ดิจิทัลดราม่า : เมื่อความหรรษากลายเป็นยาพิษ
"...การที่สื่อสังคมออนไลน์ตกอยู่มือของคนบางกลุ่มบางพวกที่อาศัยช่องทางเหล่านี้ในการหาผลประโยชน์แอบแฝง รวมถึงผู้ที่ใช้งานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงเปรียบเหมือนการหยิบยื่นอาวุธให้กับคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีเพียงพอ จึงกลายเป็นพิษภัยที่กัดกร่อนความสงบสุขของมนุษย์ ลงทีละน้อยโดยที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ เพราะถูก ผลประโยชน์ ความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี และ การโฆษณาบดบังตา โดยต้องแลกกับด้านมืดของสื่อสังคมออนไลน์ที่คนจำนวนมากมักมองข้ามไป..."
แม้ว่าไทยกับอินเดียจะอยู่ห่างไกลกันถึง 3,000 กิโลเมตรและทั้งสองประเทศมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เมื่อเข้าสู่โลกของเทคโนโลยีดิจิทัลกลับกลายเป็นว่า คนไทยกับคนอินเดียมีความเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ การชอบส่งดอกไม้พร้อมข้อความทักทายกันตอนเช้า ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ในขณะที่บ้านเราใช้นิยมใช้ LINE เพื่อส่งข้อความ และส่งภาพดอกไม้ทักทายกันในตอนเช้า รวมทั้งส่งข้อมูลอื่นๆ เช่น สุขภาพ ตำรายา คนหาย บอกบุญ วันนี้วันพระ เลขเด็ดประจำงวด ฯลฯ แต่คนอินเดียนิยมใช้ WhatsApp ในการส่ง รูปดอกไม้ รูปเด็กน่ารัก รูปนกและรูปดวงอาทิตย์ พร้อมข้อความทักทายหรือคำคมเก๋ๆระหว่างผู้ที่ใช้ WhatsApp ด้วยกัน ราว 200 ล้านคน แม้แต่นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดิ ผู้ที่ชอบตื่นเช้าเพื่อฝึกโยคะ ก็เป็นหนึ่งในผู้นิยมชมชอบการส่งข้อความสวัสดีตอนเช้าทักทายคนรู้จักและทีมงานเมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้นเป็นกิจวัตรด้วยเช่นกัน
มีรายงานจาก WhatsApp ว่าเฉพาะช่วงปีใหม่มีการส่งข้อความ สวัสดีปีใหม่ ของคนอินเดียมากถึง 20,000 ล้านข้อความ ผ่าน WhatsApp ซึ่งมากกว่าประเทศใดๆในโลก
ปรากฏการณ์การส่งภาพและข้อความสวัสดีตอนเช้าจึงถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เหมือนใครของคนไทยและคนอินเดียที่สามารถเก็บเกี่ยวความหรรษาจากสื่อสังคมออนไลน์โดยที่ผู้พัฒนาสื่อสังคมออนไลน์เองก็คาดไม่ถึงว่าจะมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ลักษณะนี้เกิดขึ้น พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งคล้ายกันของคนทั้งสองประเทศจึงเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะนอกจากพฤติกรรมที่แสดงออกในลักษณะเดียวกันแล้ว ตัวของสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Whatapp และ Line นั้น น่าจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ตรงใจคนทั้งสองชาติอีกด้วย
วิศวกรจาก Google พบว่า การที่โทรศัพท์มือถือของคนในหลายประเทศมักหยุดทำงานหรือทำงานช้าในช่วงที่ตรงกับเวลาเช้าที่อินเดียนั้น เป็นผลมาจากการที่คนอินเดียนับล้านๆคนส่งข้อความสวัสดีตอนเช้าพร้อมรูปภาพ ทำให้แบนวิธ จำนวนมหาศาล ถูกใช้งานในช่วงเวลานั้นซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้างและยังพบว่าในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การค้นหารูปภาพ สวัสดีตอนเช้า(Good morning images) และการดาวโหลดภาพพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่า ทำให้จำนวนพื้นที่หน่วยความจำของโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้โทรศัพท์ในอินเดีย 1 ใน 3 คน ไม่เพียงพอเพราะเก็บรูปไว้สำหรับเพื่อส่งสวัสดีตอนเช้าไว้มากเกินไปนั่นเอง พฤติกรรมดังกล่าวไม่ต่างจากคนไทยที่มักเก็บภาพและข้อความจำนวนมากไว้ในโทรศัพท์เตรียมไว้เพื่อส่งทักทายกันในวันรุ่งขึ้น
คนอินเดียจำนวนไม่น้อยรวมทั้งคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ชอบรับภาพหรือข้อความเหล่านี้เพราะเห็นว่าเป็นการรบกวนและต้องการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการติดต่อเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้นแต่ไม่กล้าพูดออกไปเพราะเกรงจะเสียไมตรีกับเพื่อน ในขณะที่ผู้ส่งมักจะไม่ชอบใจหากผู้รับไม่ได้อ่านหรือตอบข้อความที่ตัวเองส่งไป บางคนเมื่อส่งคำทักทายสวัสดีไปแล้วหากไม่มีการตอบกลับยังมีการโทรมาสอบถามว่าได้รับข้อความหรือไม่ ก็ยังมี
การที่โทรศัพท์มือถือมีราคาถูกรวมทั้งโปรโมชั่นที่จูงใจเหมือนได้ของฟรี จึงทำให้โทรศัพท์มือถือซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของหรูหรา ราคาแพง กลายเป็นสิ่งที่คนในโลกทุกคนสามารถจับต้องและเป็นเจ้าของได้โดยง่าย ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรืออยู่มุมไหนของโลกก็ตาม นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์ที่พ่วงมากับอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เป็นเหมือน การมอบอำนาจให้คนกลุ่มใหญ่ได้แสดงออกถึง ความรู้สึก ความชอบ ความไม่ชอบของตัวเองให้โลกได้รับรู้และทำให้รู้จักกับใครต่อใครในโลกได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีรวมทั้งให้โอกาสในการทำมาหากินกับคนทุกคน
สื่อสังคมออนไลน์ยังทำให้มนุษย์ได้ลิ้มรสของความเป็นอิสสระและกลายเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความอัดอั้นของมนุษย์ที่เคยถูกจำกัดด้วยช่องทางการสื่อสาร สื่อประเภทนี้จึงกลายเป็นของวิเศษที่คนจำนวนมากขาดไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครไม่มีโทรศัพท์มือถือที่พ่วงมากับ Facebook WhatsApp Line หรือ สื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมกัน ก็อาจกลายเป็นคนล้าหลังในสายตาของคนบางคนในทันที
ในทางกลับกันพวกมิจฉาชีพมักยกระดับการทำมาหากินของตัวเองด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการหลอกลวง ปล่อยข่าว ปลอมภาพ บิดเบือนข้อมูล ฯลฯ เพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเองหรือพวกพ้อง การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์จึงมีทั้งประโยชน์และความเป็นพิษแฝงอยู่ในอักษรทุกตัว หากมีการนำไปใช้ในทางที่บิดเบือนหรือปลุกระดม อาจลุกลามจนก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อสังคมได้
หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าตกใจอันเกิดจากการเสพสื่อสังคมออนไลน์อย่างไร้สติ เกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้สื่อ WhatsApp ในประเทศอินเดียส่งต่อข่าวลือจนทำให้ชายสองคนต้องถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตในรัฐอัสสัม เพราะมีข่าวลือว่าผู้ชายสองคนนี้คือแก๊งลักพาตัวเด็ก ในที่สุดตำรวจได้จับกุมผู้ร่วมประชาทัณฑ์อย่างน้อยที่สุด 16 คน พร้อมทั้งจับกุมผู้แพร่ข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์อีกจำนวนหนึ่ง
มิใช่เหตุการณ์ในรัฐอัสสัมเท่านั้นที่สื่อสังคมออนไลน์มีส่วนแพร่กระจายข่าวลือจนนำไปสู่เรื่องเศร้าดังกล่าว ในช่วงเดือน เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2018 มีข่าวการรุมประชาทัณฑ์จากการแพร่ข่าวลือผ่าน WhatsApp ในรัฐต่างๆของอินเดียมากถึง 39 กรณีด้วยกัน รวมทั้งยังมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ผิด เช่น การใช้รูปเด็กเพื่อการอนาจาร การสร้างความรุนแรงอื่นๆ จนทำให้รัฐบาลอินเดียถึงกับต้องคิดถึงทางเลือกในการบล็อกแอปพลิเคชันยอดนิยม รวมไปถึง Facebook WhatsApp และ Instagram ด้วย สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นทั้งเทคโนโลยีที่สร้างความหรรษาและสามารถนำพาไปสู่เรื่องเศร้าได้ในเวลาเดียวกัน
แม้ว่า WhatsApp เองจะพยายามลดปัญหาการแพร่ข่าวลือด้วยการเพิ่มเครื่องหมายแสดงว่าข้อความที่ได้รับนั้นเป็นข้อความที่เกิดจากการส่งต่อ รวมทั้งออกประกาศเพื่อแสดงให้เห็นถึงพิษภัยของการแพร่ข่าวลือ แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าคนหมู่มากที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะเข้าใจและปฏิบัติตามถ้าข่าวที่ได้รับนั้นกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของคนในขณะรับข่าวสารจนขาดสติและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
ไม่เฉพาะประเทศอินเดียเท่านั้นที่พบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์แพร่ข่าวลือ ประเทศเม็กซิโกก็เคยเผชิญเหตุการณ์โหดร้ายทารุณคล้ายกัน เมื่อชายสองคนถูกเผาทั้งเป็น เพราะมีข่าวลือผ่าน WhatsApp ว่าทั้งคู่คือพวกลักพาตัวเด็ก ทั้งๆที่เป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้ประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีผู้นิยมใช้สื่อ WhatsApp เป็นจำนวนมากก็พบปัญหาว่า WhatsApp กลายเป็นแหล่งของข่าวลวงและการโกหกกันบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกันแต่ยังไม่พบการแพร่ข่าวลือที่นำไปสู่การทำร้ายกันจนถึงชีวิตและยังไม่พบข่าวการทำร้ายกันจนถึงตายจากข่าวลือใน สเปนและอีตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมใช้ WhatsApp เหมือนกัน แม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่าพันล้านคนและนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์คล้ายกัน เช่น WeChat QQ ฯลฯ ก็ยังไม่พบกรณีข่าวลือที่นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นรุมประชาทัณฑ์จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย
การที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางอย่างแทบไร้ขีดจำกัดนั้นทำให้สื่อสังคมออนไลน์ ตกอยู่ในมือคนขาดการศึกษา ผู้ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ และมิจฉาชีพ จึงอาจมองได้ว่าการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์คือการได้รับอนุญาตให้ใครต่อใครสามารถสร้าง ความวุ่นวายในสังคมได้ ถ้าคนเหล่านั้นขาดภูมิคุ้มกันจากการใช้เทคโนโลยีที่เข้มแข็งเพียงพอ
สำหรับประเทศไทยนั้นนอกจากปรากฏการณ์ทางลบที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น การโกงแชร์ การหลอกลวงเด็กชายเพื่อการทำอนาจาร การค้าประเวณี การท้าทายกัน การโพสรูปโป๊ ยาปลอม และสาดโคลนการเมือง ฯลฯ ที่เป็นข่าวประจำวันแล้ว ยังไม่พบการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระจายข่าวลือจนนำไปเกิดการรุมประชาทัณฑ์หรือการฆ่าแกงกันในสังคมไทย เว้นแต่ในระหว่างสถานการณ์ที่อ่อนไหว เช่น การชุมนุมทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมีการนัดหมายกันไป ชุมนุม ปิดกั้น ทำลาย และเลยเถิดไปจนถึงการทำร้ายผู้คน เป็นต้น
ปรากฏการณ์ในทางลบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รวมทั้งการตอบโต้ต่อพฤติกรรมดังกล่าวจึงมักถูกเรียกว่า ดิจิทัล ดราม่า ( Digital Drama ) ซึ่งรวมถึง การเผยแพร่ภาพเพื่อการอนาจาร การกลั่นแกล้ง ความกลัวถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่ม การดูหมิ่นเหยียดหยาม พฤติกรรมสิบแปดมงกุฎ การป่วนสื่อ รวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เริ่มต้นจากสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
นักการศึกษาด้านเด็กและวัยรุ่นมักให้คำจำกัดความ คำว่า ดิจิทัล ดราม่า ไว้เพียงแค่การทะเลาะหรือถกเถียงกันเล็กๆน้อยๆระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จักบนโลกออนไลน์เป็นครั้งคราวและแยกเรื่องการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (Cyber bullying) เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเห็นว่าการรับมือกับ ดิจิทัล ดราม่า และ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ของเด็กและวัยรุ่น ต้องใช้วิธีที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามคำว่า ดิจิทัล ดราม่า กับ การกลั่นแกล้ง มักถูกนำไปใช้ในแง่มุมที่ใกล้เคียงกันในบางสถานการณ์ นักการศึกษาด้านสื่อสังคมออนไลน์บางกลุ่มจึงมักเรียกเหตุการณ์ ทางลบ การตอบโต้ รวมทั้งการกลั่นแกล้งกันบนสื่อสังคมออนไลน์รวมกันไปว่า “ ดิจิทัล ดราม่า” และ เมื่อใดก็ตามที่ ดิจิทัล ดราม่า บนสื่อสังคมออนไลน์ขยายขอบเขตออกไปจนกระทบต่อชีวิตจริงย่อมทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคมได้ดังตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น
ปรากฏการณ์ของ ดิจิทัล ดราม่า จึงไม่ต่างจากปัญหาทางสังคมรูปแบบอื่นๆที่มนุษย์เผชิญตลอดมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย และความเป็นพิษของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้คือต้นเหตุอาการป่วยของสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งต้องการมาตรการการป้องกันและการเยียวยาที่เข้มข้นมากกว่าเดิม ตราบเท่าที่มนุษย์ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการติดต่อสื่อสาร เพิ่มขึ้นทุกนาที
นอกจากพิษภัยที่ว่าแล้วเรายังต้อง สละเวลา ละความสนใจจากสิ่งอื่น รวมทั้งต้องควักกระเป๋าเพื่อเสพสื่อสังคมออนไลน์ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญคือเราสละข้อมูลส่วนตัวของเราให้กับผู้ผลิตสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย ความเพลิดเพลินและผลประโยชน์ ที่เทคโนโลยีเหล่านี้มอบให้
การที่ผู้คนถูกจูงใจให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งแบบแจกและแถม จึงทำให้คนจำนวนมากเสพเทคโนโลยีโดยที่ยังไม่มีความพร้อมต่อการรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่มากับเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งหมายความว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนจำนวนมากยังอยู่ในสภาพไร้กันชนและไร้ทิศทาง ผู้คนในบางประเทศจึงอยู่ในสภาวะขาดภูมิคุ้มกันต่อการใช้เทคโนโลยี ในขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศกลับไม่มีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นทั้งๆที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ประเภทเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าผู้ใช้เทคโนโลยีในประเทศที่ไม่เกิดปัญหามีความเข้าใจต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์ จึงสามารถรับมือกับด้านลบของสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรู้เท่าทัน
เหตุการณ์ทางลบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้น ต่างที่ ต่างเวลาด้วยการใช้เทคโนโลยีชนิดเดียวกัน จึงน่าจะบ่งถึงนัยสำคัญได้ว่าตัวของสื่อสังคมออนไลน์อาจไม่ได้เป็นต้นเหตุในการสร้างปัญหาโดยตรง แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและการให้การศึกษาแก่ผู้คนของประเทศนั้นๆต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่ยังก้าวไม่ทันต่อการแพร่กระจายของเทคโนโลยี จนเกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ออกนอกขอบเขตของสื่อสังคมออนไลน์ไปสู่ความรุนแรงในชีวิตจริง
ดังนั้น การที่สื่อสังคมออนไลน์ตกอยู่มือของคนบางกลุ่มบางพวกที่อาศัยช่องทางเหล่านี้ในการหาผลประโยชน์แอบแฝง รวมถึงผู้ที่ใช้งานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงเปรียบเหมือนการหยิบยื่นอาวุธให้กับคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีเพียงพอ จึงกลายเป็นพิษภัยที่กัดกร่อนความสงบสุขของมนุษย์ ลงทีละน้อยโดยที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ เพราะถูก ผลประโยชน์ ความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยี และ การโฆษณาบดบังตา โดยต้องแลกกับด้านมืดของสื่อสังคมออนไลน์ที่คนจำนวนมากมักมองข้ามไป
อ่านประกอบ : คู่มือมนุษย์ ตอน “อยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัล”
หมายเหตุ : ภาพประกอบ https://www.bbc.com/news/world-latin-america-46145986