- Home
- Isranews
- ถึงคิว!เปิดข้อมูลทอท.ซื้อเครื่องตรวจระเบิดL3-โลกกลมกลุ่มเดียวบ.ผูกเช่าบอดี้สแกน1.3 พันล.
ถึงคิว!เปิดข้อมูลทอท.ซื้อเครื่องตรวจระเบิดL3-โลกกลมกลุ่มเดียวบ.ผูกเช่าบอดี้สแกน1.3 พันล.
"...สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2555 คณะกรรมการ ทอท. ได้อนุมัติให้ว่าจ้างนิติบุคคลร่วมการงาน ประกอบด้วย บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทเรืองณรงค์ จำกัด เข้าก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 งาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,872,500,000 บาท ตรงตามข้อมูลที่นายวรพจน์ระบุ..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นของ นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่อง CTX ในประเทศไทย ที่ออกมาประท้วงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง และจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร รวมวงเงิน 2,880,500,000 บาท ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังคำวิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2561 -14 มี.ค.2561 นี้ ว่า มีลักษณะการกีดกันไม่ให้เครื่อง CTX เข้าร่วม การจัดทำร่างทีโออาร์มีลักษณะการล็อกสเปค ให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้ได้รับงานไว้ล่วงหน้าแล้ว มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
โดยในการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า การกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคาประมูลงานโครงการนี้ ต้องเป็นธรรมกับเอกชนทุกฝ่าย ไม่มีปัญหาล็อกสเปคเครืองมือเนื้องานไว้ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้รับงานไป เป้าหมายการประมูลต้องทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ
มิได้นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อเข้าข้างสินค้าของเอกชนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งให้เป็นผู้ได้รับงาน โดยเฉพาะเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX ที่อดีตเคยถูกตรวจสอบปัญหาเรื่องการจ่ายเงินสินบน จากหน่วยงานรัฐ ทั้งในส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่จัดตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหาร ปี 2549 รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปัจจุบัน
เพราะผู้ที่จะพิจารณาว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดยี่ห้อใด มีคุณสมบัติเหมาะสมได้รับการคัดเลือกนำมาใช้งานในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นหน้าที่ของ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยตรง (อ่านประกอบ :เอ็กซ์คลูซีฟ:คำต่อคำ'เสี่ยเช'จับพิรุธ'ทอท.'ซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.โปร่งใสจริงหรือ?)
อย่างไรก็ดี ผลจากการติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเรื่องนี้มานำเสนอสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักข่าวอิศรา พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ หลายประการดังนี้
หนึ่ง ภายใต้ร่างทีโออาร์โครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง และจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร รวมวงเงิน 2,880,500,000 บาท ที่อยู่ระหว่างรับฟังคำวิจารณ์อยู่ในขณะนี้
นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ระบุว่า การกำหนดเงื่อนไขให้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด อยู่ที่ระดับความเร็วสายพาน 0.5 เมตร/วินาที ซึ่งผู้จำหน่ายต้องได้รับการรับรองจาก TSA (หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Transportation Security Administration: TSA) และ การอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) (กรมการบินพลเรือนของประเทศในกลุ่มยุโรป The European Civil Aviation Conference: ECAC) ดังกล่าว ถือเป็นการกีดกันทำให้เครื่อง CTX ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้
ขณะที่การนำงานเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดไปผูกรวมกับระบบสายพาน อาจจะเป็นล็อกสเปคให้บริษัทเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง?
"การนำสายพานระดับความเร็วมาผูกติดกับงานจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีในกลุ่มผู้ประกอบการว่า ใครเป็นบริษัทเจ้าใหญ่ในไทยที่เข้าไปรับงานสายพานลำเลียงกระเป๋าในทอท.จำนวนมาก ได้งานไปหลายพันล้านบาท บริษัทที่ทำระบบสายพานลำเลี่ยงได้มีกี่เจ้ากัน และก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอีกค่าย ที่ไม่ใช่ CTX ก็เป็นพรรคพวกเดียวกันหมด ถามว่า ถ้าคนอื่นที่ไม่ใช่พรรคพวกหรืออยู่ในกลุ่มเขาไปขอใบอนุญาตเป็นตัวแทน เขาจะให้ เขาจะช่วยเหลือกลุ่มไหนกันก่อน ซึ่งการที่มากำหนดคุณสมบัติงานแบบผูกตัดไม่แยกกัน แบบนี้ มันถูกต้องแล้วหรือ และการที่นำงานสองส่วนมาผูกร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณที่มาจากเงินภาษีประชาชนมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก ประชาชนคนไทย มีแต่เสียหาย"
ขณะที่ นายนิตินัย ชี้แจงตอบโต้ว่า เมื่อพิจารณาจากความต้องการของ ทสภ. ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ที่ปรึกษาฯ จึงสรุปได้ว่าเครื่อง EDS ความเร็วสูง 0.5 เมตรต่อวินาที มีความเหมาะสมกับโครงการนี้ เนื่องจากมีความสามารถได้มาตรฐานความปลอดภัยที่สอดคล้องกับความต้องการของ ทสภ. และช่วยเพิ่มระดับการให้บริการ (Level of Services) ของ ทสภ. ที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต ทั้งนี้ สเปคการปรับปรุงใหม่ ทอท.ได้คำนึงถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ต้องมีความทันสมัยกว่าเดิมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องความเร็วเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำเข้ามาต้องรองรับได้ในระยะยาว ถึง 13-15 ปีข้างหน้า หรือ ถึงปี 2578 นอกจากนั้น ในเชิงคุณภาพสเปคของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดระบบใหม่นี้ ต้องมีมาตรฐานระดับโลก ควรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Transportation Security Administration (TSA) และการอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่าของประเทศในกลุ่มยุโรป เนื่องจากทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปต่างยอมรับสนามบินที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกันในการบินเข้าประเทศ
และจากรายงานผลการออกแบบ (Final Report) ตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่นความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีที่ได้รับการรับรองจาก TSA แล้ว 2 รายคือ เครื่อง MV3D ของบริษัท L3 Communications และ เครื่อง Hi-Scan10080XCT ของบริษัท Smith Detection และอยู่ในระหว่างขออนุญาต 2 ราย คือ เครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection และเครื่อง X1000 ของบริษัท SureScan ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าเครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection เดิมนั้นปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Smith Detection แล้วจากการเข้าซื้อกิจการ ดังนั้น ข้อกำหนดรายละเอียดของการประกวดราคานี้จึงมิได้เป็นการปิดกั้น หรือกำหนดตัวเอกชนในการจัดหาไว้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้ถอดข้อมูลคุณสมบัติของผู้ผลิตเครื่องตรวจวัตถุระเบิดทั้ง 4 ราย ตามที่นายนิตินัย ชี้แจงพบว่า หากรูปการเป็นไปในปัจจุบัน ท้ายที่สุดแล้วจะเหลือแค่เพียง เครื่อง MV3D ของบริษัท L3 Communications ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาได้
เนื่องจาก เครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection เดิมนั้น ปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Smith Detection แล้วจากการเข้าซื้อกิจการ และคงไม่เข้าร่วมการประมูล เพราะสู้ไม่ได้ ส่วนเครื่อง X1000 ของ บริษัท SureScan ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาต ดังนั้น เครื่องยี่ห้อ MV3D ของ บริษัท L3 Communications จึงน่าจะเป็นยี่ห้อที่มีความพร้อมมากที่สุด (อ่านประกอบ : ไขข้อมูล 'นิตินัยVS.เสี่ยเช' ใครจริง-ลวง?ข้อกล่าวหาล็อกสเปคซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.)
ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญของนายวรพจน์ และเครื่องCTX เป็นที่รับรู้กันในวงการอยู่แล้วว่า คือ เครื่อง แอล 3
สอง ในการเปิดเผยข้อมูลของนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กับสำนักข่าวอิศรา ล่าสุด มีการระบุข้อมูลว่า ในปี 2555 ทอท. เคยจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดพร้อมระบบสายพานลำเลี่ยงไปแล้ว จำนวน 4 เครื่อง เพื่อนำมาใช้งาน Transfer Bag (ผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง) รวมวงเงิน 1,872 ล้านบาท
ข้อมูลส่วนนี้ สำคัญอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2555 คณะกรรมการ ทอท. ได้อนุมัติให้ว่าจ้างนิติบุคคลร่วมการงาน ประกอบด้วย บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทเรืองณรงค์ จำกัด เข้าก่อสร้างอาคาร ปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 งาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,872,500,000 บาท (ตรงตามข้อมูลที่นายวรพจน์ระบุ)
จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า การประมูลงานโครงการนี้ มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานออกเป็นส่วนๆ ค่อนข้างชัดเจน คือ
บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทเรืองณรงค์ จำกัด รับผิดชอบงานในส่วนของการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค
บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด รับผิดชอบงานในส่วนของสายพานลำเลียง
บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับผิดชอบงานในส่วนของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและระบบไฟฟ้าต่างๆ
อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ยี่ห้อ L3
ข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทอท. เคยมีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ยี่ห้อ L3 ในสุวรรณภูมิมาแล้วเช่นกัน ไม่ใช่แค่เครื่อง CTX อย่างเดียว
ส่วนผลการใช้งานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลจากทอท.
แต่จากการตรวจสอบสัญญาลงนามว่าจ้างระหว่าง ทอท. กับ นิติบุคคลร่วมการเงิน ประกอบด้วยบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัทเรืองณรงค์ จำกัด
พบว่า บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปรากฎชื่อตัวแทนลงนามในสัญญากับทอท.เป็นบุคคลเดียวกัน คือ นายฐิติพงษ์ บุตรอ่ำ
ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง อย่างชัดเจน
ขณะที่ บริษัทแดนไทยฯ ทำธุรกิจสายพานลำเลียง
ขณะที่ บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำธุรกิจ เป็นตัวแทนขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ยี่ห้อ L3
ขณะที่เครื่องแอล 3 ถือเป็นเครื่องที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประกวดราคาโครงการใหม่ วงเงิน 2,880 ล้านบาท ได้มากที่สุดในห้วงเวลานี้
ส่วนในการประมูลครั้งใหม่ วงเงิน 2,880 ล้านบาท ที่กำลังมีการร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสของทีโออาร์อยู่ในขณะนี้ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะเข้าร่วมการประมูลด้วยหรือไม่นั้น
ยังไม่เคยมีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการจากบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งเช่นกัน
แต่ข้อมูลที่ปรากฎชัดเจนไปแล้ว คือ ความเชื่อมโยงระหว่าง บริษัท เคพีไอ 1389 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับบริษัทเอกชนอีกรายที่ปรากฎชื่อผูกขาดให้เช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน รวมวงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 1,347,172,800 บาท ที่สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอไปแล้ว
นับเป็นข้อสังเกตสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
ข้อมูล -เหตุผลประกอบเป็นเช่นไร ขออธิบายแบบชัดเจนเป็นรูปธรรมในตอนต่อไป