รำลึกอดีต “ฅนเดือนตุลา” กับจุดยืน (วันนี้) ที่อยู่คนละขั้วการเมือง
"ถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีใครตอบคำถามนั้นได้ดีที่สุดเท่าฅนเดือนตุลา 2516 , 2519 ว่าทำไม เพราะอะไร? พวกเขาในวันนี้ จึงมีทั้งคนที่วางเฉยต่อความขัดแย้ง ขณะที่อีกไม่น้อยยังร่วมสู้อยู่ในฉากหน้า และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมองไม่เห็นจุดจบ"
พลันที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และแกนนำ กปปส. ถูกรวบตัวในข้อหากบฎ และข้อหาหนักอื่นๆ ก่อนจะควบคุมตัวเดินทางมายังอาคารสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ทำการของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ในช่วงสายวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
ภาพบางส่วนบางตอนของเหตุการณ์ ในช่วง 14 ต.ค. 16 เริ่มปรากฎขึ้นในความคิดของใครหลายคน
เนื่องด้วยครั้งหนึ่ง นายสมบัติผู้นี้ เคยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษา ที่ร่วมเคลื่อนไหวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ไม่ต่างจากอดีตคนเดือนตุลาฯ หลายคน ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอย้อนอดีตทบทวนรายชื่อนักศึกษาคนสำคัญในเดือนตุลา 2516 ที่พวกเขาเคยร่วมกันต่อสู้และโค่นล้มอำนาจเผด็จการ
ก่อนที่ในเวลาต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การลอบสังหารนักศึกษา แกนนำชาวบ้าน และนักคิดฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
ทำให้นักศึกษาหลายคนตัดสินใจหนีเข้าป่าร่วมกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนคืนสู่เมืองเมื่อนโยบายปราบคอมมิวนิสต์ได้รับการผ่อนปรน
กระทั่ง วันนี้ พวกเขาก็ยังยืนอยู่บนถนนของการต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ และจุดยืนทางการเมืองภายใต้ความต่างที่น่าสนใจ
หากแต่วันนี้ "บทบาท" "จุดยืน" รวมถึง "ชะตากรรม" บนถนนสายการเมืองของคนเดือนต.ค. หลายคน ดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แกนนำสำคัญ กับความต่างในวันนั้น-วันนี้
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์
ธีรยุทธ บุญมี
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ทั้ง 4 คนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพลังนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516
บทความ “งดสอบเพื่อชุมนุม เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นบทความ ตอนที่ 39 จากทั้งหมด 40 ตอน ของสารคดี “40 เรื่องย้อนอดีตสังคมไทย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา” เขียนโดย สุวัฒน์ อัศวไชยหาญ มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า
“…ถึงวันที่ 13 ตุลาคม คนเรื่อนหมื่นก็เพิ่มเป็นเรือนแสน เวลาเที่ยงวัน ขีดเส้นตายที่ ศนท. ยื่นคำขาดรัฐบาลให้ปล่อยตัว 13 คนก็มาถึง ( หมายถึงนักศึกษา 13 คน ของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตั้งข้อหากบฎ ) โดยไร้คำตอบจากผู้มีอำนาจ ผู้ชุมนุมราว 5 แสนคน จึงเปลี่ยนจากการนั่งประท้วง ลุกเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งริ้วขบวน นำชูธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ โดย เสกสรรคประเสริฐกุล ได้รับมอบหมายจาก ศนท. ให้เป็นแกนนำการเคลื่อนขบวน
“ระหว่างนั้น กรรมการบริหารของ ศนท. กลุ่มหนึ่ง มี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้นำเข้าเจรจากับรัฐบาลครั้งสุดท้าย และอีกกลุ่ม สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการศูนย์เป็นผู้นำ ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ …
หากมองที่บทบาทการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ในจำนวนนี้ มีเพียง "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากเพื่อนอีก 3 คน
เนื่องจากทั้งสมบัติ และธีรยุทธ ให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อแนวทางการเคลื่อนไหวของ กปปส.
ขณะที่ประสาร ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยออกมาวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหนึ่ง ( นโยบายแข็งค่าเงินบาท )
ส่วนเสกสรรค์ มุ่งเน้นไปที่การสร้างงานเขียน เว้นว่างจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกเว้นวาระสำคัญอย่างงานครบรอบ 14 ตุลาคม 2516
นอกจากนี้ เขายังเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112
เสกสรรค์เป็นแกนนำนักศึกษาคนสำคัญในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขา และแฟนสาวในตอนนั้น คือจิระนันท์ พิตรปรีชา ตัดสินใจหนีเข้าป่าหลังเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบและลอบสังหารนักศึกษา
พลังสำคัญ “สภาหน้าโดม” - "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ"
นอกจากตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ที่คนรุ่นหลังส่วนใหญ่มักมีภาพจำของ เสกสรรค์, จิระนันท์, ธีรยุทธ แต่พลังที่อยู่เบื้องหลังและร่วมขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย ยังมีอีกหลากหลายกลุ่ม
อาทิ กลุ่มสภาหน้าโดมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นอกจากมีสมาชิกคือ เสกสรรค์ ประเสิรฐกุลแล้ว ยังมี กมล กมลตระกูล, พิชิต จงสถิตย์วัฒนา, จรัล ดิษฐาอภิชัย และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นสมาชิก
ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ร่วมก่อตั้งโดยธีรยุทธ บุญมี หลังจากหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พวกเขาจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ และจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวมวลชน ก่อนที่สมาชิก 13 ของกลุ่ม จะถูกจับกุมข้อหา “กบฎ” และเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
“ 6 ตุลาคม 2516 ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเดินแจกใบปลิวและหนังสือย่านประตูน้ำ สมาชิกกลุ่ม 11 คน ก็ถูกจับกุมในข้อหา “มั่วสุม ชักชวน ให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคน” อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ตามด้วยข้อหา “กบฎต่อราชอาณาจักร” ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 สองสามวันต่อมา รัฐบาลจับกุมเพิ่มอีก สองคน รวมเป็นกบฎทั้งหมด 13 คน” (40 เรื่องย้อนอดีตสังคมไทย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา โดย สุวัฒ์ อัศวไชญหาญ)
หลังยุค "เข้าป่า" หลังยุค "ล้อมปราบนักศึกษา"
หลังจากประชาธิปไตยเบ่งบาน ในปี 2516 แต่แล้วหลังจากนั้น คนเดือนตุลาหลายคน ต้องหนี “เข้าป่า” ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในปี 2519 และในช่วงที่สังคมตกอยู่ในสถานการณ์ลอบสังหารนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
คนเหล่านี้ ทั้งที่เคยหนีเข้าป่า และทั้งที่ไม่ได้เข้าป่า แต่ก็มีส่วนร่วมรับรู้ในเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นนักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย มีทั้งที่เป็นนักวิชาการ และบางส่วนเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ให้การสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม-ประชาธิปไตยที่ต้องการให้สังคมเปิดกว้างทางความคิด บ้างก็เป็นนักวิชาการที่เผยแพร่งานวิชาการที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย, ร่วมเคลื่อนไหวลงชื่อ แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 รวมถึงต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร อาทิ นักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ( ธเนศเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม )
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกไม่น้อยที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว กับ นปช. ที่ถูกคนในสังคมมองว่ายึดโยงอยู่กับพรรคเพื่อไทย อาทิ ธิดา ถาวรเศรษฐ, จรัล ดิษฐาอภิชัย, วีระ มุสิกพงศ์ รวมถึง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่แม้ไม่ได้เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่นายจาตุรนต์ เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนักศึกษา ก่อนที่ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในแกนนำยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
ส่วนอีกด้านหนึ่ง คนเดือนตุลาที่เคยหนีเข้าป่าในยุคที่มีการลอบสังหารนักศึกษา อาทิ ธัญญา ชุนชฎาธาร ( กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ ) ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ( ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองภาคประชาชน ) และบุญส่ง ชเลธร ในวันนี้ พวกเขาแสดงออกถึงแนวคิดที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ , การก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง แนวทางการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม กปปส.
นอกจากนี้ ยังมีศิลปินและนักเขียนชื่อดังในปัจจุบันอีกหลายคน ที่เคยต้องหนีเข้าป่าในยุคล่าสังหารผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อาทิ วิสา คัญทัพ ( ปัจจุบันได้รับการเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในศิลปินเสื้อแดง ) , วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นต้น
ขณะที่อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาที่แสดงละครเรียกร้องความเป็นธรรม โดยรับบทเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกแขวนคอใต้ลานโพธิ์และถูกสื่อสารมวลชนในยุคนั้น กล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปัจจุบัน นายอภินันท์เป็นบรรณาธิการฝ่ายภาพของนิตยสาร อสท.
ฅนเดือนตุลา กับบทบาท “นักสิทธิมนุษยชน”
นอกจากคนเดือนตุลา 2616 และ 2519 ที่มีบทบาทอยู่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังมีคนเดือนตุลาอีกกลุ่ม ที่ปัจจุบัน มีบทบาทสนับสนุนการทำงานเคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม อาทิ สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ( อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษฺสิทธิเด็ก ) , สมชาย หอมละออ ( คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ) ไพจง ไหลสกุล ( หนึ่งในคณะทำงานกองทุน จิตร ภูมิศักดิ์ ) สุนี ไชยรส ( อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ) วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ( หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว )
อย่างไรก็ตาม เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุคคลที่ชื่อของเขาถูกจารึกไว้ว่ามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่แม้ชื่อของพวกเขามิได้ถูกจารึกไว้ในตำรา หรือวิทยานิพนธ์เล่มใดๆ แต่พวกเขาก็ยังร่วมขับเคลื่อนอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละฟากฝ่ายสำนักคิดในวันนี้
รำลึกความกลัว “6 ตุลาฯ”
นายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หนึ่งในผู้ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แสดงทัศนะที่น่าสนใจกับ สำนักข่าวอิศรา ต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า
“ผมเองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถูกตีจากอันธพาลและเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์นั้น และปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
นอกจากนี้ นายสมชายเคยวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมในเหตุการณ์ตากใบ เชื่อมโยงกับความยุติธรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาจะไม่จบ การที่คนหนุ่มสาวจะลุกขึ้นมาจับอาวุธจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ถึงสาเหตุที่มา เพราะตราบใดที่เหตุการณ์ในอดีตยังไม่ได้รับการเยียวยาด้วยการเปิดเผยความจริง เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดยังไม่ถูกลงโทษ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก็ยังมีบาดแผล
นายสมชายกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” หรือ “Transitional Justice” ที่เป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งจะช่วยเยียวยาบาดแผลของผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในคดีตากใบและจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตอย่าง 6 ตุลา 2519 กระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ต้องมีลักษณะบางอย่างที่เสริมหรือแตกต่างจากกระบวนการธรรมดา เช่นการเสริมหรือค้นหาความจริง ในหลายประเทศจึงไม่พึ่งเพียงศาลที่เป็นระบบกล่าวหา แต่ใช้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาความจริง เพราะญาติของผู้เสียชีวิตหรือญาติผู้สูญหายเขาต้องการรู้ความจริง ว่าใครเป็นคนทำ เจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทำทำไม ทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของมนุษย์ที่ต้องการรู้ความจริงว่าถ้าสามี ภรรยา ลูกเราถูกฆ่า เขาถูกใครฆ่า
“ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อการแก้แค้น แต่เพื่อที่จะนำไปสู่จุดที่ว่าจะเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการเยียวยาด้วยเงินคือผู้กระทำผิดยอมรับผิดไหม ถ้ายอมรับผิดแล้วยอมรับโทษไหม” นายสมชายระบุ และย้ำว่าสิ่งสำคัญอย่างมากในกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านคือการเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ…การให้สังคมได้รำลึกถึงเหตุการณ์ หรือมีการจัดตั้งอนุสรณ์สถาน เพื่อให้เห็นว่าการที่รัฐทำต่อประชาชนนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดสิทธินุษยชน เหล่านี้มันทำให้กระบวนการยุติธรรมก้าวหน้าไปได้”
ขณะที่ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ หนึ่งในผู้ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ปัจจุบัน เป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าว TCIJ (ศูนย์ข้อมูลข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ) และเป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เคยเขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
“ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นสมาชิกชมรม ศิลปะการละคร ซึ่งจัดการแสดงละครฟ้องร้องเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม (ที่ออกแจกใบปลิว คัดค้านจอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นสามเณรกลับเข้าประเทศ) การแสดงละครในวันนั้น ต้องการแต่เพียง สะท้อนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง เพื่อประท้วงและเรียกร้องให้นักศึกษายุติการเข้าห้องสอบ หากแต่ เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เมื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยามกรอบบ่าย นำภาพการแขวนคอบุคคลที่ละม้ายสมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ มาตีพิมพ์ พาดหัวกล่าวหานักศึกษาหมิ่นองค์รัชทายาทและเป็นคอมมิวนิสต์"
“คงไม่ต้องเล่าถึงเหตุการณ์อันน่าสะพรึงหลังจากนั้น เพราะดิฉันเองก็ไม่สามารถจะบอกเล่าได้โดยไม่เกิดอาการ ขยักขย้อนในท้องแม้สักครั้งเดียว และไม่เคยดูภาพแห่งความรุนแรงเลวร้ายที่สื่อมักนำมาตีพิมพ์รำลึกในทุกรอบปีได้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 37 ปี เมื่อวัยและวุฒิภาวะมากขึ้นๆ จึงเริ่มเข้าใจกลไกการป้องกันทางจิต (defense mechanism ) อันซับซ้อนที่ก่อให้เกิดอาการทางกาย ซึ่งดิฉันเองไม่แน่ใจว่าเกิดกับคนอื่นๆที่อยู่ใน ประสบการณ์นี้ด้วยหรือไม่ ดิฉันพบว่า จริงๆ แล้วมันก็คือ”ความกลัว”นั่นเอง…”
...
บุคคลเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนตุลา ทั้งในปีแห่งเสรีภาพ ( 2516 ) และปีกหัก ( 2519 ) ที่ในวันนี้ พวกเขาทั้งที่ถูกเอ่ยนามและไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในที่นี้ ยังคงมีบทบาทหลากหลายในการขับเคลื่อนสังคมและยังมีอีกไม่น้อย ที่เลือกจะใช้ชีวิตเร้นกายอยู่ในชนบทอย่างเงียบเชียบด้วยความหวาดกลัวและหวาดผวา และอีกไม่น้อย เลือกที่จะ “รอ” เพื่อทวงคืนความยุติธรรม แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว เกือบ 40 ปี
แต่ไม่ว่าอย่างไร สาเหตุที่แท้จริงของการเลือกยืนอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันในวันนี้ ย่อมมากด้วยปัจจัยหลายประการอันซับซ้อน ซึ่งถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีใครตอบคำถามนั้นได้ดีที่สุดเท่าฅนเดือนตุลา 2516 , 2519 ว่าทำไม เพราะอะไร? พวกเขาในวันนี้ จึงมีทั้งคนที่วางเฉยต่อความขัดแย้ง ขณะที่อีกไม่น้อยยังร่วมสู้อยู่ในฉากหน้า และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมองไม่เห็นจุดจบ
…
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
40 เรื่องย้อนอดีตสังคมไทย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา โดย สุวัฒน์ อัศวไชยหาญ และราวี ราญอริราษฎร์ (นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 344 ตุลาคม 2556 )
กลุ่มอิสระ และการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ โดย สุนี ไชยรส
http://comradeblogcom.blogspot.com/2011/01/blog-post_21.html
กลัว โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3175
คนตุลาฯ เปิดภูมิหลัง แตกหักนักศึกษา-นักการเมือง โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000122300
จรัล ดิษฐาอภิชัย นักสู้ตัวจริง! โดย วิสา คัญทัพ
http://serichon.org/board/index.php?topic=10562.0;wap2
บุญส่ง ชเลธร การกลับมาของปีกแดงในดงเหลือง "ผมไม่มีประสบการณ์เล่นเกมการเมือง" โดย ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280224111&grpid=no
และทุกคำบอกเล่าจากผู้ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่ไม่ขอเปิดเผยนาม
…