ข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36
ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงข่าว ณ ห้องประหยัด บุรณศิริ สศช. ดังนี้
1. ที่ผ่านมาการวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย จะใช้วิธีการวัดตามมาตรฐานของธนาคารโลก โดยวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ซึ่งธนาคารโลกใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ ประมาณ 110 ประเทศ โดยดัชนี GINI มี 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) GINI ด้านรายได้ และ 2) GINI ด้านรายจ่าย โดยค่าดัชนีดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0 – 1 โดยหากค่าดัชนี GINI มีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับดีกว่าค่า GINI ที่มีค่าสูง\
ในกรณีของประเทศไทย การคำนวณค่าดัชนี GINI ทั้ง 2 ลักษณะ จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นข้อมูลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในระดับฐานรายได้ต่าง ๆ กัน จำนวนประมาณ 52,010 ครัวเรือน ซึ่งการสำรวจรายได้จะดำเนินการทุก 2 ปี ในขณะที่การสำรวจรายจ่ายจะดำเนินการทุกปี
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 พบว่า ค่า GINI ด้านรายได้ของไทย คิดเป็น 0.453 หรือร้อยละ 45.3 และค่า GINI ด้านรายจ่าย คิดเป็น 0.364 หรือร้อยละ 36.4 โดยหากเปรียบเทียบแนวโน้มของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่า GINI ด้านรายได้ลดลงจาก 0.499 ในปี 2550 เป็น 0.453 ในปี 2560 และค่า GINI ด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.398 ในปี 2550 เป็น 0.364 ในปี 2560
นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่าในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่า ในปี 2560
จากข้อมูลทั้ง 2 ส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2. การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยธนาคารโลก ใช้ค่าดัชนี GINI Index เป็นตัวชี้วัด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ประเทศไทยมีค่าดัชนี GINI Index ด้านรายจ่าย อยู่ในอันดับที่ 46 จาก 73 ประเทศ และปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558 โดยจำนวนประเทศในแต่ละปีจะไม่เท่ากันเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก ค่า GINI ของไทยอยู่ที่ 0.36 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหราชอาณาจักร มีค่า GINI อยู่ที่ 0.33 และสหรัฐอเมริกา มีค่า GINI อยู่ที่ 0.41 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
3. สำหรับกรณีการวัดความเหลื่อมล้ำของรายงาน CS Global Wealth Report 2018 นั้น เป็นการวัดการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) โดยใช้ข้อมูล Wealth Distribution ซึ่งจากรายงานดังกล่าวประเทศที่มีข้อมูล Wealth Distribution สมบูรณ์มีเพียง 35 ประเทศ และทั้ง 35 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ และจีน
โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูล Wealth Distribution ไม่มีการจัดเก็บ เนื่องจากในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องมีความชัดเจนของคำจำกัดความและข้อมูลข้อเท็จจริงของสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าในส่วนของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติ บนสมมติฐานว่าการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) มีความสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ (Income Distribution) ซึ่งการคำนวณในลักษณะดังกล่าวในรายงานระบุไว้ชัดเจนว่าการประมาณการ Wealth Distribution ของ 133 ประเทศที่นอกเหนือจาก 35 ประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นการประมาณการอย่างหยาบ (Rough Estimate) สำหรับประเทศที่มีข้อมูลการกระจายรายได้ (Income Distribution) แต่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง (Wealth Ownership) ในกรณีของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 133 ประเทศที่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่งแต่มีข้อมูลการกระจายรายได้
นอกจากนั้น การประมาณการ Wealth Distribution ของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานได้ใช้ข้อมูลในปี 2549 (2006) ในขณะที่ข้อมูลของประเทศอื่น ๆ เป็นข้อมูลของปีที่มีความแตกต่าง หลากหลายกันไป ซึ่งต่างจากชุดข้อมูลของธนาคารโลกที่ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบในช่วงปีเดียวกัน ดังนั้น การวัดการกระจายความมั่งคั่งตามที่ปรากฎในรายงานดังกล่าวอาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการวัดจากข้อมูลสำรวจจริงตามมาตรฐานของธนาคารโลกที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531
สำนักงานฯ ขอเรียนว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจากการสำรวจข้อมูลจริงและใช้วิธีการวัดที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยธนาคารโลก ประเทศไทยมิได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอย่างที่ปรากฏข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด
ในทางกลับกันสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านรายได้และรายจ่ายของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เหลื่อมล้ำไม่ใช่มีแค่ไทย อ็อกแฟม ชี้ 42 คนบนสุดศก.โลก มั่งคั่งเท่ากับ 3,700 ล้านคนรวมกัน