Deer Park แห่ง“ทะไล ลามะ”วัดทิเบตในวิสคอนซิน
แม้มีศาลาไทยตั้งตระหง่านในแมดิสัน วิสคอนซิน แต่ทว่าไม่มีวัดสถานปฏิบัติธรรมทางศาสนาพุทธของคนไทยเป็นการเฉพาะ กระนั้นมีวัดชาวทิเบตแห่งหนึ่งอยู่ใน Oregon ชื่อว่า Deer Park Buddhist Center
สัปดาห์ถัดมาหลังจาก“ใบไม้”โอบกอดที่ OLBRICH GARDENS”สารถีคนเดิมก็พาเราไปเหมือนเคย ออกจากที่พัก 9 โมงเช้าจากแมดิสันมุ่งหน้านอกเมือง ใช้เวลา 30 นาทีก็ถึง
สารภาพตามตรงขณะเดินทาง ยังนึกภาพไม่ออกว่าวัดทิเบตมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?
ไป่นึกไปว่าคงคล้ายๆกับวัดไทยบางแห่งในต่างจังหวัดนั่นปะไร!
หลังคาทรงสูง มีศาลาวัดโล่งๆ อุโบสถสวยงามกว่าศาลาวัด เมรุเผาศพอยู่ด้านหลัง สุนัขและแมว สัตว์เลี้ยงประจำนอนกันเกลื่อน เจ้าอาวาสกึ่งนั่งอยู่ในกุฏิด้านหน้า ไม่สูบยา ก็กินหมาก ถือรีโมททีวี ถังผ้าป่า ไม้เสียบใบธนบัตรตั้งอยู่พร้อมซอง เชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาควักเงินออกจากกระเป๋า ทำนอง“ทำมาก ได้บุญมาก”
แต่เอาเข้าจริง “ไม่ใช่”
วัดทิเบตแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 4548 SCHNEIDER DRIVE Oregon วิสคอนซิน ก่อตั้งโดย Geshe Lhundub Sopa ในปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ปัจจุบันมีพระจำพรรษา 7 รูป ในจำนวนนี้มาจากประเทศอินเดีย 1 รูป ทั้งเมืองมีชาวทิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่ราว 500 คน
Deer Park ตั้งอยู่บนเนินเขาเนื้อที่หลายเอเคอร์ส ประกอบด้วย อาคารหลักประกอบศาสนกิจสูง 3 ชั้นมองภายนอกลักษณะค่อนข้างทึบแม้มีหน้าต่างข้างละ 6 บาน ชั้นล่างเป็นห้องโถงคล้ายห้องประชุมสัมมนา ชั้น 2 ใช้สวดมนต์ฟังธรรม ชั้น 3 เป็นที่พำนักของพระอาจารย์ใหญ่ ถัดออกไปเป็นอาคาร 2 หลังใช้จำวัดของพระและภิกษุณี ด้านหลังเป็นอาคารคอนกรีตกึ่งไม้คล้ายเรือนรับรองซึ่งองค์ทะไล ลามะ เคยมาพำนักที่อาคารแห่งนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว ด้านหลังสุดเป็นสถูป และรอบๆสถูปปูด้วยอิฐใช้เป็นที่เดินจงกลมของผู้มาปฏิบัติธรรม
เมื่อเดินขึ้นไปชั้น 2 ของอาคารหลักประกอบศาสนกิจ ผนังด้านหนึ่งมีพระตามความเชื่อของศาสนาพุทธแบบทิเบตหลายองค์ องค์ใหญ่สุดเป็นพระประธาน (ลักษณะคล้ายกับประธานในอุโบสถบ้านเรา) แต่ละองค์สีเหลืองอร่ามตัดกับพื้นสีฟ้างดงาม
ความเชื่อในศาสนาแบบทิเบต นับถือพระธยานิพุทธะ 5 พระองค์ ได้แก่ พระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระอมิตาภะพุทธะ พระอโมฆสิทธิพุทธะ และพระรัตนสัมภวะพุทธะ และนับถือพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์
ต่ำลงมามีรูปภาพของทะไล ลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตซึ่งเชื่อกันว่า ทะไล ลามะ เป็นการอวตาร ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่า เชนรีซี (Chen-re-zi) เพื่อช่วยชาวทิเบตและชาวโลกให้พ้นไปจากความทุกข์
และด้านล่างหน้าสุดเป็นอาสนะของพระ
มองขึ้นไปด้านบนด้านข้างซ้ายขวามีภาพคล้ายพระตามความเชื่อของชาวทิเบตจำนวนมากสวยงามทั้ง 2 ด้าน
ตอนเดินทางมาวัดแห่งนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ทางวัดจัดกิจกรรมสวดมนต์และฟังธรรมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ดังนั้นจึงมีผู้สนใจเดินทางมาสวดมนต์และฟังธรรมประมาณ 30 คน กะคร่าวๆร้อยละ 80 เป็นชาวต่างชาติ
ข้อดีอย่างหนึ่งในการเดินทางมาฟังธรรมที่นี่คือไม่ต้องพกหนังสือสวดมนต์ติดตัวมา ด้วยเพราะทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งก่อนจะมานั่งก็จะต้องไปหยิบแฟ้มหนังสือสวดมนต์ที่ชั้นด้านหลัง ตรงข้ามกับพระประธาน และโต๊ะไม้เล็กๆพับได้ สำหรับวางหนังสือสวดมนต์ รวมทั้งเบาะรองนั่งสีแดง
เหตุที่ผู้มาฟังธรรมต้องใช้เบาะรองนั่ง มิใช่เป็นความเชื่อ แต่เนื่องจากพื้นเป็นปูนซีเมนต์ ยามอากาศหนาวจะเย็นจัด ใส่ชุดหนาขนาดไหนก็จะนั่งไม่ได้นาน
การสวดมนต์ของวัดแห่งนี้มีพระ 1 รูปนำสวด ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ในขณะสวดนอกจากเสียงสวดมนต์ มีแต่ความเงียบแทบได้ยินเสียงเข็มหล่นสู่พื้นเลยทีเดียว หลังจากสวดมนต์เสร็จพักราว 3 นาที พระทิเบตก็เทศนาต่อ มีผู้แปลจากภาษาทิเบตเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติที่มาฟังอีกทอดหนึ่งให้เข้าใจ
หากมาครั้งแรกก็อาจขัดหูขัดตา ตรงขณะฟังธรรม (ยกเว้นสวดมนต์)ผู้ฟังนั่งในอิริยาบถท่าไหนก็ได้ตามสบาย เพราะฉะนั้นจึงเห็นชาวต่างชาติบางคนนั่งกอดเข่า บางคนกึ่งนั่งกึ่งนอน เหยียดแข็งขา ไม่มีการห้ามปามเหมือนฟังเทศน์ในบ้านเราแต่อย่างใด
รวมระยะเวลาในการสวดมนต์และฟังธรรมในวันอาทิตย์ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
กล่าวสำหรับ Geshe Lhundub Sopa ผู้ก่อตั้ง Deer Park Buddhist Center เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาทางด้านศาสนาพุทธในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันกว่า 30 ปีและเป็นชาวทิเบตคนแรกที่ได้รับว่าจ้างจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา
เราออกจาก Deer Park ประมาณบ่ายโมง สิ่งที่ได้ติดตัวนอกจากรูปถ่ายและความทรงจำคือการเผยแผ่ศาสนาตามความเชื่อของชาวทิเบตในประเทศจีนเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด แต่ในสหรัฐไม่ได้เป็นเช่นนั้น พลังศรัทธาต่อศาสนาและองค์ทะไล ลามะ ของชาวทิเบตยังคงมิเสื่อมคลาย นับวันแตกหน่อไปยังชนชาติอื่นมากขึ้น
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวทิเบตและองค์ทะไล ลามะ ถูกบันทึกในบริบทที่แตกต่างกันระหว่างจีนที่ถูกใช้นโยบาย “กำปั้นเหล็ก” กับสหรัฐและชาติตะวันตกที่โอบอุ้มด้วย“อุ้งมือกำมะหยี่”
อยู่ที่ว่าใครเป็นคนเขียน?
……….
อ่านประกอบ:ใบไม้โอบกอด…ที่ OLBRICH GARDENS แมดิสัน