- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- ผบ.อีโอดีใต้ ยัน "คอมโพสิต" ช่วยลดความแรงระเบิด แง้มสถิติบึ้มถังแก๊ส 420 ครั้ง!
ผบ.อีโอดีใต้ ยัน "คอมโพสิต" ช่วยลดความแรงระเบิด แง้มสถิติบึ้มถังแก๊ส 420 ครั้ง!
ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ยืนยันว่าการเปลี่ยนถังแก๊สเหล็กแบบเดิม เป็นถังแบบคอมโพสิต ไม่ได้ทำให้ระเบิดชายแดนใต้หายไป แต่จะช่วยลดความรุนแรงของระเบิดได้ระดับหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้มีคำสั่งให้เปลี่ยนถังแก๊สเหล็กแบบปกติ น้ำหนักบรรจุ 15 กิโลกรัม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นถังแก๊สคอมโพสิต พลัส ขนาด 11 กิโลกรัมแทน โดยให้ทยอยเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป และตั้งเป้าว่าจะไม่มีการใช้ถังแก๊สเหล็กในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
อย่างไรก็ดี มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าถังแก๊สคอมโพสิตแบบใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาระเบิดในพื้นที่ชายแดนใต้ได้จริงหรือไม่?
ประเด็นนี้ พันเอกกฤตภาส เครือเนตร ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การนำถังแก๊สคอมโพสิตพลัสมาใช้งานแทนถังแก๊สเหล็กแบบเก่า แม้ถังแบบใหม่จะสามารถเอามาทำระเบิดได้เหมือนกัน แต่เมื่อเกิดระเบิดขึ้นแล้ว สะเก็ดระเบิดกับเปลวเพลิงจากการระเบิดจะลดลง อานุภาพความรุนแรงของระเบิดน้อยกว่าถังเหล็กมาก เชื่อว่าผู้ก่อเหตุจะไม่เอาถังแก๊สแบบใหม่มาประกอบระเบิดแสวงเครื่องเพื่อใช้ก่อเหตุอีก แต่จะหันไปใช้วัสดุอื่นแทน
พันเอกกฤตภาส กล่าวต่อว่า จากการเก็บรวบรวมสถิติเหตุระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา พบว่า เป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ผู้ก่อเหตุประกอบขึ้นมาโดยใช้วัสดุประเภทกล่องเหล็ก และท่อเหล็กเป็นภาชนะมากที่สุดถึง 1,688 ครั้ง แยกเป็นกล่องเหล็ก 1,326 ครั้ง ท่อเหล็ก 362 ครั้ง รองลงมาเป็นถังแก๊สเหล็กชนิดต่างๆ ทั้งขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม และขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม ทั้งของไทยและของมาเลเซีย จำนวน 420 ครั้ง นอกจากนั้นเป็นระเบิดที่ประกอบใส่ถังดับเพลิงอีก 369 ครั้ง
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับถังแก๊สแบบคอมโพสิตพลัส ที่ถูกนำมาใช้แทนถังแก๊สเหล็กแบบเดิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นถังแก๊สที่ผลิตจากโพลิเมอร์และไฟเบอร์กลาส โดยถังภายในผลิตจากโพลิเมอร์ พันเคลือบด้วยไฟเบอร์กลาส ขณะที่ภายนอกเป็นโพลิเมอร์อีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรง ความเหนียว ความทนต่อแรงกระแทก การเฉือนและต้านทานต่อสภาวะแวดล้อม ทำให้ไม่เกิดประกายไฟเหมือนถังเหล็กหากเกิดการกระแทกแบบรุนแรง ที่สำคัญถังแก๊สคอมโพสิตมีจุดหลอมเหลวต่ำ หากได้รับความร้อนสูงจากภายนอกจะไม่ระเบิดออกเหมือนถังเหล็ก แต่จะละลายแทน
ถังแก๊สคอมโพสิตมีน้ำหนักเบา ไม่เกิดสนิม ทนต่อการกัดกร่อน และมีอายุการใช้งานนานกว่าถังเหล็ก โดยถังแก๊สคอมโพสิต บรรจุแก๊สขนาด 11 กิโลกรัม น้ำหนักถัง 6.5 กิโลกรัม อายุการใช้งานสูงถึง 20-30 ปี ในขณะที่ถังเหล็กบรรจุแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม มีน้ำหนักถัง 16.5 กิโลกรัม มีอายุการใช้งาน 10-15 ปี แต่ถังแก๊สแบบคอมโพสิตมีราคาสูงกว่าถังเหล็ก 30 เปอร์เซ็นต์
1 ตุลาฯ 59 ชายแดนใต้ปลอดถังเหล็ก
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงว่า แนวคิดการใช้ถังแก๊สคอมโพสิต พลัส แทนถังเหล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยจากการก่อเหตุรุนแรงด้วยการลอบวางระเบิดบรรจุในถังแก๊ส ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบกำหนดแนวทางในการดำเนินการให้เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจ และเร่งรัดดำเนินการให้บริษัทผู้ประกอบการนำถังแก๊สคอมโพสิตมาใช้แทนถังเหล็กตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 โดยการทยอยเปลี่ยนทดแทน ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พร้อมดำเนินการได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
"บริษัทอื่นๆ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ทำบันทึกข้อตกลงมอบหมายให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการแทน และให้ทยอยเรียกคืนถังเหล็กจากผู้บริโภคด้วยการชดเชยคืนค่ามัดจำถัง แล้วนำไปใช้นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2559 พร้อมให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายถังแก๊สเหล็กเข้าและออกนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งให้มีการควบคุมสถานีบริการบรรจุแก๊สและสถานีบริการแก๊สรถยนต์โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อไม่ให้มีการลักลอบบรรจุน้ำแก๊สข้ามแบรนด์ และไม่ให้มีการบรรจุแก๊สลงถังแก๊สหุงต้มในสถานีบริการแก๊สรถยนต์ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2558" พันเอกปราโมทย์ กล่าว
เขาบอกด้วยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งการให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ สำรวจและกำกับดูแลโรงงานบรรจุแก๊สหุงต้ม และสถานีบริการบรรจุแก๊สรถยนต์ไม่ให้บรรจุแก๊สข้ามแบรนต์ และลักลอบบรรจุแก๊สรถยนต์ลงถังแก๊สหุงต้ม ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2558 แต่ไม่ได้สั่งห้ามบรรจุและจำหน่ายถังเหล็ก โดยผู้บริโภคยังคงสามารถใช้ถังเหล็กแบบเดิมได้ แต่ให้ทยอยเปลี่ยนจนถึง 30 กันยายน 2559 สำหรับผู้บริโภคที่ใช้ถังเหล็กของบริษัท ปตท. สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นถังคอมโพสิต ณ สถานีบริการของบริษัท ปตท.ได้ทันที
"ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จะไม่มีการใช้ถังเหล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป ขอให้ประชาชนได้เข้าใจตามนี้ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องในพื้นที่" พันเอกปราโมทย์ กล่าว
ผู้ประกอบการขานรับ
นายประเสริฐ วงษ์รัตนพิพัฒน์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน (หจก.) ประเสริฐการไฟฟ้า กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่เติมแก๊สใส่ถังเหล็กแล้ว เพราะอยากให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนใช้ถังชนิดใหม่ให้เสร็จก่อนสิ้นปีนี้
"นโยบายของทางการได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน อาจมีเสี่ยงบ่นในเรื่องของปริมาณแก๊สที่บรรจุได้น้อยกว่าบ้าง (ถังแบบใหม่บรรจุได้ 11 กิโลกรัม ขณะนี้แบบเก่าบรรจุได้ 15 กิโลกรัม) แต่ก็ถือว่าประชาชนให้ความร่วมมือดี อีกอย่างการใช้ถังใหม่ ประชาชนจะปลอดภัยกว่า เพราะถังชนิดใหม่จะไม่มีการรั่วและเกิดระเบิดภายในครัวเรือนแน่นอน" นายประเสริฐ ระบุ
นายมะกอเซ็ง มามะ เจ้าของร้านอาหารในอำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนใช้ถังแก๊สชนิดใหม่ที่มีน้ำหนักเบากว่า และปลอดภัยกว่า เพื่อความปลอดภัยของทุกคน อยากให้ประชาชนรีบมาเปลี่ยนถังชนิดใหม่กันเร็วๆ
ขณะที่ นายรุสดี เจะมะแซ พนักงานเติมแก๊สรถยนต์ มลามัตแก๊ส ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า จริงๆ การเติมแก๊สลงถังหุงต้มในครัวเรือนที่ปั๊มแก๊สสามารถทำได้ แต่เราจะไม่ทำ เพราะต้องการปฏิบัติตามนโยบายของทางการ
ระเบิดถังแก๊สเหล็กโผล่อีก
สำหรับระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังแก๊สเหล็ก ยังคงพบอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ได้นำกำลังออกลาดตระเวนเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย ปรากฏว่าพบถังแก๊สวางอยู่ในท่อลอดใต้ถนนในหมู่บ้านตะโละอาโหร์ หมู่ 2 บ้านตะโละอาโหร์ ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จึงประสานให้เจ้าหน้าที่อีโอดีเข้าตรวจสอบและยิงทำลาย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ร้านแก๊สในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ติดป้ายประชาสัมพันธ์เปลี่ยนถังแก๊สแบบใหม่
2 พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์
3 ระเบิดถังแก๊สแบบเหล็ก ยังพบอย่างต่อเนื่องที่ชายแดนใต้
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่