- Home
- Investigative
- การทำผิดของเอกชน
- ผ่าขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญหมื่นล.'ฝูอัน & โอเอ'-บริษัทไหนจะถูกเช็คบิลรายต่อไป?
ผ่าขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญหมื่นล.'ฝูอัน & โอเอ'-บริษัทไหนจะถูกเช็คบิลรายต่อไป?
เปิดชัดๆ ขบวนการเครือข่ายธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญหมื่นล.'ฝูอัน & โอเอ' ก่อนโดน ปปง.อายัดทรัพย์ 1.3 หมื่นล้าน เริ่มต้นสวมบัตรปชช.คนตายเปิดบริษัททำธุรกิจ สู่ข้อตกลงนำนักท่องเที่ยวขุดรีดซื้อสินค้า จ่ายค่าตอบแทนเดือนละล้าน -บริษัทไหนจะเป็นรายต่อไป?
ในคำสั่งอายัดทรัพย์กลุ่มเครือข่ายธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญ บริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัด เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 พร้อมบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ รวมจำนวน 2,247 รายการ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น กว่า 13,200 ล้านบาท ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : จ่ายเช็ค1ล./เดือน พาคนจีนซื้อของ! โชว์คำสั่ง ปปง. อายัดทัวร์ศูนย์เหรียญ1.3หมื่นล.)
หากพิจารณาจากพฤติการณ์การกระทำความผิดของเอกชนที่ระบุในเนื้อหาคำสั่งอายัดทรัพย์ฉบับนี้ รวมถึงข้อมูลการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบการตรวจสอบคดีทัวร์ศูนย์เหรียญที่ปรากฎเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ นับจนถึงขณะนี้ น่าจะทำให้พอสรุปข้อมูลภาพรวมขบวนการธุรกิจเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญกลุ่มนี้ ได้ดังแผนภูมิ และคำอธิบายประกอบดังต่อไปนี้
หนึ่ง มีชาวจีนหลายรายเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจัดตั้งบริษัททัวร์ เปิดให้บริการนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดยในส่วนของบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด ปรากฎข้อมูลว่า มีชาวจีนรายหนึ่ง เข้ามาสวมบัตรประชาชนในชื่อของนายสมเกียรติ คงเจริญ ที่เสียชีวิตไปแล้ว และใช้ชื่อนายสมเกียรติ เข้ามาเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ในบริษัท ฝูอัน จำกัด ซึ่งมี นางธวัล แจ่มโชคชัย คนไทย ร่วมเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด ด้วย
โดย นางธวัล แจ่มโชคชัย ถูกระบุว่าเป็นผู้มีส่วนช่วยเหลือและให้การสนับสนุนกับกลุ่มบุคคลต่างชาติที่สวมบัตรประชาชนคนไทยหลายราย (ปัจจุบันนางธวัล ถูกศาลอนุมัติออกหมายจับ ให้ควบคุมตัว เช่นเดียวกับ นายสมเกียรติ คงเจริญ)
(อ่านประกอบ : เปิดหลักฐานบัตรปชช.มัด'สมเกียรติ' ผจก.ทัวร์ศูนย์เหรียญ สวมชื่อคนตาย-โอนหุ้นเกลี้ยง, ไขปริศนา'สมเกียรติ' ตัวจริงอยู่ อ.แม่สาย ก่อนถูกทัวร์ศูนย์เหรียญสวมบัตรปชช. , สืบจากที่อยู่บัตรปชช.‘สมเกียรติ-ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ไปรษณีย์ยันบ้านถูกรื้อทิ้งนานแล้ว)
สอง ในการทำธุรกิจทัวร์ ของ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด มีการตกลงทำธุรกิจร่วมกับ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด
โดย บริษัท ฝูอัน จำกัด จะใช้บริการรถทัวร์ ของบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด นำนักท่องเที่ยว ไปเที่ยวและซื้อของตามสถานที่ต่างๆ
สาม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า ในข้อตกลงการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด มีการกำหนดว่า บริษัท ฝูอัน ทราเวล จะต้องพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าตามร้านหรือสถานที่ตามที่บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด กำหนดไว้ 4 ที่ คือ
1.บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
2.บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด
3.บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด
4.บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด
โดยทั้ง 4 บริษัท มีผู้ถือหุ้นชุดเดียวกันทั้งหมด เป็นเครือญาติกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา พบข้อมูลดังต่อไปนี้
- บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 23 มีนาคม 2536 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 880/1 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
ปรากฎชื่อ นาย วสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และนาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่ามีรายได้รวม 88,636,843.68 บาท รวมรายจ่าย 83,801,397.69 บาท กำไรสุทธิ 3,701,939.13 บาท
- บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 16 มิถุนายน 2546 ทุน 150 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 681/8 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายอาหารเสริมบำรุงร่างกาย ของชำร่วย ของฝาก ของที่ระลึก ทุกชนิด
ปรากฎชื่อ นาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และนาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่ามีรายได้รวม 1,113,177,151.25 บาท รวมรายจ่าย 1,040,529,903.23 บาท กำไรสุทธิ 47,084,396.91 บาท
- บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 11 มีนาคม 2556 ทุน 60 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 165/3 ถนนหลวงแพ่ง แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจประเภทภัตตาคาร
ปรากฎชื่อ นาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และนาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 154,565,055.43 บาท รวมรายจ่าย 142,426,476.10 บาท กำไรสุทธิ 9,040,002.11 บาท
- บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 5 สิงหาคม 2534 ทุนจุดทะเบียน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 165/1-2 ถนนหลวงแพ่ง แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งเครื่องหนังและเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง
ปรากฎชื่อ นาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และนาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่ามีรายได้รวม 1,109,031,603.10 บาท รวมรายจ่าย 1,010,483,387.07 บาท กำไรสุทธิ 71,629,840.21 บาท
- บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2536 ตั้งอยู่เลขที่ 880/8 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายอัญมณี เพชร เงิน ทอง เครื่องหนัง ของที่ระลึก ค่านายหน้า ดอกเบี้ยรับ
ปรากฎชื่อ นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2558 นาย ธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และ นาง นิสา โรจน์รุ่งรังสี ถือหุ้นใหญ่ 6 แสนหุ้น (20%) หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อ นาย ชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี นาย วสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี นางสาว สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี นาย โอฬาร โรจน์รุ่งรังสี คนละ 4.5 แสนหุ้น
ล่าสุดนำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 4,120,477,103.88 บาท รวมรายจ่าย 3,803,908,952.80 บาท กำไรสุทธิ 214,325,852.30 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า เอกชนกลุ่มนี้ มีบริษัทในเครืออีกจำนวน กว่า 20 แห่ง
บริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ บริษัท ตลาดน้ำคุ้มเกล้า จำกัด (ทุน 2 ล้าน) , บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด (ทุน 100 ล้าน), บริษัท รอยัล โกลเด้น ดรากอน จำกัด(ทุน 30 ล้าน) , บริษัท รอยัล จอมเทียน บีช จำกัด (ทุน 10 ล้าน), บริษัท รอยัล ดรากอน อิมพอร์ท แอนด์ เอ็กซ์พอร์ท จำกัด (ทุน 250 ล้าน) , บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด (ทุน 150 ล้าน) , บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ เชียงใหม่ จำกัด (ทุน 1 ล้าน) , บริษัท รอยัล พาร์ค พัทยา จำกัด (ทุน 50 ล้าน) , บริษัท รอยัล พารากอน เชียงใหม่ จำกัด (ทุน 1 ล้าน), บริษัท รอยัล พารากอน รีสอร์ท จำกัด (ทุน 50 ล้าน) , บริษัท รอยัล พารากอน วอทช์ จำกัด (ทุน 75 ล้าน) , บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด (ทุน 60 ล้าน), บริษัท รอยัล ริเวอร์ พาราไดซ์ จำกัด(ทุน 100 ล้าน) , บริษัท โอ.เอ.เอ็กซ์เพรส จำกัด (ทุน 5 ล้าน)
ส่วนบริษัทที่เลิกกิจการไปแล้ว ได้แก่ บริษัท โกลเด้น ทรานสปอร์ต แอนด์ ทัวร์ จำกัด (ทุน 1 ล้าน), บริษัท อานา เอ็กซ์เพรส จำกัด, บริษัท เอเซียวิชั่น ดิวตี้ฟรี ช้อป จำกัด (ไม่เสร็จการชำระบัญชี), บริษัท เอี๋ยวเซอร์วิส จำกัด , บริษัท โอฬาร แลนด์ ดิเวล็อพเม้นท์ จำกัด
เบื้องต้น ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี (ประธานกรรมการบริษัทในเครือ โอเอ กรุ๊ป) และนายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี (กรรมการบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด) ในข้อหาร่วมกันกระทำเป็นสมาชิกอั้งยี่ และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยว ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1613-14/2559 ลงวันที่ 23 ส.ค.2559 ไว้แล้ว
(อ่านประกอบ : 6.5 พันล!เจาะรายได้ รอยัลเจมส์ฯ-4 บ.เครือข่าย โดนคดีทัวร์ศูนย์เหรียญใหญ่สุดในไทย, โดนเพิกถอนบริษัทฯแล้ว!แกะรอย2 ทัวร์จีนโยง 'รอยัลเจมส์ฯ'-สวมบัตรคนตายทำธุรกิจ)
สี่ และ ห้า ภายใต้เงื่อนข้อตกลงร่วมทำธุรกิจดังกล่าว บริษัท ฝูอัน จำกัด ไม่ต้องชำระค่าเช่ารถทัวร์ให้กับ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด
แต่ในทางตรงกันข้าม หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้ซื้อสินค้าในสถานที่ดังกล่าวแล้ว ทางบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ บริษัท สยามเจมส์ จำกัด จะจ่ายเงินค่าตอบแทนจากยอดซื้อสินค้าจำนวนประมาณ 20-30 % ให้กับ บริษัท ฝูอัน จำกัด
เบื้องต้น มีการตรวจสอบพบว่า บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จะจ่ายค่าตอบแทนเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายในชื่อ 'นางธวัล แจ่มโชคชัย' กก. บริษัท ฝูอันฯ ประมาณ 1 ล้านบาท/เดือน
ส่วนประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น และทำให้ข้อตกลงธุรกิจนี้ มีปัญหาคือ มัคคุเทศก์ใช้วิธีบังคับ ล่อลวง ขู่เข็ญนักท่องเที่ยว ให้ซื้อสินค้าในราคาสูงเกินจริง ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเงื่อนไขเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละเดือนจะขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่นักท่องเที่ยวชาวจีน ได้ซื้อสินค้ากับบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ บริษัม สยามเจมส์ จำกัด และหากไม่เป็นไปตามข้อตกลง บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด จะต้องถูกปรับค่าเสียหาย
หก อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งอายัด ปปง.ครั้งที่สาม ดังกล่าว มีการระบุข้อมูลสำคัญว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ได้ทำข้อตกลงในลักษณะเดียวกับบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด กับ บริษัททัวร์รายอื่นที่สามารถนำนักท่องเที่ยวชาวจีนมาซื้อสินค้า ที่บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต์ จำกัด ได้ โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากยอดซื้อสินค้าเช่นกันกับ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด
ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เครือข่ายธุรกิทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่ได้มีแค่ บริษัท ฝูอันฯ เท่านั้น แต่ยังมีบริษัทอื่นที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวออกมาอีก
ขณะที่ แหล่งข่าวในวงการเที่ยวท่อง เคยยืนยันต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การตรวจสอบข้อมูลกลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญของหน่วยงานรัฐในขณะนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยให้กลับคืนมา แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประเด็นที่หน่วยงานรัฐควรขยายผลการตรวจสอบต่อไป คือ 1. ขบวนการสวมบัตรประชาชนของชาวจีน เข้ามาทำธุรกิจในไทย มีใครอยู่เบื้องหลัง หรือได้รับประโยชน์บ้าง และนอกจากธุรกิจนี้ และมีธุรกิจอื่นอีกหรือไม่ 2. กลุ่มธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ และบางกลุ่มก็มีนักการเมือง คนมีสีหนุนหลังอยู่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง
"ตอนนี้เป็นโอกาสดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสังคมไทย จะต้องเข้ามาร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ละเว้นตรวจสอบใครหรือไม่ตรวจสอบใคร เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง" แหล่งข่าวระบุ
ส่วนนับจากนี้ จะมีบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญรายอื่น ถูกตรวจสอบและโดนเช็คบิล เหมือนในรายของบริษัท ฝูอันฯ และบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต์ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป
"แบบห้ามกระพริบตา โดยเด็ดขาด"
อ่านประกอบ :