- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ผู้ใช้แก๊สใต้วอนเลิก"คอมโพสิต" ชี้แก้บึ้มไม่ตรงจุด ซ้ำเติมชาวบ้าน บริษัทเดียวผูกขาด
ผู้ใช้แก๊สใต้วอนเลิก"คอมโพสิต" ชี้แก้บึ้มไม่ตรงจุด ซ้ำเติมชาวบ้าน บริษัทเดียวผูกขาด
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ได้รับจดหมายจากประชาชนที่ใช้นามว่า "ผู้ใช้แก๊สในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" บอกว่าได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการเปลี่ยนจากถังแก๊สเหล็กมาใช้ถังแก๊สคอมโพสิต เพื่อขอให้มีการทบทวนยกเลิกโครงการ
นโยบายเปลี่ยนถังแก๊สเหล็กให้เป็นถังแก๊สคอมโพสิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) ที่ได้ออกมาตรการบังคับให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ห้ามใช้ถังแก๊สแบบเหล็กขนาดบรรจุ 15 กิโลกรรุมที่ใช้กันอยู่เดิม ให้นำมาเปลี่ยนเป็นถังแก๊สคอมโพสิต ขนาดบรรจุ 11 กิโลกรัมแทน โดยให้เหตุผลเรื่องลดความรุนแรงของการก่อเหตุระเบิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งมักใช้ถังแก๊สเหล็กมาเป็นภาชนะบรรจุระเบิดแสวงเครื่อง สามารถเพิ่มความรุนแรงของระเบิด เพราะตัวถังแก๊สเหล็กที่ฉีกขาดก็กลายเป็นสะเก็ดระเบิดอย่างดี
ส่วนถังแก๊สคอมโพสิตผลิตจากโพลิเมอร์และไฟเบอร์กลาส มีความเหนียว ทนต่อแรงกระแทก การเฉือนและต้านทานต่อสภาวะแวดล้อม ทำให้ไม่เกิดประกายไฟเหมือนถังเหล็กหากเกิดการกระแทกแบบรุนแรง ทั้งยังมีจุดหลอมเหลวต่ำ หากได้รับความร้อนสูงจากภายนอกจะไม่ระเบิดออกเหมือนถังเหล็ก แต่จะละลายแทน
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดีเดย์ให้ประชาชนในพื้นที่ทยอยเปลี่ยนถังแก๊สตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2558 และตั้งเป้าว่า 1 ตุลาคม 2559 ชายแดนใต้จะปลอดจากถังแก๊สเหล็ก
อย่างไรก็ดี ประชาชนในพื้นที่บางส่วนมองว่านโยบายนี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาลอบวางระเบิด และยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน ดังเช่นประชาชนที่เขียนจดหมายเข้ามาที่ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
เนื้อหาโดยสรุปของจดหมายระบุว่า วิธีการแก้ปัญหาด้วยมาตราการดังกล่าวไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการแก้ปัญหาระเบิด เพราะถังแก๊สคอมโพสิตสามารถนำไปทำระเบิดได้ อีกทั้งยังมีภาชนะอื่นๆอี กหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ประกอบระเบิดได้ เช่น ถังดับเพลิง, ถังน้ำยาแอร์, ท่อเหล็ก, ท่อพีวีซี รวมไปถึงยานพาหนะอย่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์
ตรงกันข้ามมาตรการเปลี่ยนถังแก๊สทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก เนื่องจากครัวเรือนจำเป็นต้องใช้แก๊สถังเหล็กขนาด 15 กิโลกรัม นำไปแลกถังคอมโพสิต ขนาด 11 กิโลกรัม ปริมาณต่างกันถึง 4 กิโลกรัม หากไม่พอใช้ก็ต้องเสียเงินซื้อถังคอมโพสิตเพิ่ม และหากไม่สามารถแลกได้ก็ต้องซื้อใหม่ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่มีกำลังซื้อ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้บริษัทที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้จัดหาถังแก๊สคอมโพสิตให้ลูกค้าของตนเอง ซึ่งในขณะนี้มีเพียงบริษัทเดียวที่มีความพร้อมในการนำถังแก๊สคอมโพสิตออกมา ขณะที่บริษัทอื่นยังไม่มีความพร้อมจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้บริษัทดังกล่าวผูกขาดตลาดค้าแก๊สอยู่บริษัทเดียว เพราะไร้คู่แข่ง และโรงบรรจุแก๊สที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของบริษัทนี้ก็ต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย เพราะจำหน่ายไม่ได้ ส่งผลให้มีคนตกงานร่วมร้อยคนจากมาตรการดังกล่าว
ตอนท้ายของจดหมายเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขอความกรุณาพิจารณาทบทวนยกเลิกโครงการถังแก๊สคอมโพสิต เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดได้ แต่กลับสร้างผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ในวงกว้าง จนอาจนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขในพื้นที่มากขึ้น ปัจจุบันชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบมากพออยู่แล้ว อย่านำความทุกข์มาเพิ่มให้ชาวบ้านอีกเลย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จดหมายของผู้ใช้แก๊ส
อ่านประกอบ : ผบ.อีโอดีใต้ ยัน "คอมโพสิต" ช่วยลดความแรงระเบิด แง้มสถิติบึ้มถังแก๊ส 420 ครั้ง!