- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
"...ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ที่ต้องออกมาพูดเพราะคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก่อนหน้านี้ตอนกระบวนการยังไม่จบผมก็เลือกไม่ตอบโต้ แต่ตอนนี้การกล่าวหาที่กระทบผมอย่างร้ายแรง ผมคงนิ่งเฉยไม่ได้ ผมต้องปกป้องจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคารที่ผมสั่งสมมาทั้งชีวิตครับ ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว(Kittiphun Anutarasoti) แสดงความเห็นต่อกรณีถูกคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารกรุงไทย แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ในการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในการเสนอปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
---------------------
ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกๆ ท่านที่ส่งกำลังใจมาให้นะครับ มีเวลาช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยอยากบันทึกประเด็นและสรุปให้ฟังอีกทีครับ
ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ที่ต้องออกมาพูดเพราะคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก่อนหน้านี้ตอนกระบวนการยังไม่จบผมก็เลือกไม่ตอบโต้ แต่ตอนนี้การกล่าวหาที่กระทบผมอย่างร้ายแรง ผมคงนิ่งเฉยไม่ได้ ผมต้องปกป้องจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคารที่ผมสั่งสมมาทั้งชีวิตครับ
หลังจากการแถลงข่าวหลายคนเขียนมาหรือโทรมาถามว่าเกิดอะไรขึ้นและที่ผมพูดถึงสภาพที่อาจจะไม่เป็นกลาง และมีคำถามเพิ่มว่าจะตรวจสอบให้เป็นกลางอย่างไร
ผมยังขอย้ำนะครับว่าผมเห็นด้วยกับการตรวจสอบ ควรจะเป็นกรณีศึกษา (Case Study) ของระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมากโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยทั้งผู้ถือหุ้นธนาคารและเอิร์ธ ผู้ถือหุ้นกู้เอิร์ธ และความเสียหายนั้นลุกลามเร็วมากภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ลูกค้าระดับ Investment Grade กลายเป็น NPL การตรวจสอบนั้นต้องโปร่งใสและทำโดยผู้ที่มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ให้ครอบคลุมในทุกๆด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคมและผู้เสียหายทั้งหมดว่าความเสียหายเกิดจากอะไรกันแน่ และที่สำคัญจะนำไปป้องกันเหตุการณ์อย่างเดียวกันในอนาคตอย่างไร ผมยกตัวอย่างว่าเราควรพัฒนากระบวนการที่ชัดเจนในการช่วยบรรเทาปัญหาลูกหนี้และในขณะเดียวกันปกป้องสิทธิ์ของเจ้าหนี้ระหว่างที่เจรจาหาทางออกหรือเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันการที่ลูกหนี้จะล้มลงและยากมากกว่าเดิมในการกลับมาทำธุรกิจและอาจทำให้ความเสียหายมากกว่าที่ควรเป็น
ผมเลยขอแบ่งปันความคิดเห็นของผมเอง เป็นความคิดเห็นล้วนๆนะครับ โดยผมตั้งชื่อบทความตอนที่ 1 ว่า การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
การที่จะทำให้การตรวจสอบเป็นกลางควรทำอย่างไร จากประสบการณ์ทีเคยเห็นมาตลอดเวลาที่ทำงานมากว่า 25 ปี ผมขอแบ่งปันความคิดเห็นส่วนตัวว่าการตรวจสอบควรครอบคลุมอะไรบ้างเพื่อให้ความจริงทั้งหมดได้ปรากฏ ทุกๆท่านให้ความเห็นได้ครับ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่เคยผ่านและเห็นมาครับ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากและไม่ได้จำกัดเพียงแค่ธนาคาร ซึ่งผมมีความเห็นว่าควรจะมีการตรวจสอบผู้มีส่วนร่วมหลักๆดังนี้ครับ
1) ลูกหนี้
ควรมีการตรวจสอบลูกหนี้อย่างละเอียดว่า ที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบปรกตินั้นอาจจะไม่ได้มีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าอาจมีการทุจริต แต่ในเมื่อเกิดปัญหาขึ้นและมีข้อสงสัย ควรมีการตรวจสอบอย่างชัดเจนว่ามูลค่าสินทรัพย์เป็นจริงอย่างที่มีการบันทึกหรือไม่ และธุรกรรมต่างๆ เป็นไปตามที่มีการรายงานในงบการเงินหรือไม่ ก่อนหน้านี้ในกระบวนการฟื้นฟูเข้าใจว่า ได้มีการว่าจ้าง Ernst & Young หรือ EY ให้ทำการตรวจสอบ ผมคิดว่าควรมีการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ
ในปัจจุบันเข้าใจจากข่าวว่ามีการตรวจสอบโดย DSI ซึ่งยังไม่มีบทสรุป และรอฟังอยู่ว่าหากมีการกล่าวโทษเรื่องความไม่ปรกตินั้น ความไม่ปรกตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าหากยังไม่รู้จะไปกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในธนาคารอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร
2) ผู้สอบบัญชี PWC
จนถึงปัจจุบันเรายังไม่เคยได้ยินสิ่งใดๆจากทางผู้สอบบัญชีหรือ PWC เลย ซึ่งผมคิดว่าอาจเป็นเพราะตามมาตรฐานวิชาชีพคงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลลูกค้าได้ อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าผู้กำกับดูแลคงได้มีการเรียก PWC มาคุยแล้ว ผมคิดว่าสังคมคงอยากทราบว่าโดยเฉพาะเรื่องการกล่าวหาเรื่องการโกง (Management Fraud) ซึ่งโดยปรกติแล้วผู้สอบบัญชีมักจะเป็นผู้เห็นก่อนเนื่องจากมีการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่ธนาคารและนักลงทุนไม่มีโอกาสเข้าถึง ส่วนตัวผมเชื่อว่าทาง PWC มีมาตรฐานที่สูงมากจากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสสัมผัส แต่ในกรณีนี้ผมคิดว่าการตรวจสอบคงไม่สามารถข้ามเรื่องนี้ไปได้ เพราะข้อมูลทางการเงินที่ได้รับการตรวจสอบบัญชีนั้นเป็นข้อมูลหลักสำหรับธนาคารและนักลงทุนในการวิเคราะห์ศักยภาพของลูกค้า โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตโดยธนาคารกรุงไทยว่ามีเรื่องการทุจริตต่างๆทั้งเรื่องเอกสารทางการค้าและความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน สังคมรอฟังอยู่ครับ
3) เจ้าหนี้ธนาคาร ซึ่งในกรณีนี้มีหลายธนาคารด้วยกัน นอกจากกรุงไทยแล้ว ยังมีธนาคารอื่นอีก
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์หนี้เสียหรือ NPL หน่วยงานผู้นำเสนอสินเชื่อมักจะได้รับการตรวจสอบก่อน การตรวจสอบดังกล่าวมักจะดูถึงกระบวนการการนำเสนอและการอนุมัติว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่ดีหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่ามีหลักให้อ้างอิงมากมายเพราะมีหลายธนาคารที่ได้ใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อให้เอิร์ธเช่นกัน นอกจากนั้นธนาคารกรุงไทยยังมีหลายบทบาทรวมถึงการขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนรายย่อย ซึ่งต้องมีการใช้ดุลพินิจในเรื่องความสามารถชำระหนี้เหมือนกันและลูกหนี้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จึงมีข้อมูลที่ใช้ในการอนุมัติไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ดีในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอิร์ธนั้น ผมคิดว่าการตรวจสอบควรมองให้ครบทั้งกระบวนการซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
1) สมเหตุสมผลและมีความพยายามในการปกป้องประโยชน์สูงสุดของธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆหรือไม่
2) เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติกับลูกหนี้รายอื่นๆในสถานการณ์คล้ายคลึงกันหรือไม่ และ
3)หากเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆที่ปฏิบัติกับลูกหนี้ที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ที่ผมตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เพราะผมเห็นว่าโดยปรกติแล้วนั้นหากเริ่มมีปัญหานั้นธนาคารมักจะเริ่มจากความพยายามแก้ปัญหา แต่ในกรณีนี้กลับมีการตั้งกรรมการตรวจสอบแทบจะทันทีที่มีปัญหาในการชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ชวนให้สงสัยว่ามีความพยายามในการแก้ปัญหาหรือไม่และมีความพยายามในการคุมปัญหาให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้หรือไม่ ทำไมปัญหาลุกลามไปทุกๆวงเงินเร็วมาก เกิดอะไรขึ้น คิดถึงการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบคอบหรือไม่
4) ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้หรืออันเดอร์ไรเตอร์
ในกรณีนี้มีนักลงทุนรายย่อยได้รับความเสียหายจำนวนมาก ผมเข้าใจว่ามีการร้องทุกข์ผ่านสำนักงานกลต.และธนาคารแห่งประเทศไทย และทางกรุงไทยเองก็ได้มีการตอบไปแล้วบ้าง ผมเลยขอตั้งข้อสังเกตว่าคำตอบที่ได้ให้กับทางนักลงทุนนั้นมีความสอดคล้องกับเรื่องที่กล่าวหาทีมงานสินเชื่อหรือไม่ และเป็นการตรวจสอบโดยผู้กำกับดูแลหรือเป็นเพียงการถามไปที่ธนาคารกรุงไทยและอันเดอร์ไรเตอร์อื่นเพื่อให้ตอบกลับ
ประเด็นที่น่าสนใจในความเห็นผมคือ หากมีการยืนยันว่าลูกหนี้ยังเป็นปรกติในเวลานั้นและธนาคารเองได้พิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่ม น่าจะเป็นการยืนยันว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปก่อนหน้าหุ้นกู้ทั้งสองชุดนั้นก็มีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ต่างกัน ตอนต่อไปผมจะนำข้อมูลทางการเงินมาเปรียบเทียบให้ดูครับ ว่าในแต่ละจุดของการปล่อยสินเชื่อและออกหุ้นกู้นั้น เอิร์ธนั้นมีสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร
ผมขอเสริมอีกประเด็นครับว่า ผู้กำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานกลต.นั้น ควรมีการตรวจสอบและพิจารณาถึงคำตอบที่ธนาคารกรุงไทยให้กับนักลงทุนว่ามันสอดคล้องกับสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยมีการกล่าวโทษทีมงานอำนวยสินเชื่อหรือเปล่า เพราะข้อมูลที่ใช้ในการอนุมัติสินเชื่อและในการออกหุ้นกู้นั้นคือข้อมูลชุดเดียวกันโดยหลักๆครับ ทำไมด้านหนึ่งมีความผิดแต่อีกด้านหนึ่งกลับตอบลูกค้านักลงทุนว่าทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว เรื่องดังกล่าวผมคิดว่าผู้กำกับดูแลควรจะต้องลงมาดูรายละเอียดครับ และยังเชื่อว่าควรมีคนเป็นกลางตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเนื่องจากธนาคารกรุงไทยมีหลายบทบาท การกล่าวหาด้านสินเชื่อและการตอบผู้ถือหุ้นกู้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันครับ ความเห็นส่วนตัวผมคือการขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนรายย่อยต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสำหรับหลายๆท่านนั้นเป็นเงินที่สะสมมาและเก็บหอมรอมริบมานาน การเสียหายรวดเร็วแบบนี้ต้องการคำตอบที่เป็นธรรมครับ
อีกประการหนึ่งซึ่งมีการกล่าวหาทีมงานสินเชื่อคือการให้วงเงินที่อาจเกินความต้องการของลูกค้า แต่ธนาคารเดียวกันโดยอีกสายงานหนึ่งกลับไประดมทุนเพิ่มให้ลูกค้า อยากฝากผู้กำกับดูแลให้ช่วยตรวจสอบหน่อยนะครับว่าวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ลูกค้ามาคุยกับธนาคารหรือไม่ครับ เอกสารหลักฐานต่างๆเหล่านี้ควรจะมีอยู่อย่างครบถ้วน
5) บริษัทจัดอันดับเครดิตเรทติ้ง ซึ่งคือบริษัท TRIS สำหรับกรณีนี้
TRIS อาจไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ผมคิดว่าเราควรมีการสอบถามไปยัง TRIS เพื่อให้เข้าใจถึงมาตรฐานการจัดอันดับความเสี่ยงสินเชื่อหรือเครดิตเรทติ้งซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ เพราะ TRIS นั้นเป็นสถาบันการจัดอันดับความเสี่ยงที่ได้รับการยอมรับ และเรทติ้งโดย TRIS นั้นเป็นจุดอ้างอิงได้ว่าหน่วยงานภายนอกธนาคารมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องความสามารถชำระหนี้ของเอิร์ธ ในกรณีนี้ทาง TRIS เองก็มีการจัดอันดับความเสี่ยงของเอิร์ธที่ BBB- ซึ่งเป็น Investment Grade หรือภาษาบ้านๆเรียกว่าลูกค้าชั้นดี ซึ่งน่าจะเป็นการยืนยันได้บ้างไม่มากก็น้อยว่าดุลพินิจที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อนั้นน่าจะมีมาตรฐานระดับหนึ่งเพราะหลังจากสินเชื่อวงสุดท้ายที่ธนาคารปล่อยนั้น ทางเอิร์ธเองได้รับการประเมินจากองค์กรอิสระว่ามีความสามารถชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และการจัดอันดับดังกล่าวเป็นจุดอ้างอิงที่นักลงทุนตัดสินใจในการลงทุนในหุ้นกู้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสผมมีความเห็นควรมีการตรวจสอบทาง TRIS เช่นกันว่าได้ทำตามกระบวนการทุกอย่างตามมาตรฐานที่พึงกระทำแล้วหรือไม่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาว่าความเสียหายที่แท้จริงเกิดจากอะไรครับ และประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ TRIS มีการยืนยันเรทติ้งนี้ในช่วงเดียวกับที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตอนต้นเดือนมิถุนายน 2560 สังคมคงอยากได้ยินว่าหากมองย้อนกลับไป อะไรที่มองพลาดไป
ที่ผมเขียนวันนี้ทั้งหมดนั้น ประเด็นหลักๆของผมคือเรื่องที่มีความเสียหายต่อผู้คนจำนวนมากนั้นควรได้รับการตรวจสอบ และการตรวจสอบนั้นควรมีความเป็นกลาง โดยองค์กรที่เป็นกลาง และสามารถให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบโดยองค์กรที่ได้รับความเสียหาย โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นผู้ตั้งกรรมการตรวจสอบเอง หากเป็นอย่างนี้แล้วชวนให้คิดต่อว่าใครจะเป็นผู้ดูแลผู้ที่ได้รับความเสียหายอื่นๆนอกธนาคารครับ ผมขอใช้พื้นที่นี้เสนอว่าหากมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางที่มีความเป็นมืออาชีพเรื่องการตรวจสอบโดยมีผู้กำกับดูแลเป็นเจ้าภาพเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย บริษัทสอบบัญชีใหญ่ๆใน Big 4 (นอกจาก PWC ซึ่งน่าจะมี conflict of interest) มีบริการด้าน Forensic Audit น่าจะมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลางและช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงว่าความเสียหายที่แท้จริงเกิดจากอะไร เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้
การจะกล่าวโทษใครควรจะเป็นเรื่องต่อไป แต่การกล่าวโทษนั้นควรจะมีการพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อที่จะได้ทราบว่าใครทำผิดอย่างไร ไม่ใช่เป็นการจำกัดการตรวจสอบเฉพาะเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ผมอยากเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ง่ายๆครับ เอิร์ธเปรียบเสมือนแก้วน้ำใบหนึ่ง น้ำในแก้วเปรียบเสมือนสินเชื่อในรูปแบบต่างๆที่เอิร์ธได้รับ ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แก้วใบนี้มีน้ำอยู่จำนวนหนึ่ง ผมและทีมงานเติมน้ำในแก้วใบนี้เพิ่ม หลังจากนั้นมีอีกหลายคนทั้งภายในธนาคารกรุงไทยโดยสายงานอื่นและธนาคารอื่นมาเทน้ำเพิ่มในแก้วใบนี้ วันหนึ่งแก้วแตกขึ้นมา กลับมีความพยายามที่จะบอกว่าน้ำที่เติมไปกลางแก้วคือปัญหาความเสียหาย ผมจึงอยากให้มีการตรวจสอบ”เหตุผลหลัก”ที่ทำให้แก้วใบนี้แตกว่าเกิดจากอะไร
ผมขอย้ำอีกครั้งว่าวันนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ผมคิดว่าการตรวจสอบอย่างเป็นกลางและโปร่งใสเท่านั้นถึงจะนำมาสู่คำตอบที่แท้จริงให้กับสังคมได้ ซึ่งบทบาทดังกล่าวน่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้กำกับดูแลซึ่งผมหวังว่าจะดำเนินการดังกล่าวเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้คำตอบต่อผู้เสียหายทั้งหมดอย่างเป็นธรรม
ตอนต่อไปผมจะนำข้อมูลทางการเงินหลักๆของเอิร์ธมาเปรียบเทียบให้ดูครับว่าในจุดที่มีการตัดสินใจการปล่อยสินเชื่อเมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ ผลประกอบการของเอิร์ธนั้นเป็นอย่างไร และมีประเด็นอะไรน่าสนใจหรือไม่ครับ
#ขอความเป็นธรรม
#อยากให้ความจริงปรากฏ
#บทพิสูจน์จริยธรรมและธรรมาภิบาล
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ