- Home
- Investigative
- จัดซื้อจัดจ้าง
- พบ ทอท.จ้างแดนไทยฯซ่อมบำรุงเครื่องตรวจรันเวย์49 ล. หลังขายให้เมื่อ 8 ปีก่อน 668 ล.
พบ ทอท.จ้างแดนไทยฯซ่อมบำรุงเครื่องตรวจรันเวย์49 ล. หลังขายให้เมื่อ 8 ปีก่อน 668 ล.
"... สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ทอท. ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานโครงการนี้ ไว้ในวงเงิน 51,000,000 บาท กำหนดราคากลางอยู่ที่ 46,500,000 บาท (ไม่รวมVAT) โดยสืบราคาจาก บริษัท แดนไทย- อีควิปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่งในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว .."
บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยตรวจสอบพบว่า ปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในนิติบุคคลร่วมการงาน ประกอบด้วย บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทเรืองณรงค์ จำกัด ที่ได้รับงานว่าจ้างจากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในโครงการก่อสร้างอาคาร ปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 งาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,872,500,000 บาท ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา
ขณะที่ในการประมูลงานจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และสายพานลำเลียง โครงการใหม่ วงเงินกว่า 2.8 พันล้านบาท ซึ่งถูกร้องเรียนจากนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่อง CTX ในประเทศไทย ว่า มีลักษณะกีดกันเครื่อง CTX ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล และมีการล็อกสเปคให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้ได้รับงานไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และการนำงานเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไปผูกติดไว้กับงานสายพานลำเลี่ยงด้วย ถ้าบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตัดสินใจจับมือกันเข้าร่วมมาประมูลงานอีกครั้ง อาจจะได้รับงานนี้ เพราะเป็นบริษัทที่มีความรู้มีประสบการณ์มีความสามารถ มีเครื่องมือที่มีคุณภาพ คุณสมบัติเพียบพร้อมมากที่สุด (อ่านประกอบ : เปิดสัมพันธ์ลึกหมื่นล.'แดนไทย-เคพีไอ-เอ็ม.ไอ.ที.'ขาใหญ่ทอท.ตัวจริง?-ก่อนกรณีเสี่ยเชVSนิตินัย, ถึงคิว!เปิดข้อมูลทอท.ซื้อเครื่องตรวจระเบิดL3-โลกกลมกลุ่มเดียวบ.ผูกเช่าบอดี้สแกน1.3 พันล., เอ็กซ์คลูซีฟ:คำต่อคำ'เสี่ยเช'จับพิรุธ'ทอท.'ซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.โปร่งใสจริงหรือ?, ไขข้อมูล 'นิตินัยVS.เสี่ยเช' ใครจริง-ลวง?ข้อกล่าวหาล็อกสเปคซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล. , 'เสี่ยเช'โวยทีโออาร์ใหม่ล็อกสเปคชัด! ตัดขาดCTXเปิดช่องรวมหัวขายพ่วงสายพานฯ2.8พันล., เปิดจม.ลับเสี่ยเชประท้วงทอท.ล็อกสเปคซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.?ไฉนสำคัญกว่าคดีหวย30ล.)
เพิ่งปรากฎชื่อได้รับการคัดเลือกโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จาก ทอท. ให้เป็นคู่สัญญา จ้างซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่ง (FOD Detection System) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินกว่า 49 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2554 ทอท.ได้ว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ พร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดีดังกล่าว ในวงเงิน 668.75 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2561 ทอท.ได้เผยแพร่ประกาศรายชื่อ ผู้ชนะการเสนอราคาจ้างซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่ง (FOD Detection System) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ระบุุชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก คือ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 49,755,000 บาท (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่งค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง) (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ทอท. ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานโครงการนี้ ไว้ในวงเงิน 51,000,000 บาท กำหนดราคากลางอยู่ที่ 46,500,000 บาท (ไม่รวมVAT) โดยสืบราคาจาก บริษัท แดนไทย- อีควิปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่งในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว (ดูเอกสารหลักฐานประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2554 ไทยรัฐออนไลน์ เคยรายงานข่าวว่า ทอท. ได้ว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ พร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ในวงเงิน 668.75 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 330 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2554 -22 ก.พ.2555 โดยที่มาของโครงการนี้ มีจุดเริ่มต้น หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมทางการบินของสนามบินชาร์ลเดอโกลในกรุงปารีส ประเทศเทศฝรั่งเศส จึงทำให้ ทอท.ต้องจัดทำโครงการนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอุบัติเหตุของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้น
โดยระบบดังกล่าว จะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบด้วย 1.การติดตั้ง SurFace Detection Unit (SDU) ประกอบด้วย กล้อง และเรดาร์ ที่ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ เพื่อใช้ในการตรวจจับเอฟโอดี ความเร็วสูง โดยจะติดตั้งทั้งหมด 215 ตัว บนทางวิ่งฝั่งตะวันออก 132 ตัว และบนทางวิ่งฝั่งตะวันตก 119 ตัว 2.การติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เวิร์กสเตชั่น จำนวน 4 เครื่อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและควบคุมการตรวจจับเอฟโอดี ของอุปกรณ์ดังกล่าวบนทางวิ่งทั้ง 2 เส้น 3.การติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย หรือ เซิร์ฟเวอร์ สำหรับการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในระบบทั้งหมด จำนวน 1 ชุด และ 4.การติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์ทุกตัวของระบบตรวจจับเอฟโอดีเข้าด้วยกัน โดยจะติดตั้งเน็ตเวิร์กสวิตซ์ ทั้งสิ้น 4 ตัว
ขณะที่ ระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดีที่นำมาติดตั้ง ถือเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีปะสิทธิภาพสูง ทำงานโดยใช้เซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดสูงมาก และสามารถตรวจจับในช่วงเวลากลางคืน หรือในสภาวะที่มีหมอกจัดได้อีกด้วย โดยระบบดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ของเอฟเอเอ (Federal Aviation Administration : FAA) ซึ่งขณะนี้ได้ใช้งานในท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลกต่างๆ อาทิ สนามบินนานาชาติเบน กูเรียน อิสราเอล สนามบินนานาชาติบอสตัน โลแกน สหรัฐฯ และสนามบินนานาชาติชาร์ลสเดอโกลล์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จาก https://www.thairath.co.th/content/192429)
ทั้งนี้ ปัจจุบันระยะเวลาผ่านมาแล้วประมาณ 8 ปี ทอท. ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นคู่สัญญา จ้างซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่ง (FOD Detection System) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีกครั้ง ในวงเงินกว่า 49 ล้านบาท
พร้อมระบุว่าเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายระบบตรวจจับวัสดุแปลกปลอมบนทางวิ่งในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว