- Home
- Investigative
- บัญชีทรัพย์สิน
- กรณีศึกษา! คำวินิจฉัยศาล รธน.คดี ‘เมียดอน’โอนหุ้นในกำหนดแต่ฝ่ายทะเบียนแจ้งช้า?
กรณีศึกษา! คำวินิจฉัยศาล รธน.คดี ‘เมียดอน’โอนหุ้นในกำหนดแต่ฝ่ายทะเบียนแจ้งช้า?
กรณีศึกษา! พลิกคำวินิจฉัยศาล รธน. คดี ‘เมียดอน’ ถือหุ้นเกิน 5% ทำหนังสือโอนหุ้นภายในกำหนด 30 วันหลัง รธน. ใช้บังคับ แต่ฝ่ายทะเบียนบริษัทดำเนินการล่าช้าเอง ก้าวล่วงไม่ได้ ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ตีความ มติเสียงข้างมากวินิจฉัยทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ข้อถกเถียงกรณีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้คงต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการกฎหมาย
อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประเด็นการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือครองหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 187 รวมถึง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ที่กำหนดห้ามรัฐมนตรี และคู่สมรส ถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัทเอกชน และไม่แจ้งต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าประสงค์จะรับประโยชน์ในการถือหุ้น 2 บริษัทนี้
ประเด็นนี้นายดอนชี้แจง และให้พยานเอกสารเป็นหลักฐานว่า นางนรีรัตน์ โอนหุ้นทั้ง 2 บริษัทตามกำหนดเวลา 30 วันภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 แล้ว แต่เป็นเรื่องทางทะเบียนที่ฝ่ายนายทะเบียนบริษัทไปแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าล่าช้าเอง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว มานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
นายดอน และนางนรีรัตน์ ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 (ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560) นางนรีรัตน์ ได้มีหนังสือแจ้งการโอนหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรของนายดอนแล้ว โดยนางนรีรัตน์ เหลือถือหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าวจำนวน 4% ดังนั้นการที่นางนรีรัตน์ แสดงความประสงค์โอนหุ้นให้แก่บุตรตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2560 จึงชอบแล้ว
เพียงแต่ขั้นตอนการโอนหุ้นเป็นเรื่องของบริษัทที่จะต้องดำเนินการภายหลัง โดยระยะเวลาในการดำเนินการ ผู้ถือหุ้นไม่อาจก้าวล่วงได้ การถือหุ้นของนางนรีรัตน์จึงไม่เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และจึงไม่เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ดังนั้นเมื่อโอนหุ้นไปแล้ว นายดอน และนางนรีรัตน์ มิได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับประโยชน์ และไม่มีความประสงค์ที่จะได้รับประโชน์จากหุ้นดังกล่าว
นอกจากนี้ฝ่ายนายดอน ยังงัดเอกสารโชว์หนังสือแจ้งความประสงค์โอนหุ้น ฉบับลงวันที่ 10 เม.ย. 2560 หนังสือสัญญาโอนหุ้น ฉบับลงวันที่ 27 เม.ย. 2560 และฉบับลงวันที่ 30 เม.ย. 2560 สำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทดังกล่าว ลงวันที่ 27 เม.ย. 2560 และวันที่ 30 เม.ย. 2560 ประกอบการพิจารณาคดีด้วย
ด้านฝ่าย กกต. ผู้ร้อง ระบุว่า แม้นางนรีรัตน์ชี้แจงว่า โอนหุ้นดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2560 แล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่านายดอน มิได้ทำหนังสือแจ้งประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้แต่งตั้ง และมิได้กำหนดให้รัฐมนตรีสามารถโอนหุ้นให้กับผู้ใดได้ เมื่อนายดอนได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศ เมื่อปี 2558 หากประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่ต้องแจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อให้สภาพบังคับตามรัฐธรรมนูญมีผลโดยสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นจำนวนมากของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท ป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการบริหารราชการแผ่นดิน
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นการโอนหุ้นดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่ว่า หุ้นใน 2 บริษัทดังกล่าว เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้ โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” และวรรคสอง บัญญัติว่า “การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้น ต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย” จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบของการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อไว้ โดยจะต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับ และมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงลายมือชื่อเพื่อรับรองลายมือชื่อ
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ได้ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้น 2 บริษัทดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 27 เม.ย. 2560 และฉบับลงวันที่ 30 เม.ย. 2560 ตามลำดับ ซึ่ง 2 บริษัทจัดให้มีการประชุมในวันดังกล่าว พิจารณาอนุมัติการโอนหุ้น การโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ในแต่ละบริษัท เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 รับฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทำให้นางนรีรัตน์ถือหุ้นคงเหลือในบริษัทไม่เกิน 5% ของหุ้นทั้งหมด ตามที่ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 กำหนด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงเป็นกรณีนางนรีรัตน์ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 187 ถูกต้องแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นางนรีรัตน์ โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
'ดอน' รอด! ศาลรธน.วินิจฉัยไม่สิ้นสุดความเป็น รมต.-ภรรยาโอนหุ้นถูกต้องตาม กม.
ยันฝ่ายบัญชีทำล่าช้า! 2เอกชนเบิกความศาล รธน. ปม‘เมียดอน’ถือหุ้นเกิน5%
ศาล รธน.ยัน‘ดอน’ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ปมหุ้นเกิน5% ชี้ไม่ส่งผลการบริหารแผ่นดิน
กางกฎหมาย-ขมวด 2 ปมสำคัญคดี ‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% ก่อนศาล รธน. รับวินิจฉัย
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี