เบื้องหลังมติกต.เชือดหลักสูตร ป.โท 7 มหาลัยฯดัง-ลักไก่อ้างชื่ออ.ประจำ
รองเลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม ยันผู้สำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ถูกเพิกถอน-ไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโทกฎหมายทั้ง 7 แห่ง หมดสิทธิสมัครสอบเป็นผู้ชวยผู้พิพากษา เผยเบื้องหลังมติพบปัญหาลักไก่อ้างชื่อบุคคลอื่น มาเป็นอาจารย์ประจำ ทั้งที่ไม่ค่อยได้สอน เคยเรียกผู้บริหารมาชี้แจงแล้ว ย้ำครั้งนี้ไม่ใช่กรณีแรก "ม.ออสเตรเลีย" เรียนแค่ 3-4 เดือนจบ โดนไปแล้ว
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 57 มีมติเห็นสมควรให้เพิกถอนการรับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมาย ในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัยลัยตาปี มหาวิทยาลัยปทุมธานี และมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
( อ่านประกอบ : สั่งเพิกถอนหลักสูตร ป.โท สอบผช.ผู้พิพากษา 3 ม.ดัง-ไม่รับรองอีก 4 แห่ง )
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.57 นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่ามติ กต.ดังกล่าวที่ออกมา เป็นการดำเนินการตามอำนาจและระเบียบที่กำหนดให้ กต.เป็นผู้รับรองคุณภาพหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมาย ในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่มีการเสนอเข้ามา ซึ่งการเพิกถอนหรือไม่รับรองหลักสูตรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีกรณีมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศออสเตรเลีย ที่กต.มีมติสั่งให้เพิกถอนหรือไม่รับรองหลักสูตรไปแล้ว
"ในกรณีมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย เป็นกรณีที่มีนักเรียนไทย ไปเรียนที่โน่นและมีการเทียบโอนหน่วยกิจไปเรียน แต่ปรากฎว่าไปเรียนอยู่แค่ 3-4 เดือน แล้วก็สำเร็จการศึกษา มันไม่น่าจะถูกต้อง มันเหมือนเป็นเรื่องธุรกิจมากกว่า ซึ่งเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนของคนที่จะมาทำงานด้านกฎหมายให้ประเทศ จะต้องมีมาตรฐานมีคุณภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรักษาไว้"
นายสราวุธ กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักสูตรมหาวิทยาลัยในไทย ทั้ง 7 แห่ง ที่กต.มีมติให้เพิกถอนหรือไม่รับรองหลักสูตรให้นั้น มีการตรวจพบปัญหาเรื่องอาจารย์ประจำ มีตำแหน่งทางวิชาการ มีวุฒิปริญญาเอกไม่ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้ บางมหาวิทยาลัยก็แจ้งข้อมูลไม่ถูกต้อง มีการอ้างชื่อบุคคลอื่นว่าเป็นอาจารย์ประจำ ทั้งที่ไม่ได้มาสอนจริง
"ก่อนหน้าที่จะมีมติออกมา กต.มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และมีการเชิญตัวแทนผู้รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยมาชี้แจงไปแล้ว ซึ่งมีคำถามหลายประเด็นที่เราถามไป อาทิ มหาวิทยาลัยบางแห่ง เอาชื่อบุคคลอื่นมาใส่ว่าเป็นอาจารย์ประจำ แต่ไม่เคยมาสอนประจำเลย หรือเป็นแค่อาจารย์พิเศษ บางคนมีชื่ออยู่ แต่ไม่สอนมา 3 ปีแล้ว อะไรแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งในการพิจารณาลงมติของกต. ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยที่ถูกเพิกถอน หรือไม่รับรองหลักสูตร ใช่หลักการเดียวกัน มาตราฐานการตัดสินเหมือนกันทั้งหมด"
เมื่อถามว่า บุคคลที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ ทั้งจากมหาวิทยาลัยที่ถูกเพิกถอน และไม่รับรองจะมีผลอย่างไรบ้าง นายสราวุธตอบว่า "บุคคลเหล่านี้ หมดสิทธิ์ที่จะสมัครสอบแน่นอน เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมีสมัครสอบ เนื่องจากติดขัดปัญหาคุณสมบัติการศึกษา"
"ส่วนจะแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น ทางกต.คงไม่สามารถบอกได้ ต้องให้ผู้ที่สำเร็จการไปสอบถามทางมหาวิทยาลัยเองว่าจะรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองหลักสูตรนี้ด้วย ว่ารับรองกันยังไง กต.เพียงแค่ทำตามหน้าที่ในกรอบอำนาจและระเบียบที่เรามี เมื่อเราเห็นว่า หลักสูตรไม่มีคุณภาพเพียงพอ เราก็ไม่รับรองให้"
นายสราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ สำหรับผู้ที่จะการศึกษามาแล้ว หากต้องการจะสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา คงจะต้องไปเรียนมาใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดกรณีแบบนี้มาแล้ว มีผู้มีสมัครใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ 2 ใบ กต.รับรองให้ใบหนึ่ง แต่ไม่รับรองให้อีกใบหนึ่ง ผู้สมัครก็ไปเรียนใบที่สามที่ได้รับการรับรองและมาสมัครใหม่กต.ก็รับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายสราวุธ เบญจกุล จาก oja.go.th