเขาดีกว่าเราแน่ๆ และสภาพการใช้ชีวิตก็สะดวกสบาย ยิ่งคนไปอยู่นานๆ หลายปี อาจจะคิดว่าที่นั้นเป็นบ้านของตนเอง และถ้ายิ่งไปพบรักแต่งงานมีครอบครัว ก็ยิ่งไม่อยากเดินทางกลับมาเมืองไทย"
"นอกจากนี้ หลายคนคงคิดว่า เข้าไปอยู่ในจุดนั้นแล้ว โอกาสสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักยอมระดับของโลกก็มีมากกว่า ทำไมจะต้องเดินทางกลับมาทำงานในเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ เครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็ไม่มี"
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ยืนยันว่า ดลฤดี หรือนักเรียนทุนคนอื่น มีสิทธิคิดแบบนี้ได้ แต่สิ่งเขาควรทำก่อนไปคือ ใช้เงินทุนส่วนตัวหรือครอบครัวไปเรียน ไม่ควรมาขอทุนรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ส่งคนของเราไปเรียนเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติ ส่วนเรื่องการชดใช้ทุน ก็มีกรอบเงื่อนไขวางไว้อยู่แล้ว ถ้ารับไม่ได้ ก็ไม่ควรไปตั้งแต่ต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ยังให้ความเห็นด้วยว่า "จริงๆ พวกนักเรียนทุนที่หนีทุนกันไป โดยอ้างเหตุผลเรื่องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน น่าจะลืมคิดหรือไม่รู้ข้อมูลกันว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ้านเรามีการพัฒนาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมากแล้ว และที่สำคัญในแง่การยอมรับเรื่องผลงาน ถ้าพวกเขาเรียนจบและกลับมาทำงานทำให้ประเทศเล็กๆ และมีผลงานเชิงประจักษ์ เขาจะยิ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นไปอีก"
เมื่อถามว่า หลังเกิดปัญหากรณี ดลฤดี ทางมหิดล มีการแก้ไขนโยบายการให้ทุนเรียนเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ตอบว่า ตอนนี้เรื่องยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีการสั่งการอะไรออกมา แต่เชื่อว่าเมื่อผ่านไปสัก 1-2 เดือน คงจะมีอะไรเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
แต่จากประสบการณ์ที่ตนรับได้ในการเซ็นค้ำประกันให้ ดลฤดี แล้วมีปัญหา เห็นว่า ผู้ค้ำประกันเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบมาก ทั้งเรื่องเพดานเงินที่ต้องชดใช้ที่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้ามีความชัดเจน ผู้ค้ำประกันจะได้คำนวนถูกว่าถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องชดใช้เป็นวงเงินเท่าไร และพร้อมที่จะเซ็นให้หรือไม่
"และที่สำคัญระบบการค้ำประกันต่อไป ควรจะกำหนดให้เป็นคนในครอบครัว พ่อแม่พี่น้องเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ผู้ขอทุนไม่มีทางที่จะทิ้งภาระให้พ่อแม่ต้องรับผิดชอบอย่างแน่นอน"
เมื่อถามย้ำว่า ได้คุยกับ ดลฤดี บ้างหรือเปล่า รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ตอบว่า ไม่ค่อยได้คุย จะรู้และรับฟังข้อมูลจากเพื่อนของเขา ที่เป็นหนึ่งในผู้ค้ำประกันเป็นหลัก ส่วนที่คุยกับดลฤดี ก็ได้รับแจ้งจากเขาว่าจะมาชดใช้หนี้ให้ แต่จากนั้นก็เงียบหายไป ไม่ได้ติดต่ออะไรกลับมาอีก
แต่ก็มีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือว่า ปกติวีซ่าของนักเรียนทุน จะมีการระบุว่า จะต้องเดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อชดใช้ทุน จะอยู่ในประเทศนั้นไม่ได้ ซึ่งมันทำให้ตนเองเชื่อมาตลอดว่าเขาจะต้องกลับมา และก่อนที่เขาจะเดินทางไป ก็ถามย้ำแล้วว่าจะต้องเดินทางกลับมานะ เขาก็บอกจะกลับมา
"ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เขาใช้วีซ่าอะไร ทำไมยังอยู่ในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับมาเมืองไทย"
เมื่อถามว่า สุดท้ายนี้ ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับดลฤดี จะบอกอะไรเขา รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ตอบว่า "คงไม่มีอะไรจะพูด ไม่รู้จะพูดอะไร ก็ได้แต่หวังว่าเขาจะตรึกตรอง ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ดี และกลับมาชดใช้ปัญหาที่เขาทำไว้ เพื่อไม่ให้คนอื่น ต้องมาเดือดร้อนด้วย"
เมื่อถามย้ำว่า ต่อไปนี้ ถ้ามีนักศึกษา มาขอให้เซ็นค้ำประกันทุนให้จะยอมเซ็นหรือไม่
รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.อารยา ตอบว่า "ขอเป็นการให้ความช่วยเหลือแค่เรื่องให้คำปรึกษาจะดีกว่า"
อ่านประกอบ:
ลึกสุดใจ 'ภัทรวดี' เหยื่อค้ำราย3 กับความหวังในตัว 'ดลฤดี' ก่อน-หลังหนีทุนมหิดล
"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
"มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ.
เปิดอีกราย ‘ผู้ค้ำประกัน’ อดีตอ.สาวมหิดล หนีทุนเรียน รับกรรมช่วยเพื่อนสนิท
ล่าข้ามโลก! เผยโฉมที่ทำงานอดีตอ.สาวมหิดล ในฮาวาร์ด หลังหนีทุนไม่กลับปท.
รับไม่ได้ให้ชดใช้เงินคืน3เท่า! เปิดเบื้องหลัง อดีตอ.สาวมหิดล หนีทุนเรียนนอก
ลูก 4 ใช้หนี้ประกันแทน2ล.!ทันตแพทย์ โวยอดีตอ.มหิดลหนีทุนเรียนไม่กลับปท.