- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'
ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'
"...ปานามา เปเปอร์ส อาจเปิดโปงรายชื่อและพฤติกรรมบุคคลผู้มีอำนาจและอิทธิพลให้โลกได้เห็น แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น มันตีแผ่ข้อเท็จจริงสำคัญสองประการ ประการแรก คือ ความน่ากลัวของกลไกทุนนิยม ที่มีความกว้างขวางมีประสิทธิภาพ และก้าวข้ามพรมแดนจนอาจมีอิทธิพลเหนือรัฐไปแล้ว.."
ข่าวดีมาเยือนในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นวาระครบรอบหนึ่งปีของการรายงานข่าวระดับโลก ปานามา เปเปอร์ส พอดิบพอดี เมื่อคณะผู้ตัดสินรางวัลพูลิตเซอร์ของสหรัฐอเมริกา ประกาศให้ ปานามา เปเปอร์ส ชนะรางวัลสาขาการรายงานข่าวแบบอรรธถาธิบาย (Explanatory Reporting)
โดยผู้ได้รับรางวัล คือ เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists) หรือ ICIJ ตัวตั้งตัวตีใหญ่ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ McClatchy กับ the Miami Herald ที่ร่วมขุดคุ้ยข้อมูลในสหรัฐอเมริกา
แม้พูลิตเซอร์จะเป็นรางวัลที่ให้กับสื่ออเมริกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ปานามา เปเปอร์ คือ ผลงานข่าวข้ามพรมแดนขององค์กรสื่อใหญ่น้อยกว่า 100 องค์กรทั่วโลก ที่พลอยกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจไปกับรางวัลนี้ด้วย
โดยหนึ่งในนั้นคือ สำนักข่าวอิศรา ซึ่งเป็นสื่อไทยเพียงหนึ่งเดียวที่กระโดดเข้าร่วมงานและสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลปานามา เปเปอร์ส ได้โดยตรง
ปานามา เปเปอร์ส ถือกำเนิดขึ้นในคืนหนึ่งของต้นปี 2558 ที่จู่ ๆ นักข่าวหนังสือพิมพ์เยอรมัน Süddeutsche Zeitung ผู้หนึ่ง ก็ได้รับข้อความจากบุคคลลึกลับผู้ใช้นามว่า จอห์น โด ถามเขาสั้น ๆ ว่า สนใจอยากได้ "ข้อมูล" ไหม เขายินดีจะส่งให้
ข้อมูลนี้ คือ ฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายสัญชาติปานามาชื่อ มอสแซก ฟอนเซก้า (Mossack Fonseka) หนึ่งในสี่ของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขต อันเป็นชื่อเรียกบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนก่อตั้งในพื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษให้สิทธิพิเศษหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการปกปิดข้อมูลและเว้นภาษี การถือครองบริษัทนอกอาณาเขตแม้จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่หากผู้ถือครองมีเจตนาไม่ชอบมาพากลแล้ว ก็สามารถใช้มันเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการปกปิดทรัพย์สิน เลี่ยงภาษี รวมทั้งหลบซ่อนธุรกรรมทางการเงินของตน แลกกับด้วยค่าบริการที่ไม่มากมายอะไร
ฐานข้อมูลปานามา เปเปอร์ส มีรายละเอียดที่น่าตกใจหลายอย่าง เช่น อีเมล์สื่อสารระหว่างพนักงานของมอสแซค ฟอนเซก้า ทุกสาขากับลูกค้าทั่วโลก อีเมล์ติดต่อภายในที่มีเนื้อหาล้วงลึกถึงลูกค้าบางรายและบางครั้งพาดพิงวิพากษ์วิจารณ์ระบบของบางประเทศ ข้อมูลส่วนตัวลูกค้าบางรายที่รวมถึงบ้านเลขที่ สำเนาพาสปอร์ต และเอกสารพร้อมลายเซ็นต์ สิริรวมแล้วนับเป็นชิ้นเอกสารรูปแบบต่าง ๆนับได้ประมาณ 11.5 ล้านชิ้น
หนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung ตระหนักดีว่าข้อมูลมหาศาลนี้มันเกินของเขตที่ตนเองจะจัดการได้ เรื่องจึงถึงมือ ICIJ ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ไม่หวังผลกำไร มีสมาชิกเป็นนักข่าวทั่วโลก และมีประสบการณ์ประสานงานนักข่าวนานาชาติขุดคุ้ยเรื่องบริษัทนอกอาณาเขตมาก่อนหน้านี้แล้ว
ICIJ เริ่มสารทาบทามนักข่าวในเครือข่ายมาร่วมโครงการ พร้อมกันนั้นก็จัดการกับโจทก์ใหญ่ คือ การจัดระเบียบข้อมูลทั้งหมดลงบนฐานข้อมูลเพื่อให้นักข่าวเข้าถึงอย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งสร้างระบบรักษาความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแฮกเกอร์มือฉมังทั้งหลาย รวมทั้งพวกที่อยู่หน่วยงานด้านเทคโนโลยีของบางรัฐบาล เช่น องค์กรอย่าง NSA ของสหรัฐฯ
เรื่องยากอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรถึงจะโน้มน้าวให้นักข่าวกว่า 300 คน จากองค์กรสื่อกว่า 100 แห่งทั่วโลก ให้ตกลงปลงใจเก็บความลับอย่างเคร่งครัด แล้วเพื่อรอเผยแพร่ข่าวพร้อมกันหนึ่งปีนับจากนั้นโดยไม่มีใครแหกคอกเสนอข่าวตัดหน้าชาวบ้านไปก่อน คนที่เป็นนักข่าวย่อมทราบกันดีว่าการบอกให้นักข่าวไม่ซุบซิบและไม่แข่งขันนั้น เป็นการฝืนธรรมชาติของวิชาชีพประหนึ่งห้ามปลาไม่ให้ว่ายน้ำ ห้ามนกไม่ให้บิน
แต่ ICIJ และสมาชิกก็ทำได้ และนี่คือ จุดเริ่มต้นของโครงการร่วมมือในการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนระดับนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนโลก ที่มีชื่อเรียกกันภายในว่า “โปรเจค โพรเมเธอุส” อันเป็นชื่อของยักษ์ในเทพปกรณัมของกรีกผู้สละตนเองขึ้นไปขโมยไฟในสรวงสวรรค์แล้วนำมาคืนแก่โลกมนุษย์
ไม่นานฐานข้อมูลที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ซับซ้อนก็พร้อมให้นักข่าวเข้าค้นข้อมูลประเทศตน นอกจากนั้น ยังผู้ร่วมทีมได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารข้ามประเทศผ่านเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัดเช่นเดียวกัน ในระยะเวลากว่าหนึ่งปีของการทำงาน ICIJ คอยปรับเปลี่ยนระบบรักษาความปลอดภัยทุกครั้งที่สงสัยว่าจะมีความเสี่ยง นักข่าวในทีมงานก็ต้องคอยปรับตัวตามเทคโนโลยีทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลง
ในขณะที่ ICIJ มึนอยู่กับการจัดการและเทคโนโลยี นักข่าวก็เริ่มเมากับการขุดค้นและต่อจิ๊กซอว์ข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเฉลี่ยแล้วนักข่าวแต่ละประเทศต้องจัดการกับข้อมูลหลักพันชิ้น ตัวอย่างเช่นประเทศไทยเพียงประเทศเดียวมีชิ้นข้อมูลทั้งหมดกว่า 9,000 ชิ้น ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่อยู่ในประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มาเป็นเรื่องเป็นราวม้วนเดียวจบหรือเรียบเรียงกันมาเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มาเป็นส่วน ๆ ในลักษณะเช่นอีเมล์โต้ตอบ สำเนาเอกสาสำคัญ หรือข้อมูลตัวเลขที่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับเอกสารชิ้นอื่นเพื่อปะติดปะต่อแล้วตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะสัมภาษณ์และหาข้อมูลอื่น ๆมายืนยัน
สื่อ 100 องค์กรทั่วโลกรายงานข่าวพร้อมกันในวันที่ 3 เมษายน 2559 ปานามา เปเปปอร์ส ดังตูมตามเหมือนระเบิดลงตั้งแต่วันแรกและลากยาวไปเป็นเดือนกว่าความตื่นเต้นจะซาลง สรุปแล้วมีการตีแผ่นักการเมืองกว่า 140 รายในกว่า 50 ประเทศ รวมทั้งจีนและรัสเซีย คนดังและมหาเศรษฐีจำนวนมากปรากฏหน้าตาในฐานข้อมูล นายกรัฐมนตรีไอซแลนด์ถูกบังคับให้ลาออก เช่นเดียวกับรัฐมนตรีเสปนรายหนึ่ง นาย Jürgen Mossack และนาย Ramón Fonseca ผู้ก่อตั้ง มอสแซก ฟอนเซก้า ลงเอยด้วยการถูกจำคุกในคดีฟอกเงิน
ในขณะที่ชื่อนักการเมืองและเครือญาติในยุโรปและประเทศใหญ่แบบจีน ปรากฏในฐานข้อมูล ประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กลับพบรูปแบบที่เฉพาะตัวที่น่าสนใจคล้าย ๆ กัน คือ รายชื่อของนักธุรกิจและนักธุรกิจการเมืองระดับใหญ่ รวมทั้งเครือญาติโดยเฉพาะรุ่นลูก กลายเป็น กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่ค้นพบ สิ่งนี้จะหมายความว่าอย่างไรคงจะต้องช่วยกันตีความ
ปานามา เปเปอร์ส อาจเปิดโปงรายชื่อและพฤติกรรมบุคคลผู้มีอำนาจและอิทธิพลให้โลกได้เห็น แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น มันตีแผ่ข้อเท็จจริงสำคัญสองประการ ประการแรก คือ ความน่ากลัวของกลไกทุนนิยม ที่มีความกว้างขวางมีประสิทธิภาพ และก้าวข้ามพรมแดนจนอาจมีอิทธิพลเหนือรัฐไปแล้ว
ประการที่สอง คือ ความเปลี่ยนแปลงของงานข่าวในยุค “Big Data” ที่ เทคโนโลยีสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญในขนาดที่ใหญ่มหาศาลไว้ในที่เดียวกัน วิธีคิดเรื่องข่าวสืบสวนสอบสวนแบบ “ข่าวเอ็กซ์คลูสีฟ” หรือ “ข่าวเดี่ยว” อาจยังใช้ได้อยู่ แต่มันไม่พอ หากวันหนึ่งนักข่าวต้องเดินไปชนกับ Big Data อย่างไม่คาดฝัน นักข่าวและองค์กรสื่อรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะทั้งด้านเทคโนโลยีและการตีความข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวที่มีความหมาย ไม่เช่นนั้นข้อมูลสำคัญก็ไม่ผิดอะไรกับขยะธรรมดา ๆนั่นเอง
ณ เวลานี้ บรรดาแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์จะออกนามมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาเต็มใจจะปล่อย Big Data ถึงมือสื่อที่มีคุณภาพอย่างไม่มีเงื่อนไข ในอนาคตอันใกล้อาจมีข้อมูลสำคัญส่งถึงมือสื่ออีกครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง.. ใครจะไปรู้
อ่านประกอบ :
เบ็ดเสร็จ 214,000 บริษัท! 'ICIJ' เปิดหมดแล้วฐานข้อมูล 'ปานามา เปเปอร์ส'
เปิดชื่อ'กลุ่มนักธุรกิจค้าข้าว' คดีระบายจีทูจี ในฐานข้อมูล ‘ปานามาเปเปอร์'
‘ปานามาเปเปอร์' ล่าสุด! 'ทายาทเบียร์สิงห์ -ภรรยา' ตั้งบ.เกาะบริติชเวอร์จิ้นปี 48
'พิรุณ ชินวัตร' หลานชายทักษิณ โผล่ชื่อใน ‘ปานามา เปเปอร์ ‘
ข้อมูลล่าสุดปานามา เปเปอร์ส! พี่น้อง 'อัศวโภคิน' ตั้ง 2 บ.ที่บริติช เวอร์จิ้น
โดนแล้ว! ตร.-อัยการบุกค้น สนง.กฎหมาย ปานามาเปเปอร์ส
ป.ป.ช.เจอแล้ว! ชื่อนักการเมืองพันปมปานามาลีก-รอข้อมูล ปปง.เสริม
พบตระกูลจิราธิวัฒน์ 7 คน ตั้ง 8 บริษัท ฐานข้อมูลปานามาลีก
อเมริกาถก รบ.ทั่วโลกปมปานามาลีก! ทูตชี้เป็นความร้ายแรงเรื่องเลี่ยงภาษี
เช็คข้อมูล ICIJ พบคนไทยใช้ที่อยู่ 14 จว.จดทะเบียนบริษัท ตปท.-ปปง.ลุยสอบ
ไข 11 ข้อกังขา ‘ปานามา เปเปอร์ส ‘กับลูกค้า 21 รายในประเทศไทย
เจาะ 5 บริษัทเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ-วรรณา” ในฐานข้อมูลปานามาลีก
พบชื่อ 'เจริญ-วรรณา' สิริวัฒนภักดี-พี่น้อง 'จิราธิวัฒน์' ในฐานข้อมูลปานามาลีก
'ICIJ' เผยเอกสาร 'ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทยติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้น