สมบัติ ธำรงธัญวงศ์: วิพากษ์ 5 มาตรา รธน.ชั่วคราว อำนาจพิเศษแห่ง "คสช."
"..รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เพียงแค่ มาตรา 44 ถ้ามีผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายชาติอย่างร้ายแรง คสช. สามารถสั่งประหารชีวิตได้เลย ทำการแทนศาลได้เลย สามารถสั่งประหารชีวิตได้ และชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่สุด ใครมาโต้แย้งไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจแก่ คสช.โดยสมบูรณ์.."
แม้เนติบริกรอย่าง "วิษณุ เครืองาม" จะออกโรงแถลงว่า คสช. ไม่มีอำนาจปลดนายกฯ แต่หากประชาชนคนทั่วไปลองกาง มาตรา 19 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอ่านอย่างละเอียดถี่ถ้วน ย่อมพบข้อความปรากฎว่า “พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติและให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรี ถวายคำแนะนำ”
ย่อมไม่อาจปฏิเสธว่าอำนาจของ คสช. ยังคงสอดแทรกอยู่อย่างแยบยลและทรงอิทธิพลอย่างยิ่งยวด
ดังนั้น ไม่ว่าการแถลงข่าว โดยมือกฎหมาย คสช. จะชี้แจงมาในรูปใด แต่เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุด แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว คนในสังคมจึงย่อมมีสิทธิที่จะร่วมกันสำรวจตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวบทกฎหมายที่ปรากฏตามข้อเท็จจริง เพื่อความตระหนัก ในสิทธิของตนและรู้เท่าทันอำนาจอันรัฐธรรมนูญรองรับ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สัมภาษณ์พิเศษ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ถูกรวบตัวในข้อหากบฎ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว ภายหลังจาก คสช. ทำการรัฐประหาร ทั้งยังเป็นอดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษา ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เพื่อวิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ใน 5 มาตรา สำคัญ ที่ชี้ชัดถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและอำนาจอันแฝงเร้นของ คสช. ทั้งไม่ลืมทิ้งบทเรียนเดือนตุลา เมื่อ 41 ปีก่อน
ขณะเดียวกันก็กระทุ้งเตือนนักการเมืองที่อาศัย “ธง” ประชาธิปไตยเป็นร่มเงา ว่า ตราบใดที่นักการเมืองไทยมีจิตสำนึกเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อนั้น ประชาชนย่อมพร้อมจะปกป้องรัฐบาลให้รอดพ้นจากการรัฐประหาร แต่ที่ ประชาธิปไตยไทยยังสะดุด เพราะจิตสำนึกดังกล่าว หาได้ยากยิ่งจากนักการเมืองไทย
@ ประเด็นใดในรัฐธรรมนูญที่คุณคิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ
สมบัติ : สาระสำคัญที่คนในสังคมสนใจกันมาก คือ การตั้งคำถามว่าอำนาจพิเศษของ คสช. จะยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่และพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว ของทั้งจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม มีมาตรา 17 ที่ทั้งสองคน มีอำนาจที่อาจจะเรียกว่าเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งทางนิติบัญญัต บริหาร ตุลาการ ส่วนการยึดอำนาจที่นำโดยพลเรือเอกสงัด มีมาตรา 27 ส่วนของ รสช.ที่นำโดยพลเอกสุนทร ก็มีมาตรา 27 แบบเดียวกัน คือผู้นำคณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ส่วนผู้นำรัฐประหารที่ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ คมช. ของพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ที่เมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว อำนาจคมช. ก็หมดไปเลย แต่ของ คสช อำนาจอยู่ที่ มาตรา 44 ถือว่า คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
@ หมายความว่า คสช. มีอำนาจเต็มยิ่งกว่าที่ผ่านมา
สมบัติ : ที่ผ่านมา คสช. จะใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ คือออกประกาศ คำสั่ง มากมายนับร้อยกว่าฉบับ และใช้อำนาจบริหาร คือ แต่งตั้ง โยกย้าย ตำแหน่งข้าราชการจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การยึดอำนาจ แต่ที่ผ่านมาเหล่านี้ ก็ยังไม่ใช่อำนาจตุลาการ
แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เพียงแค่ มาตรา 44 ถ้ามีผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายชาติอย่างร้ายแรง คสช สามารถสั่งประหารชีวิตได้เลย ทำการแทนศาลได้เลย สามารถสั่งประหารชีวิตได้ และชอบด้วย กฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นที่สุด ใครมาโต้แย้งไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจแก่ คสช.โดยสมบูรณ์
@ ยังมีมาตราใด อีกบ้าง ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของ คสช.
สมบัติ : นอกจากมาตรา 44 แล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดด้วยว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) หรือ ยังไม่มีนายกฯ ไม่มี ครม. ให้อำนาจของ สนช. เป็นของหัวหน้า คสช. ดังนั้น ในช่วงนี้ หัวหน้า คสช. ก็ยังมีอำนาจอยู่เหมือนเดิม
แม้แต่ส่วนที่ว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม อย่างเช่น มาตรา 6 การตั้ง สนช. และ มาตรา 27 การตั้งสภาปฏิรูป ก็กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการร่าง 36 คน โดยให้หัวหน้า คสช. ตั้ง ประธานคณะกรรมาธิการมา 1 คน สภาปฏิรูปตั้งมา 20 คนส่วน ครม. คสช. และ สนช. ตั้งอีกฝ่ายละ 5
หรือแม้แต่มาตรา 35 ที่กำหนดกรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มไว้ชัดเจน ว่าต้องประกอบด้วยกลไกอะไรบ้าง ซึ่งมาตรานี้ ส่วนที่น่าสนใจคือ ข้อที่ 7 และข้อที่ 8 ที่มีสาระสำคัญคือห้ามไม่ให้ทำนโยบายประชานิยม ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีส่วนนี้กำหนดไว้ชัดเจน คือไม่ให้มีนโยบายประชานิยม ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ประเทศและก่อความเสียหายแก่นโยบายการเงินการคลัง และยังวางกรอบห้ามไม่ให้คนที่มีความผิดทางการเมือง เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองได้อีก
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ม.19 วรรค 3 คสช. ยังมี อำนาจปลดนายกฯ ได้ เพราะฉะนั้น โดยภาพรวม หากถามว่า เมื่อมี นายกฯ มีครม, สนช และมีสภาปฏิรูปแล้วก็ตาม อำนาจ คสช. ในฐานะรัฐถาธิปัตย์ จะยังมีอยู่ไหม คำตอบคือยังมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ
@ กรณี มีอำนาจสั่งประหารชีวิตตาม มาตรา 44 ที่คุณเอ่ยถึงข้างต้น เป็นการตีความกฎหมายหรือไม่
สมบัติ : ไม่ต้องตีความแลย เพราะอำนาจตุลาการนั้น ถึงที่สุด ก็คือ ประหารชีวิตได้เลย ซึ่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีสั่งยิงเป้าเลยนะครับ เพราะฉะนั้น อำนาจ หรือคำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด การทำงานด้านความมั่นคง ของ คสช. ก็ยังดำเนินต่อไปได้ เพราะมีกลไก ของ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด
@ มีประเด็นใดอีกบ้างในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คุณเห็นว่า น่าสนใจ
สมบัติ : แม้เมื่อจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม ก็ใช่ว่าสภาปฏิรูปจะไปร่างอะไรได้ตามใจ เพราะยังต้องส่งให้ คสช. และครม. ดูด้วย ถ้าเขาต้องการแก้ไขก็ต้องส่งกลับมา
@ ในฐานะที่คุณเป็นผู้ที่มีส่วนในการชุมนุมของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เจตนารมณ์ของประชาธิปไตยที่เคยเรียกร้องในวันนั้น ยังมีอะไรเหลืออยู่บ้างในวันนี้
สมบัติ : ผ่านมาถึงตอนนี้ ก็ 41 ปีแล้ว เราเคยคิดว่าบ้านเมืองจะก้าวหน้าไปไกล แต่มันก็กลับมาสะดุดอีก แต่ที่สะดุดนี่ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เราจะไปโทษทหารอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะถ้ารัฐบาลที่มาบริหารประเทศ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คอร์รัปชั่นก็ไม่มีใครมาโค่นล้มได้หรอก และทหารก็ไม่มีข้ออ้างที่จะออกมา และประชาชนก็จะไม่มีวันยอมให้ทหารออกมาหรอก ถ้ารัฐบาลดีจริง ประชาชนทุกคนพร้อมจะปกป้อง
ดังนั้น ต้องแยกให้ชัดระหว่างประชาธิปไตย กับการรัฐประหาร ถ้านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม โปร่งใส และทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง จะไม่มีทหารคณะไหน มายึดอำนาจได้ รถถังหรือปืนใหญ่แค่ไหน ก็จะไม่สามารถต้านทานประชาชนที่จะออกมาปกป้อง แต่เหตุการณ์นี้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งเขายินยอม เพราะเขาทนไม่ได้กับนัการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชั่น
@ รัฐธรมนูญฉบับนี้ที่วางกรอบห้ามมีนโยบายประชานิยม หรือผู้ความผิดทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว ถ้าเช่นนั้น เมื่ออนาคตมีการเลือกตั้ง คุณคิดว่าจะมีนักการเมืองที่มีคุณสมับติดีอย่างที่คุณกล่าวมาหรือไม่
สมบัติ : เราคงต้องยอมรับความเป็นจริง ว่า ถ้านักการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ แล้วเขาประกาศว่า เขาจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขากล่าวว่า เป็นผลผลิตของรัฐประหาร ถ้าเป็นแบบนั้น การมีกฎหมายที่ดี ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นรากเหง้าที่ฝังลึกในสังคมไทย เพราะฉะนั้น เพียงแค่ ปีกว่าๆ ของ คสช. อาจยังแก้ไม่ได้ พวกนักการเมืองที่เขาไม่ชอบ เมื่อชนะการเลือกตั้ง เขาก็มาแก้ไขกฎหมายได้
เพราะฉะนั้น คนไทย ก็ต้องตระหนักด้วย ไม่ใช่หวังเอาปัญหาทุกอย่างไปให้ คสช. แก้ไขทุกอย่าง เราทุกคนก็ต้องช่วยแก้ไขด้วย เพราะประเทศนี้เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ ของ คสช. เท่านั้น เราต้องช่วยกัน ส่วนไหน คสช. ทำดีก็สนับสนุน ส่วนไหนไม่ดีก็ต้องท้วงติง เหมือนกรณีประกาศที่ 97 ที่ คสช. สั่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่คนแวดล้อม คสช. แต่เมื่อประชาชนท้วงติง เขาก็มีความกล้าที่จะแก้ไข ถ้าเขามีลักษณะตรงส่วนนี้คือรับฟังเสียงประชาชนว่ารับได้หรือไม่ได้ รับไม่ได้เพราะอะไร แล้วปรับแก้อย่างมีเหตุผล ถ้า คสช.ยังคงลักษณะแบบนี้ไว้ต่อไปได้ก็จะดี
...
นี่คือทัศนะจากนักวิชาการด้านกฎหมายและนักเคลื่อนไหว ที่ครั้งหนึ่ง เมื่อ 41 ปีก่อน เขาคือหนึ่งในพลังนักศึกษาประชาชนที่ร่วมโค่นล้มเผด็จการทหาร ขณะที่วันนี้ เลือกที่จะเป็นศัตรูกับกลุ่มเผด็จการธุรกิจการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงจับตาดูอำนาจของคณะรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ ท้วงติง และสนับสนุนในแต่ละบริบทดังที่กล่าวมา
( อ่านประกอบ :รำลึกอดีต “ฅนเดือนตุลา” กับจุดยืน (วันนี้) ที่อยู่คนละขั้วการเมือง )
ภาพประกอบจาก : www.manager.co.th